ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี เผยทางออกเปิดประเทศใน 120 วัน ต้องได้วัคซีน AstraZeneca เกิน 20 ล้านโดส ในกันยายนและตุลาคมนี้

 

ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊ก Vijj Kasemsup ระบุถึงทางออกเปิดประเทศ ว่า 

จากข้อมูลการคาดการณ์ของนักวิชาการว่า การติดเชื้อโควิด-19 ของเดือนกันยายนจะลดลงในผู้ป่วยทุกกลุ่ม และสัญญาณบวกของวัคซีนไฟเซอร์/ไบออนเทคที่จะเริ่มเข้ามานับล้านโดสปลายเดือนกันยายน และกว่า 5 ล้านโดสในเดือนตุลาคม ทยอยจนครบ 30 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ ทำให้รัฐบาลน่าจะเบาใจได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามการดำเนินนโยบายของรัฐในภาวะวิกฤตเช่นปัจจุบันคงต้องเตรียมการไว้สำหรับฉากทัศน์ที่รุนแรงหรือต้องเตรียมรับสถานการณ์ที่เลวร้ายไว้

ดังนั้นในระยะสั้นเดือนกันยายนและตุลาคมที่จะถึงนี้ ความวิกฤตที่จะเกิดขึ้นคือ ความไม่มั่นใจว่าจะมีวัคซีนพอสำหรับประชาชนกลุ่มที่จะต้องได้รับวัคซีน AstraZeneca เข็มที่ 2 ในทุกวิธีการฉีดไม่ว่าจะเป็น ฉีดไขว้กับซิโนแวค หรือ AstraZeneca 2 เข็มหรือไม่ แล้วจะทิ้งให้คนหน้างานตามต่างจังหวัดทั่วประเทศรับหน้าแทนรัฐบาลอีกหรือไม่ เหมือนที่ไม่มีวัคซีนให้ฉีดเพียงพอเมื่อเดือนมิถุนายน และ กรกฎาคม ที่ผ่านมา

การจะมีวัคซีน AstraZeneca เดือนละ 10 ล้านโดสในเดือนกันยายน และ ตุลาคม พ.ศ. 2564 จึงมีความจำเป็น เพื่อนอกจากจะรับรองการมีวัคซีนสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และ ผู้ตั้งครรภ์ (กลุ่ม 608) เพื่อป้องกันการเสียชีวิตของประชาชนกลุ่มเปราะบางนี้นับพันนับหมื่นชีวิตแล้ว ยังเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับรัฐบาลที่ยังไม่สามารถทำอะไรให้ถูกใจประชาชนได้ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาอีกด้วย

จากข่าวที่ออกมาว่ารัฐบาลได้เจรจาขอให้ทาง AstraZeneca ให้ส่งมอบวัคซีนให้ได้ตามที่รัฐบาลรับปากประชาชนไว้คือ 61 ล้านโดสภายในสิ้นปี พ.ศ. 2564 (ขณะนี้ประมาณว่าจะได้รับแค่ไม่เกิน 40 ล้านโดส) ทำให้เกิดกำลังใจบ้างว่า รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา คงจะได้มีการเตรียมการให้มีวัคซีน AstraZeneca เพิ่มเติมในเดือน กันยายน และ ตุลาคม พ.ศ. 2564 ได้รวม 20 ล้านโดสตามที่เคยให้สัญญากับประชาชนไว้เมื่อต้นปี พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีในการที่จะทำให้ประชาชนไทยได้รับการคุ้มครองโดยรัฐบาล และถ้าการคาดการณ์ว่า การลดจำนวนของผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 รายวันลงเป็นจริง รัฐบาลก็คงจะได้รับอานิสงส์ในการตัดสินใจครั้งนี้ไปในคราวเดียวกัน

การได้รับวัคซีนเร็วเป็นสิ่งจำเป็นมากในการจะรักษาชีวิตคนไทย ถ้าเราได้ต่อรองให้ผลประโยชน์กับ AstraZeneca ได้ดีแล้ว รัฐบาลก็ควรใช้อำนาจหน้าที่กำหนดสัดส่วนจำนวนการส่งออกวัคซีน AstraZeneca ที่ผลิตโดยบริษัทของคนไทย คือ Siam Bioscience ที่คงจะยินดีไม่ส่งวัคซีนนี้ออกไปมากเกิน เพื่อให้ประเทศไทยมีวัคซีน AstraZeneca ไว้ใช้ 20 ล้านโดสในเดือน กันยายน และ ตุลาคมนี้ เพื่อช่วยรักษาชีวิตคนไทยนับพันนับหมื่นชีวิตไว้ ก็ได้แต่หวังว่าบริษัท AstraZeneca คงไม่ขัดข้องเพราะได้รับผลประโยชน์ตามสมควรจากรัฐบาลไทยแล้ว

จึงขอวิงวอนให้รัฐบาลไทยได้มองเห็นโอกาสสำคัญในปลายเดือนสิงหาคมนี้ กล้าหาญที่จะออกนโยบายเพื่อรักษาชีวิตคนไทย และ รักษาศักดิ์ศรีของรัฐบาลไทยที่จะไม่ก้มหัวให้กับบริษัทต่างชาติที่ยังไม่มีทีท่าที่จะต้องการช่วยรักษาชีวิตคนไทย ตามที่รัฐบาลร้องขอมาตั้งแต่ต้นปี โดยใช้อำนาจตาม พรบ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ มาตรา 18 ที่จะกำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีน AstraZeneca ที่ผลิตในประเทศไทย เพื่อให้มีวัคซีนนี้ใช้รวม 20 ล้านโดสในเดือน กันยายน และ ตุลาคม และ เพื่อให้มีวัคซีนนี้ใช้ให้ได้ครบ 61 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับคนไทยทั้งประเทศ

การได้ฉีดวัคซีนเกินไปเดือนละกว่า 15 ล้านโดส หรือ เกินกว่า 100 ล้านโดสในปีนี้ นอกจากจะไม่มีใครตำหนิอะไรรัฐบาลแล้ว ยังจะทำให้มีเสียงชื่นชมเป็นผลงานรัฐบาลที่มีความกล้าหาญทางการเมืองในการกำหนดนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการรักษาชีวิตของพลเมือง

ที่สำคัญที่สุดที่ต้องเร่งให้ประชาชนไทยได้ฉีดวัคซีนจำนวนมากอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เพื่อยืนยันที่จะตอบสนองต่อคำประกาศของท่านนายกรัฐมนตรีเองที่ต้องการที่จะเปิดประเทศภายใน 120 วันที่จะบรรจบมาครบในปลายเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งจะไม่มีวันสำเร็จได้เว้นแต่ประชาชนจะได้รับการคุ้มครองจากการฉีดวัคซีนในช่วงเดือนกันยายน และ ตุลาคม พ.ศ. 2564 อย่างรวดเร็วและพอเพียง

ขอบคุณข้อมูลและภาพจากเฟซบุ๊ก  Vijj Kasemsup

ข่าวเกี่ยวข้อง : ไทยเตรียมประเมินหลังล็อกดาวน์สิ้นสุด 31 ส.ค. พร้อมหรือไม่! ผ่อนคลายกิจการ-เปิดประเทศ

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org