ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19) ในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแพร่ระบาดในสถานประกอบกิจการ จึงได้มีการจัดทำคู่มือมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ Bubble and Seal ซึ่งดำเนินการภายใต้หลักการ จัดกลุ่ม คุมไว ลดการแพร่กระจาย รายได้ไม่สูญเสีย ให้เป็นแนวทางปฏิบัติในการเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19) สำหรับสถานประกอบกิจการ เพื่อสามารถป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ COVID–19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งมอบหมายกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานและจัดประชุมชี้แจง สื่อสาร สร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับมาตรการ Bubble and Seal

วานนี้ (9 สิงหาคม 2564) ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานประชุมหน่วยงานในสังกัดกรมควบคุมโรค ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ ได้แก่ สำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ที่ 1-12 และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) เพื่อชี้แจง สื่อสาร สร้างความเข้าใจมาตรการและกลไกการดำเนินงาน ตามมาตรการป้องกันควบคุมในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) โดยดำเนินการในลักษณะของพี่เลี้ยง ให้คำปรึกษาและกำกับติดตาม (Coaching System) แก่จังหวัดในพื้นที่เขตรับผิดชอบ เพื่อทำหน้าที่ให้การสนับสนุนแนวทางมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ พร้อมทั้งหารือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมาตรการในสถานประกอบกิจการ

นายแพทย์อภิชาต กล่าวว่า มาตรการป้องกันควบคุมในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) ในสถานประกอบกิจการ สามารถดำเนินการได้ตั้งแต่สถานประกอบกิจการที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพื่อเป็นการป้องกัน ไปจนถึงโรงงานที่มีการติดเชื้อแล้ว เพื่อเป็นการควบคุมการแพร่ระบาดจากภายในสู่ภายนอกและจากชุมชนสู่สถานประกอบกิจการ โดยผ่านกลไกระบบพี่เลี้ยงจาก สคร. และ สปคม. สู่หน่วยงานระดับจังหวัด ตามแนวคิดของปลัดกระทรวงสาธารณสุข (นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต) มาตรการนี้เหมาะสำหรับกลุ่มคนที่แข็งแรง สามารถอยู่เป็นกลุ่มในพื้นที่จำกัด ใช้หลักการสำคัญคือนำผู้ติดเชื้อไปรักษายังโรงพยาบาลสนาม และเฝ้าระวังคนที่มีอาการ ส่วนพนักงานที่ไม่ติดเชื้อก็ยังสามารถทำงานต่อไป ส่งผลดีเอื้อประโยชน์ให้ทุกฝ่าย คือ สถานประกอบกิจการดำเนินการได้ แรงงานได้เงิน ได้ค่าจ้าง ไม่หนีไปแพร่โรค เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ 

ด้านแพทย์หญิงหรรษา รักษาคม ผู้อำนวยการกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังของกองโรคจากการประกอบอาชีพฯ ข้อมูลล่าสุด วันที่ 1 พ.ค.–8 ส.ค. 64 พบมีผู้ติดเชื้อ
ไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19) ในสถานประกอบการ 5 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 25.82 รองลงมา คือ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 15.24  กลุ่มก่อสร้าง ร้อยละ 14.08 กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ร้อยละ 8.26 และกลุ่มการขายส่ง/ขายปลีก ร้อยละ 6.61 จึงต้องเร่งดำเนินการป้องกันและควบคุม ทั้งสถานประกอบกิจการที่ยังไม่พบ     ผู้ติดเชื้อและพบผู้ติดเชื้อยืนยันแล้ว โดยกรมควบคุมโรคได้จัดทำแนวทางมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ เพื่อป้องกันโรค ภายใต้หลักการคือ “จัดกลุ่ม คุมไว ลดการแพร่กระจาย รายได้ไม่สูญเสีย” โดยการคัดแยกพนักงานออกเป็นกลุ่ม ให้ทำงานและทำกิจกรรมร่วมกันภายใต้เงื่อนไขตามระยะเวลาที่กำหนด และเพื่อการควบคุมโรคใช้เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ลดการเสียชีวิต พร้อมทั้งทำการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม การแพร่ระบาดและลดการแพร่กระจายของโรคโควิด 19 ในสถานประกอบกิจการ ไม่ให้แพร่กระจายไปในวงกว้าง โดยเฉพาะการแพร่ระบาดไปยังชุมชน

ทั้งนี้ มาตรการป้องกันควบคุมในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) ยังต้องดำเนินการควบคู่กับมาตรการส่วนบุคคล D- M- H- T- T- A ประกอบด้วย การเว้นระยะห่างทางบุคคล การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย การตรวจสอบการติดเชื้อด้วยชุดทดสอบรู้ผลเร็ว การใช้แอปพลิเคชันเกี่ยวกับโควิด 19 เช่น หมอพร้อม และมาตรการทางสังคมระหว่างโรงงานและชุมชน ทั้งหมดนี้ จะทำให้สถานประกอบกิจการดำเนินการต่อได้ โรงงานปลอดภัย ไม่แพร่เชื้อไปสู่ชุมชน ลดการเสียชีวิต ไม่กระทบเศรษฐกิจของประเทศ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422