ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วันที่ 13 สิงหาคม 2564 ศ.ดร.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ อยากชักชวนให้พวกเราช่วยกันลุ้นการควบคุมโควิดเป็นรายจังหวัดของประเทศไทยโดยดูจากไลน์ “หมอพร้อม” ของกระทรวงสาธารณสุข ดูแล้วจะช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์การฉีดวัคซีนของประเทศไทยและสถานการณ์การเกิดโรคโควิดไปพร้อม ๆ กันด้วย

ผมจำไม่ได้ว่าแอดไลน์หมอพร้อมไว้ตั้งแต่เมื่อไหร่ น่าจะเป็นช่วงที่จองการฉีดวัคซีนหรือหลังจากรับวัคซีนแล้วอะไรซักอย่าง เอาเป็นว่าพวกเราที่อ่านบทความนี้น่าจะเหมือนผม คือ เล่นไลน์ และมี หมอพร้อมอยู่ในรายชื่อของเพื่อน แล้วก็คงอยู่ในแช็ทด้วย วันดีคืนดีหมอพร้อมก็ส่งคำแนะนำต่าง ๆ เข้ามาในไลน์ เข้าไลน์แล้วต่อเข้าไปหมอพร้อมเลยครับ ครึ่งล่างของจอจะเป็นเมนูซึ่งก็คือแผงหรือกล่อง (box) ต่าง ๆ ที่เราจะเลือกจิ้ม ถ้าต้องการทราบสถิติก็เลือกตรงกล่องซ้ายบนของเมนูที่เขียนว่า “รายงานฉีดวัคซีน”

เราก็จะเข้าไปเห็นสถิติรวมทั่วประเทศว่าวันนี้ฉีดได้กี่คน ฉีดสะสมไปแล้วกี่โดส เฉพาะวันนี้ 13 สิงหาคม 2564 ฉีดไปได้ห้าแสนกว่าโดส ส่วนใหญ่เป็นเข็มที่หนึ่งครับ คนที่ฉีดครบสองเข็มไปแล้วซึ่งถือว่ามีภูมิคุ้มกันทำให้ไม่ตายจากโควิดง่าย ๆ ตอนนี้มีเพียง 5 ล้านคนเศษ ๆ ซึ่งไม่ถึงสิบเปอร์เซ็นต์ของประชากร ข้างล่างของหน้านี้ก็จะเป็นสถิติการฉีดสะสมไปแล้วในกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ทั้งด้านอายุและเพศ และยี่ห้อวัคซีน ซึ่งวันนี้ Sinovac ยังนำอยู่ ตามด้วย Asta Zeneca และอื่น ๆ

กล่องขวาล่างมีลูกศรสั้นชี้ไปทางขวา ข้างล่างมีคำว่า “คลิก”ดูข้อมูลรายจังหวัด ก็จิ้มลงไปที่กล่องนี้เลย หน้าถัดไปที่เห็นจะเป็นแผนที่ประเทศไทยขวานทองที่เราคุ้นเคย เหนือแผนที่ขึ้นไปเป็นแผงมีกล่องให้เลือกอยู่ 3 กล่อง  กล่องแรกคือ แผนที่รายจังหวัด ซึ่งก็คือหน้าปัจจุบัน กล่องถัดไปตรงกลาง คือ Heat Map รายจังหวัด และกล่องขวาสุดเป็น ความสัมพันธ์กับจำนวนผู้ติดเชื้อ ตอนนี้เราดูหน้าแผนที่ก่อน เดี๋ยวค่อยไปดูหน้าถัดไป อยากให้ทำความคุ้นเคยกับกล่องตัวเลือกด้านขวามือ มีอยู่ 4 ตัวเลือก เช่น เลือกภูมิภาค เขตสุขภาพ จังหวัด และ ช่วงเวลา

ถ้าเรากดเลือกภาคกลาง ก็จะได้แผนที่เฉพาะภาคกลาง วันนี้ฉีดวัคซีนไปเกือบแปดหมื่นคน เปอร์เซ็นต์ฉีดสะสมอยู่ที่ 13.47% ซึ่งก็เป็นรองเฉพาะ กทม.และปริมณฑลเท่านั้น (ลองกดเลือก กทม.ดู ตอนนี้ได้ 55% แล้ว) แต่ เอ... เป็นเข็มหนึ่งหรือเข็มสองล่ะครับ ลองกดเลือกเข็มสองดู กทม.ฉีดสะสมครบสองเข็มได้ราว 13% ซึ่งก็ต้องให้กำลังใจพยายามต่อไป

