ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกสมาคมหมออนามัยจังหวัดพิจิตร เผยการปฏิบัติงานสถานการณ์โควิดของบุคลากรด่านหน้าทุกคน ความยากลำบาก กับความเสี่ยงติดเชื้อ ล่าสุดมีบุคลากรต้องจากไปอย่างไม่มีวันกลับ จากการปฏิบัติงานครั้งนี้ พร้อมวอนหน่วยงานเข้าช่วยเหลือ

นางฉิน สังข์เมือง นายกสมาคมหมออนามัยจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า การจัดการหรือแก้ไขสถานการณ์โควิดนั้นเรามีตั้งแต่ ถ้าผู้ป่วยกลับมาต้องไปจัดการในส่วนของพื้นที่แต่ละบ้านแต่ละหลังคาเรือน ว่ามีความพร้อมที่จะรองรับคนที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดที่จะมากักตัวหรือไม่ นอกจากนั้นยังมีการจัดหาสถานที่ในพื้นที่ตำบลหมู่บ้าน ได้ทำการระดมทุนระดมทรัพยากร รวมถึงบุคลากรให้มีส่วนร่วมกันในการเตรียมความพร้อม

โดยช่วงแรกจะเป็นการกักตัวก่อน แต่ถ้าหากมีผู้ติดเชื้อแล้วที่เดินทางเข้ามา เราจะต้องหาสถานที่พักคอย โดยต้องใช้ทั้งสถานที่ เงินและงบประมาณ รวมถึงเตรียมพร้อมชุมชนในการที่จะยอมรับและทำความเข้าใจว่าผู้ป่วยที่จะเดินทางมาอยู่ในหมู่บ้านเรานั้น เขายอมรับได้หรือไม่

นางฉิน สังข์เมือง กล่าวว่า ในส่วนของความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ จะมีทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. องค์การบริหารส่วนตำบลหรือท้องถิ่น ได้มีส่วนร่วมกันในการทำงานในแต่ละบทบาทในครั้งนี้ด้วย และยังมีโรงพยาบาลสนาม ที่มีส่วนรองรับผู้ป่วยที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เพราะโรงพยาบาลหลักของเราไม่เพียงพอในการรองรับ ซึ่งการที่จะได้โรงพยาบาลสนามมานั้น เราต้องร่วมมือกันกับหลายหน่วยงานทั้งแกนนำต่างๆ เพื่อเข้ามาทำให้เกิดโรงพยาบาลสนามและทำให้ระบบการรักษาของโรงพยาบาลหลักลื่นไหลและสามารถกระจายผู้ป่วยได้ดีขึ้น ทำให้โรงพยาบาลหลักของเราสามารถรองรับผู้ป่วยใหม่เข้าไปรักษาได้มากขึ้น

ส่วนกรณีที่มีบุคลากรเสียชีวิตล่าสุดนั้น อาจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งเรื่องของการทำงานที่น้องเขาเป็นคนที่ทุ่มเทเสียสละ เวลาพักผ่อนอาจไม่เพียงพอ เนื่องจากการทำงานอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น งานที่อนามัย การอยู่เวรบริการ การออกสอบสวนของผู้ป่วย ที่บางครั้งมีมากกว่า 100 เคส/วัน ที่เราต้องทำให้เสร็จภายในวันนั้นด้วย นอกจากนี้ยังมีการเข้าเวรกับโรงพยาบาลสนาม ที่น้องต้องเข้าไปช่วยในส่วนของพยาบาลที่ไม่สามารถอยู่เวรได้ทั้งวันด้วย ดังนั้นการเสียชีวิตอาจเกิดจากร่างกายของน้องที่พักผ่อนไม่เพียงพอ เพราะในวันที่ฉีดวัคซีนนั้น ก่อนได้รับวัคซีน ในคืนวันเดียวกันน้องเขายังต้องอยู่เวรทั้งวันและในวันรุ่งขึ้นถึงได้รับวัคซีนตามนัดหมาย

สำหรับน้องที่เสียชีวิตนั้นไม่มีภรรยาไม่มีลูก พักอาศัยอยู่ที่อนามัย ทำหน้าที่รับผิดชอบในด้านไอทีการคีย์ข้อมูล โดยช่วงกลางวันไม่สามารถทำงานได้ จึงทำในตอนกลางคืนโดยลงมาทำงานที่ชั้นล่างเป็นประจำ ในส่วนนี้อาจทำให้น้องมีความเครียดได้ นอกจากนี้น้องยังมีปัญหาในเรื่องของภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบในครอบครัวเพราะเป็นเสาหลักของครอบครัว ที่ต้องดูแลพ่อและยังมีน้องสาวอีก ทำให้มีภาระหนี้สินเยอะพอสมควร

“ส่วนเรื่องที่อยากให้หน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือคือ ขวัญกำลังใจหรือค่าตอบแทน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับน้องที่เสียชีวิตด้วย รวมถึงบุคลากรด่านหน้าที่ยังทำงานอยู่ด้วย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่ยังไม่เคยได้รับการเยียวยาเลยตั้งแต่สถานการณ์โควิคระบาดใน 2 ปีนี้” นางฉิน กล่าว