ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะทำงานการประเมินประสิทธิผลของการใช้จริงวัคซีนโควิด 19 กรมควบคุมโรค เผยประสิทธิผลวัคซีนโควิด19 ในบุคลากรทางการแพทย์ของไทย พบซิโนแวค 2 เข็มนานเกิน 14 วัน ป้องกันการติดเชื้อ 72% ส่วนแอสตร้าเซนเนก้า ฉีด 2 เข็มอย่างน้อย 14 วัน ป้องกันติดเชื้อและป่วย 96% ส่วนแอสตร้าฯ 1 เข็มอย่างน้อย 14 วันป้องกันติดเชื้อและป่วย 88%

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 17 ส.ค. 2564 นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงสถานการณ์โควิด 19 ประเด็น “ประสิทธิผลวัคซีนในประเทศไทย” ว่า การศึกษาประสิทธิผลการใช้วัคซีนโควิด 19 ฉีดในประเทศไทย จะเป็นวัคซีนหลักคือวัคซีนของบริษัทซิโนแวค ฉีด 2 เข็มห่างกัน 3 สัปดาห์ และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ห่างกัน 8-12 สัปดาห์ ที่ผ่านมาการดูประสิทธิภาพวัคซีน ส่วนใหญ่จะเป็นการดูจากการทดลองทางคลินิกในประเทศอื่นๆ ซึ่งลักษณะการระบาด สายพันธุ์ก็จะแตกต่างจากประเทศไทย

ส่วนความก้าวหน้าจากการใช้วัคซีนในประเทศไทย ซึ่งการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนที่ใช้ในประเทศไทยจริงเป็นอย่างไร โดยในปี 2564 มีการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ ช่วงปี 2563 เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิม ปลายปีที่จ.สมุทรสาครเป็นอีกสายพันธุ์ ปี 2564 ช่วงเม.ย.สายพันธุ์อัลฟา และช่วงเดือนพ.ค.ถึงปัจจุบันเป็นสายพันธุ์เดลตา ดังนั้น คณะทำงานการประเมินประสิทธิผลของการใช้จริงวัคซีนโควิด 19 กรมควบคุมโรค ได้ทำการศึกษาในการประเมินประสิทธิผลวัคซีนที่มีการฉีดในบุคลากรทางการแพทย์ตั้งแต่เม.ย. ถึงปัจจุบัน ว่าเมื่อใช้จริงประสิทธิผลเป็นอย่างไร

นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวอีกว่า ในการประเมินประสิทธิผลวัคซีนโดยการศึกษาในบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทย ว่ามีการติดเชื้อเท่าไหร่ และสืบค้นว่าคนที่ติดเชื้อมีประวัติการได้รับวัคซีนอะไร อย่างไร โดยผลการประเมินประสิทธิผลวัคซีนในบุคลากรทางการแพทย์ของประเทศไทย ในส่วนของวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม โดยทำการศึกษาตั้งแต่ 1 พ.ค.ถึงเดือนกรกฎาคม 2564 พบบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานในสถานพยาบาลหรือสถานที่ต่างๆ มีการติดเชื้อ จำนวน 3,906 คน นำมาศึกษาดูว่ามีประวัติการได้รับวัคซีนอย่างไร และมีการเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน โดยการสร้างแบบตัวเปรียบเทียบขึ้นมาจากฐานที่มีการฉีดวัคซีนในประเทศไทย

ผลเบื้องต้นพบว่าในบุคลากรฯที่ติดเชื้อ ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มนานเกิน 14 วัน จำนวน 2,154 ราย และกลุ่มเปรียบเทียบที่ติดเชื้อและไม่ได้ฉีดวัคซีนมาก่อน 598 ราย ซึ่งประสิทธิผลของการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต เท่ากับ 98 % แต่หากมองในเรื่องการป้องกันการติดเชื้อ พบว่า วัคซีนซิโนแวค 2 เข็มจะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 72 % และเมื่อจำแนกประสิทธิผลรายเดือน พบว่า พ.ค. 71 % มิ.ย. 74 % และก.ค. 71 % จะเห็นว่าแนวโน้มประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อของวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มยังไม่ลดลงหรือแนวโน้มคงที่ ไม่ได้ต่ำกว่า 70 % ซึ่งผลการศึกษานี้สอดคล้องกับทุกการศึกษาในต่างประเทศและทั่วโลกว่าวัคซีนมีประสิทธิผลทั้งป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจะมีประสิทธิผลสูงใกล้เคียง 100 %

“ดังนั้น วัคซีนซิโนแวคที่ใช้ในประเทศไทย โดยการฉีด 2 เข็มก็ถือว่ายังมีประสิทธิผลดี ทั้งในแง่ป้องกันการติดเชื้อและป้องกันป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ทั้งนี้ สายพันธุ์ที่มีการระบาดในประเทศไทย ช่วงเม.ย.-มิ.ย.จะเป็นสายพันธุ์อัลฟา โดยก่อนหน้า 20 มิ.ย ส่วนใหญ่การระบาดในไทยเป็นอัลฟา 90 % หลังจากนั้นเดลตาเริ่มมีการสัดส่วนครองการระบาดมากขึ้น จนกระทั่งถึงสัปดาห์สุดท้ายของก.ค.กลายเป็นสายพันธุ์ส่วนใหญ่การระบาดในประเทศไทย 78 % แสดงให้เห็นว่าประสิทธิผลของวัคซีนซิโนแวคแม้มีการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ ประสิทธิผลของการได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มก็ยังคงที่”นพ.ทวีทรัพย์กล่าว

สำหรับประสิทธิผลของการฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ ซึ่งในประเทศไทยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเพิ่งได้รับการฉีด ดังนั้น ในแง่ประสิทธิผลของวัคซีนแอสตร้าฯจะเปรียบเทียบผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มกับ 1 เข็ม พบว่า ประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อ ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มอย่างน้อย 14 วันอยู่ที่ 96 % ส่วนผู้ที่ได้รับ 1 เข็มอย่างน้อย 14 วันอยู่ที่ 88 %

“วัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยลดการติดเชื้อ การป่วยรุนแรงและเสียชีวิต และวัคซีนที่ใช้ในประเทศไทย ไม่ว่าเป็นซิโนแวคที่ฉีดครบ 2 เข็ม หรือแอสตร้าฯที่ฉีด 1 เข็มหรือ 2เข็ม ก็มีประสิทธิผลช่วยลดป่วยรุนแรงและเสียชีวิตที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ และจากความครอบคลุมการฉีดวัคซีนยังค่อนข้างต่ำ ในผู้สูงอายุที่โอกาสป่วยรุนแรงและเสียชีวิตสูง เพราะฉะนั้นต้องช่วยเชิญชวนและพาผู้สูงอายุไปรับวัคซีน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการควบคุม ป้องกันการติดเชื้อ และลดการเสียชีวิตและป่วยรุนแรง” นพ.ทวีทรัพย์กล่าว

ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.เผยเหตุผลแผนนำเข้าวัคซีนซิโนแวค 12 ล้านโดส เพราะต้องใช้สลับไขว้เพิ่มภูมิคุ้มกันหมู่

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org