กดตัวเลือก กทมและปริมณฑลซ้ำอีกทีเพื่อกลับสู่ระดับประเทศ แล้วกดเลือกจังหวัด ผมลองดูภูเก็ตก็แล้วกัน วันนี้ภูเก็ตก็ยังฉีดวัคซีนอยู่ครับ แต่ฉีดน้อยสักหน่อยคือราว 300 คน ฉีดสะสมเข็มสองไปแล้ว 61% ซึ่งน่าจะสูงที่สุดในประเทศไทย แต่ก็ยังไม่ได้ถึงเป้า 70% ที่ทางรัฐบาลและจังหวัดตั้งไว้ (ในทางทฤษฏี 70% ก็ไม่เพียงพอครับ เพราะเชื้อเดลต้าแพร่ได้เก่งมาก ต้องได้ 90% ขึ้นไป เราเคยคุยเรื่องนี้มาแล้ว) สังเกตกลุ่มอายุดูนะครับ ที่ภูเก็ตเค้าน่าจะเน้นกันที่วัยทำงาน เพราะคนที่อายุ 61 ปีขึ้นไปได้ฉีดวัคซีนนิดเดียว ต่างกับการฉีดในระดับประเทศที่เน้นผู้สูงอายุ ซึ่งเรากดเลือกจังหวัดแล้วกดภูเก็ตซ้ำให้กลับสู่ระดับประเทศ จะเห็นว่าคนอายุเกิน 60 ปีมีโอกาสมากขึ้นกว่าที่ภูเก็ต ส่วนนึงคงจะเป็นเพราะว่าภูเก็ตเป็นจังหวัดที่เริ่มฉีดใช้ Sinovac เกือบทั้งหมด และสมัยนั้นยังไม่ให้ฉีดคนสูงอายุ ผมก็ขออนุญาตแนะนำให้ภูเก็ตฉีดผู้สูงอายุเพิ่มเติมหน่อยนะครับ

เอาละ เรากดปุ่มเลือก Heat Map รายจังหวัดซึ่งผมเคยแนะนำไปในบทความที่แล้ว ก็จะเห็นว่าจังหวัดต่าง ๆ เป็นสีน้ำตาล ยกเว้นภูเก็ตเป็นสีเขียว ดูแล้วรู้สึกหดหู่นิดหน่อย ผ่านมาสองสัปดาห์จากการเขียนบทความแนะนำ heat map สถานการณ์การฉีดวัคซีนสองเข็มไม่ได้ดีขึ้นเลย เพื่อให้มีกำลังขึ้นอีกหน่อย เราขึ้นไปเลือก “เข็มหนึ่ง” ก็แล้วกัน

สำหรับเข็มหนึ่ง กทม เป็นสีเขียว ปริมณฑลและจังหวัดภาคตะวันออกเป็นสีน้ำตาลอ่อน บุรีรัมย์และภาคใต้บางจังหวัดเป็นสีน้ำตาลอ่อนกับเขาเหมือนกัน พังงากับระนองเป็นสีเหลือง ทั้งหมดสีสรรก็สวยดีกว่าสถิติสองเข็ม แต่อย่าลืมว่าเข็มเดียวป้องกันได้น้อย ทั้งป่วยและตายนะครับ

เอาละเข้าเรื่องไฮไลท์กันสักที กดกล่อง ความสัมพันธ์กับจำนวนผู้ติดเชื้อไปดูลูกโป่งโควิดกันเลย มาถึงหน้านี้แล้ว พยายามให้เห็นลูกโป่งเคลื่อนไหวนะครับ ไม่งั้นจะเข้าไม่ถึงข้อมูล ผมจะพาชมลูกโป่งหลาย ๆ ลูกพร้อม ๆ กัน หลังจากนั้นท่านเลือกชมลูกโป่งของท่านได้เลย ช่องให้เลือกข้างบนก็เหมือนหน้าที่ผ่านมา คือ เลือกภูมิภาค เขตสุขภาพ จังหวัดและเข็มที่ฉีด (ค่าเริ่มต้นที่ตั้งไว้คือ เข็มสอง ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาแล้ว)

