ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรคเผยสัดส่วนฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น ตั้งแต่เดือน มี.ค. ถึงปัจจุบัน 19 ส.ค. 64 ฉีดรวมแล้วกว่า 25.8 ล้านโดส ซิโนแวคสูงสุด รองมา แอสตร้าฯ ซิโนฟาร์ม และไฟเซอร์ พร้อมย้ำขอทุกจังหวัดเร่งฉีดวัคซีนโควิดผู้สูงอายุตามเป้า 70% พร้อมเผยตัวเลข 13 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดมี 5 จังหวัดฉีดผู้สูงอายุเกิน 50% ทั้ง “กรุงเทพฯ ปทุมธานี สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ”

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 20 ส.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงผลการฉีดวัคซีนโควิดที่ผ่านมา ว่า เมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมาเป็นวันที่ฉีดวัคซีนสูงถึง 651,606 โดส และยังเป็นการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 โดยมีประชาชนหน้าใหม่ได้วัคซีนประมาณ 442,435 คน และเข็มที่ 2 จำนวน 201,318 คน ขณะที่วัคซีนเข็ม 3 มีจำนวน 7,853 คน ซึ่งมีส่วนเป็นวัคซีนไฟเซอร์ และบางส่วนเป็นแอสตร้าฯ

00 วัคซีนโควิดในไทย "ซิโนแวค"มากสุด รองลงมาแอสตร้า ซิโนฟาร์ม และไฟเซอร์

ทั้งนี้ ตัวเลขสะสมการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2564 ถึงขณะนี้กว่า 25.8 ล้านโดส เป็นเข็มที่ 1 ประมาณ 19,586,009 คน โดยเป็นแอสตร้าฯ มากที่สุดประมาณ 9,179,236 คน ส่วนเข็มที่ 2 ฉีดไป 5,705,200 คน ส่วนนี้เป็นซิโนแวคกว่า 3 ล้านคน ขณะที่เข็ม 3 ฉีดไปแล้ว 527,457 คน เป็นไฟเซอร์ 326,818 คน และแอสตร้าฯ 200,639 คน จะเห็นได้ว่า 27.2% ของประชากรไทยได้รับวัคซีนแล้ว มีอยู่ประมาณ 7.9%ได้ 2เข็ม

“การให้บริการแต่ละเดือนได้เพิ่มขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-19 ส.ค.2564 โดยเมื่อเดือน มี.ค.-พ.ค.ที่ผ่านมา ฉีดไปประมาณ 4 ล้านโดส เดือน มิ.ย.ฉีดไป 6 ล้านโดส ส่วนเดือน ก.ค.ฉีดไป 8 ล้านโดส ขณะที่ส.ค. ยังไม่ถึงเดือน โดยข้อมูลถึงวันที่ 19 ส.ค. ฉีดไปแล้ว 7.8 ล้านโดส เมื่อถึงสิ้นเดือนจะได้ประมาณ 10 ล้านโดส ขณะเดียวกันวัคซีนที่ใช้มากที่สุด คือ ซิโนแวคประมาณ 12 ล้านราย แอสตร้าฯ กว่า 10 ล้านราย ซิโนฟาร์มประมาณ 2.3 ล้านราย และไฟเซอร์ 485,237 ราย ซึ่งวันนี้น่าจะถึง 5 แสนราย” นพ.โสภณ กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า กลุ่มที่ต้องได้รับวัคซีนก่อน คือ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า และอสม.ได้รับวัคซีนมากกว่า 50% ขณะที่ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ครอบคลุม 34.6% และ37.8% ตามลำดับ ขณะที่หญิงตั้งครรภ์ก้เป็นกลุ่มเสี่ยงต้องได้รับวัคซีน โดยขณะนี้ฉีดเข็มแรกไป 3.9% ซึ่ง 3 กลุ่มนี้ต้องได้รับวัคซีนก่อน จะช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิจจากโควิดได้ ทั้ง่นี้ ในส่วนชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทยได้รับวัคซีนไปแล้ว 356,337 คน ซึ่งเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปประมาณ 27,028 คน โดยเมียนมามากที่สุด รองลงมา คือ จีน กัมพูชา ลาว ญี่ปุ่น อินเดีย ฟิลิปปินส์ ฯลฯ ซึ่งในจำนวนนี้มี 107,106 คนได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม

