ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัยเผยข้อมูลหญิงตั้งครรภ์ติดโควิดสะสม 2,327 ราย จากคนท้องปีละ 5 แสนราย คิดเป็นติดเชื้อวันละ 50-60 ราย ฉีดวัคซีนโควิดน้อยไม่ถึง 10% พร้อมเผยข้อมูลสตรีมีครรภ์ติดเชื้อโอกาสเข้าไอซียู สูงกว่าหญิงท้องไม่ติดเชื้อถึง 2-3 เท่า ย้ำ! ขอให้คนท้องอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปรีบรับวัคซีนโควิดด่วน

เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ และโฆษกกรมอนามัย แถลงข่าวผ่านระบบออนไลน์ เรื่องสถานการณ์การติดเชื้อในกลุ่มสตรีมีครรภ์ ว่า มีผู้หญิงครั้งครรภ์ติดเชื้อสะสม 2,327 ราย เฉลี่ยติดเชื้อวันละ 50-60 รายต่อวัน เสียชีวิต 53 ราย มีทารกเสียชีวิต 23 ราย จังหวัดที่มีการติดเชื้อค่อนข้างเยอะคือจังหวัดควบคุมเข้มข้นสูงสุด การฉีดวัคซีนยังค่อนข้างน้อยวันนี้สตรีมีครรภ์ฉีดประมาณ 2,000 คน จากการตั้งครรภ์ปีละ 500,000 ราย ดังนั้น มีการฉีดไม่ถึง 10%

ทั้งนี้ วิเคราะห์พบว่าสตรีมีครรภ์ที่เสียชีวิต 53 รายส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวที่พบมาก คือ แม่อายุเยอะเกิน 35 ปีมีโรคเบาหวานความดันสูง มีโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น ธาลัสซีเมีย โรคอ้วน และใช้สารเสพติด ในกลุ่มที่เสียชีวิตมีประวัติฉีดวัคซีน 22 ราย นอกนั้น ยังไม่ได้ฉีดเลยส่วนคนที่ฉีดแล้วเพิ่งจะฉีดได้ไม่กี่วันก็ติดเชื้อก่อน อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อเสียชีวิตครึ่งหนึ่งติดเชื้อในครอบครัว หากมีความเสี่ยงคนในครอบครัวติดโควิด ควรรับการตรวจหาเชื้อ โดยเฉพาะเมื่อมีอาการ เบื้องต้นควรตรวจ ATK ที่ผ่านการรับรองจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อนได้เลย กรณีหญิงตั้งครรภ์อาการสีเขียวสามารถดูแลตัวเองที่บ้านได้ หากอาการเปลี่ยนแปลงก็เข้าระบบการรักษาต่อไป

นพ.เอกชัย กล่าวว่า สตรีมีครรภ์ติดเชื้อเทียบกับหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ติดเชื้อพบว่า มีโอกาสเข้า ICU สูงถึง 2-3 เท่า ใช้เครื่องหายใจสูง 2.6- 2.9 เท่า โอกาสเสียชีวิตตัวเลขในประเทศไทย 1.5-8 คนใน 1,000 คน ถือว่าค่อนข้างสูง ปัจจัยที่ทำให้อาการรุนแรงและเสียชีวิตคือ อ้วน อายุมาก มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวานก่อนตั้งครรภ์ ครรภ์เป็นพิษ ทารกคลอดก่อนกำหนด 1.5 เท่า ตายคลอด 2.8 เท่า ทารกมีโอกาสเข้าไอซียู 4.9 เท่า โอกาสที่ทารกติดเชื้อ 3.5% แต่ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ ปัจจุบัน สตรีมีครรภ์ที่ติดเชื้อและมีการคลอดลูกนั้นพบว่าครึ่งหนึ่งผ่าคลอด อีกครึ่งหนึ่งคลอดธรรมชาติ สำหรับกรณีติดเชื้อหลังคลอด ถ้ากลุ่มสีเขียวสามารถกอดหรืออุ้มลูกได้ ให้นมจากเต้าได้ แต่ต้องสวมหน้ากากตลอด ล้างมือก่อนและหลังสัมผัสลูก เช็ดทำความสะอาดหัวนม และลานเต้านมด้วยน้ำอุ่น งดหอมแก้ม หากมีอาการไอจาม อาจจะต้องหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดลูก เลี่ยงดูดนมจากเต้า แต่ให้ปั๊มนมใส่ถุงให้ญาติป้อน ส่วนคนที่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ ต้องงดให้นมลูก เพราะยาขับออกมาทางน้ำนมได้

ส่วนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 สามารถให้นมลูกได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม กรณีหญิงที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์นั้น อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปขอให้ไปฉีดวัคซีนโควิด 19 ซึ่งคำแนะนำจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ มีหลายสูตร คือ 1. เข็มแรกเป็นซิโนแวค เข็ม 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า 2. สูตรแอสตร้าฯ 2 เข็ม 3. สูตรไฟเซอร์ 2 เข็ม ทั้งนี้กรณีจะเร่งสร้างภูมิคุ้มกันเร็วที่สุดคือสูตรที่ 1 ซิโนแวคเข็มแรก และตามด้วยแอสตร้าฯ เป็นเข็มที่ 2 เพราะใช้เวลาห่างระหว่างเข็มแค่ 3 สัปดาห์ และเกิดภูมิหลังจากนั้น 2 สัปดาห์ ส่วนสูตรที่ 2 ระยะห่างระหว่างเข็ม 8 สัปดาห์ ส่วนสูตรที่ 3 ไฟเซอร์ เข้ามาไม่เยอะ ยังไม่เพียงพอต่อการฉีดหญิงตั้งครรภ์ที่มีกว่า 500,000 คน

อีกทั้ง ยังต้องฉีดกลุ่มเสี่ยง 608 ด้วย สำหรับผลข้างเคียงไม่แตกต่างจากคนทั่วไป จึงไม่ต้องกังวล คนที่ตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก หรือ 3 เดือนแรก จะมีอัตราการแท้งตามธรรมชาติ 10-12% จึงให้เลี่ยงการฉีดวัคซีนในไตรมาสแรก เพื่อไม่ให้เกิดความกังวลใจว่าแท้งจากวัคซีนหรือไม่ ทั้งนี้ขอให้หญิงตั้งครรภ์เน้นการทำงานที่บ้าน โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเสี่ยง .