ค่อย ๆ อ่านดูให้ดี เขาเขียนว่าอะไรบ้างเกี่ยวกับแกน X และ แกน Y  แกน Y เป็นอัตราการติดเชื้อเฉลี่ย(เรขาคณิต) 7 วันย้อนหลัง ต่อประชากรแสนคน คำว่าค่าเฉลี่ยทางเรขาคณิต คือ เอา จำนวนผู้ป่วย 7 วันสุดท้าย (แต่ละวันบวกด้วย 1) มาคูณกัน แล้วถอดรากที่ 7

ทำไมจึงใช้ค่าเฉลี่ยเรขาคณิตไม่ใช้ค่าเฉลี่ยเลขคณิต เหตุผลก็คือ ไม่ว่าอะไรก็ตามที่มีการเติบโตหรือเสื่อมสลาย การเปลี่ยนแปลงจะเป็นการคูณหาร เช่น การเปลี่ยนแปลงของค่า GDP เขาไม่บอกว่าปีนี้เราเติบโตหรือหดตัวกี่แสนล้าน เขาจะบอกว่าเราโตขึ้นหรือหดตัวลงกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเปอร์เซ็นต์เป็นการคูณหารครับ

แล้วทำไมต้องบวกด้วย 1 ทุกวัน ก็เพราะว่าถ้าวันไหนมีมีผู้ป่วยใหม่เลยเพิ่มศูนย์คน เอาไปหาค่าเฉลี่ยเรขาคณิตในขั้นแรกคูณกับวันอื่น ๆ ผลคูณก็จะเป็นศูนย์หมด เราบวก 1 เข้าไปถือว่าเปลี่ยนแปลงค่าเฉลี่ยเรขาคณิตน้อยมาก แล้วทำไมไม่เอายอดแต่ละสัปดาห์ แทนที่จะเป็นค่าเฉลี่ยเรขาคณิตเคลื่อนที่ล่ะ คำตอบก็คือ ถ้าทำอย่างนั้นลูกโป่งจะกระตุกขึ้นกระตุกลง เคลื่อนที่ไม่น่าดู เพราะค่ารายสัปดาห์อาจจะต่างกันมาก แต่ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่รายวันจะเปลี่ยนไปทีละน้อย ในวันที่ติดกันจะมีตัวเลขร่วมกันถึง 6 วัน การเคลื่อนที่จึงเนิบนาบเหมือนรำไทย ไม่เหมือนเต้นแร็ปครับ

ส่วนแกน X ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ มันคือเปอร์เซ็นต์สะสมของประชากรที่ได้รับวัคซีน บางท่านอาจจะบอกว่าพอฉีดไปได้หกเดือนภูมิก็หายหมดแล้ว แหม... ขอเริ่มต้นเรื่องง่าย ๆ ก่อนก็แล้วกันนะครับ ค่าเริ่มต้นของสถานการณ์ของการฉีดวัคซีน คือ วันนี้ เราจะทำให้ลูกโป่งเคลื่อนที่ก็ต้องกดกดปุ่มสามเหลี่ยมเล็ก ใต้จุดตัดของแกน X กับ แกน Y กดปุ่มนี้ลงไป สถานการณ์ก็จะถอยไปเป็นวันเริ่มต้นของโควิดระลอกสาม คือ 1 เมษายน 2564 สถานการณ์ทั้งสองด้าน และ ตัวเลขวันที่ก็จะเปลี่ยนไปทีละวันจนถึงวันปัจจุบัน

ขออนุญาตพากษ์การแข่งขันกีฬาสู้โควิดแห่งชาติ เลือกเอาเฉพาะตัวเต็งมาดูกันครับ ตัวเต็งที่ว่าในมิติแรกทางแกน Y ก็คือ จังหวัดที่เคลื่อนที่ไปข้างบนสูง (สถานการณ์การติดเชื้อรุนแรง) และ มิติทางแกน X ซึ่งฉีดวัคซีนได้มาก เคลื่อนไปทางขวา ต้นเดือนเมษา สมุทรสาคร บ้านของยุพินมาก่อนเพื่อน คงค้างมาจากระลอกสอง เผลอแพล็บเดียวช่วงสงกรานต์โควิดก็ไปเล่นสงกรานต์ที่เชียงใหม่อยู่สองสามสัปดาห์ เป็นช่วงใกล้ ๆ กันกับที่นราธิวาสมาจากไหนก็ไม่รู้ มีการระบาดที่เรือนจำแล้วก็สงบลงอย่างรวดเร็ว ปลายเดือนเมษายนครับ กรุงเทพมหานครลูกโป่งประชากรใหญ่ที่สุดก็ขึ้นแซงสมุทรสาครและเชียงใหม่