สำหรับความเสี่ยงในการเสียชีวิต หากพิจารณาจากตัวเลขวันนี้ 240 คน ส่วนใหญ่อยู่ในกทม. และเป็นชายมากกว่าหญิงเล็กน้อย ซึ่งมีทั้งไทย เมียนมา และจีน จึงเป็นเหตุผลต้องฉีดในกลุ่มเสี่ยงไม่ว่าสัญชาติใด ขณะเดียวกันยังพบว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 60 ปี และมีโรคเรื้อรังรวม 87% ขณะเดียวกันวันนี้มีรายงานเด็กเสียชีวิต 2 ราย อย่างไรก็ตาม ในเรื่องปัจจัยเสี่ยง ยังมีโรคเบาหวาน โรคไต ภาวะอ้วน ปัจจัยเสี่ยงยังเป็นการติดเชื้อจากคนรู้จัก วันนี้ไม่พบเสียชีวิตที่บ้าน

00 ข้อมูลผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีน

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า จากข้อมูลผู้เสียชีวิต และประวัติได้รับวัคซีนแยกตามกลุ่มอายุระหว่างวันที่ 25 ก.ค.-19 ส.ค.2564 จะเห็นว่า อายุมากยิ่งเสี่ยงเสียชีวิตมาก โดยผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่ไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือฉีดวัคซีนไม่ครบ ถือว่าภูมิคุ้มกันยังไม่ดีพอ โดยในกลุ่มฉีดวัคซีน 1 เข็ม (แอสตร้าฯ) แบ่งเป็นกลุ่มฉีด 1 เข็มก่อนวันเริ่มป่วยมากกว่า 2 สัปดาห์มี 316 รายคิดเป็น 7% และฉีด 1 เข็มก่อนวันเริ่มป่วยมากกว่า 4 สัปดาห์ 118 ราย หรือ 2.6% ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนมีจำนวน 2,969 ราย คิดเป็น 63.8% ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม มี 26 ราย คิดเป็น 0.6% ซึ่งกรณีนี้น้อยมาก ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวเดิม หรือผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวร่วมด้วย นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่ไม่มีข้อมูลได้รับวัคซีนในหมอพร้อม หรือข้อมูลไม่ตรงกัน 874 ราย คิดเป็น 19.2%

 

00 ตัวเลขฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุ 60 ปีใน 13 จังหวัด

อย่างไรก็ตาม หากจะช่วยให้ตัวเลขเสียชีวิลดลง ต้องขยายการดำเนินการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น ซึ่งข้อมูลการครอบคลุมการได้รับวัคซีนโควิดในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป (วันที่ 28 ก.พ.-19 ส.ค.64) พบว่า กรุงเทพฯ มีการฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุมากที่สุด โดยในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด พบว่า กรุงเทพฯ ฉีดเข็มแรกในผู้สูงอายุแล้ว 94.3% ปทุมธานีฉีดแล้ว 62.7% สมุทรสาครฉีดเข็มแรกครอบคลุมแล้ว 55.5% ฉะเชิงเทรา 51.3% สมุทรปราการ ฉีด 53.2% นอกนั้นฉีดแล้วประมาณ 30-40%

“ กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าหมายว่า หากจะให้ผู้สูงอายุได้รับวัคซีน 70% ภายในช่วงเวลาที่เหลือในเดือนนี้ ก็ต้องเร่งฉีด ยกตัวอย่าง ตั้งเป้าให้ผู้สูงอายุจ.นนทบุรี อีกประมาณ 6.8 หมื่นคน ได้รับวัคซีน หรือจ.พระนครศรีอยุธยากว่า 5 หมื่นคนได้รับวัคซีน ก็จะทำให้ผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนสะสมถึง 70% ในส.ค.นี้ ตัวเลขทั้งหมดหากรวม 13 จังหวัดจะใช้วัคซีนอีกประมาณ 4.2 แสนกว่าโดส ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ ดังนั้น ขอให้พี่น้องประชาชนพาผู้สูงอายุมาฉีดวัคซีนภายใน 10 วันที่เหลือในเดือนนี้ก็จะเห็นผู้สูงอายุส่วนใหญ่ใน 13 จังหวัดมีภูมิคุ้มกันต่อโควิด 19” ขณะที่จังหวัดอื่นๆต้องฉีดให้ได้มากที่สุดอย่างน้อยร้อยละ 70 ในเดือนหน้า” นพ.โสภณ กล่าว