อย่าดูแต่แนวตั้งนะครับ ปลายเดือนเมษา มีลูกโป่งสีน้ำตาลภูเก็ต ขยับตัวมาทางขวา ตามด้วยลูกโป่งสีฟ้าของสมุทรสาคร นี่คือการระดมฉีดวัคซีนอย่างเป็นระบบของภูเก็ตเพื่อเตรียมรับนักท่องเที่ยว ครึ่งแรกของพฤษภาคม ปริมณฑลและจังหวัดใกล้เมืองหลวงเริ่มออกอาการ ปลายเดือนเพชรบุรีมาจากไหนก็ไม่ทราบเหมือนกัน แซงเมืองหลวงไปเฉยเลย ตั้งแต่กลางมิถุนายนเป็นต้นมา เพชรบุรีเริ่มดีขึ้น แต่ กทม. และสามสมุทรนับวันแย่ลง อัตราป่วยเกิน 10 ต่อแสน ส่วนภูเก็ตจังหวัดโชคดีก็เกือบจะไม่มีผู้ป่วยเลย ตั้งหน้าตั้งตาจ้ำฉีดวัคซีนอย่างเดียว เป็นจังหวัดเดียวเท่านั้นที่ลูกโป่งเคลื่อนไปทางขวาอย่างสม่ำเสมอ ทำนองเดียวกับที่อัตราป่วยในกทมและปริมณฑลก็ขึ้นข้างบนอย่างไม่หยุดยั้ง

กลางเดือนกรกฎาครับ ที่เริ่มเห็นวัคซีนฉีดในกรุงเทพและสมุทรสาครดีขึ้นนิดหน่อย แต่เทียบไม่ได้กับภูเก็ต ต้นสิงหาคมครับ สมุทรสาครมีผู้ป่วยรายใหม่เกิน 100 ต่อแสนต่อวัน จังหวัดสีฟ้าเข้มคือกรุงเทพและปริมณฑลหยุดไม่อยู่ ภูเก็ตเองที่ว่าดีก็เริ่มออกอาการอัตราติดเชื้อขยับขึ้นไล่จังหวัดอื่น ๆ ตามลำดับ สัปดาห์สุดท้ายก่อนวันนี้ สามสี่จังหวัดสีม่วงเข้มในภาคกลางก็เทียบรัศมีได้เท่ากับเมืองหลวง มองด้านล่าง ในสัปดาห์นี้ทุกจังหวัดใด ไม่มีจังหวัดใดที่ปลอดภัยจากโควิดแล้ว แถวอาณาจักรล้านนา เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูนแม่ฮ่องสอน ป้องกันไว้ได้ดี แต่ภูเก็ตเริ่มเกิน 10 รายต่อแสนต่อวันแล้ว

จะให้ดีต้องดูบน PC บน link ข้างล่างนี้ครับ
https://dashboard-vaccine.moph.go.th/floatingbubbleplot/

บน PC สนุกกว่า นอกจากจอใหญ่แล้ว ยังสามารถเลือกให้เฉพาะบางจังหวัดให้มาแข่งขันกันได้ด้วย เช่น ถ้าอยากรู้ว่าทีมบุรีรัมย์ยูไนเต็ด เทียบกับทีมกระบี่ยูไนเต็ด ใครจะแน่กว่ากันครับ เริ่มต้นก็กดปุ่ม “คืนค่าเริ่มต้น” จากนั้นกดเลือกจังหวัดกระบี่ก่อน แล้วเลื่อนไปลงหาบุรีรัมย์พร้อมกับกดคอนโทรลแล้วกดเลือกบุรีรัมย์ก็จะได้สองจังหวัดเทียบกัน ดูแล้วอาจจะเบื่อเพราะไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวทางขวาเลย ถ้าอย่างนั้นก็เลือก “เข็มหนึ่ง” ก็แล้วกัน ได้ผลอย่างไรแล้วบอกด้วยนะครับ

ขอบคุณทีมงานศูนย์ไอทีของกระทรวงสาธารณสุขมากครับ ที่ช่วยให้พวกเราได้เห็นสถานการณ์ของประเทศแบบเกือบจะ real time อย่างเดียวกับที่ผู้บริหารสาธารณสุขกำลังเห็นอยู่ เมื่อทุกคนเข้าถึงข้อมูลแล้ว ก็จะขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคนว่าจะแปลผลและนำไปใช้ได้อย่างไรนะครับ