ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

งานวิจัยใหม่ พบสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพียง 30 นาที เซลล์ถูกทำลาย เสี่ยงโรคปอด หัวใจ มะเร็ง แพทย์เตือนไม่มีระดับความปลอดภัยของการสูบบุหรี่ไฟฟ้า

วันที่ 24 สิงหาคม ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยงานวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจอลิส ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ JAMA Pediatrics ซึ่งเป็นการศึกษาเพื่อทราบว่าวัยรุ่นที่ไม่เคยสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้ามาก่อน หากสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะเกิดผลอย่างไร การวิจัยครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจำนวน 32 คน (ชาย 19 คน หญิง 13 คน มีอายุเฉลี่ย 24 ปี) แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มแรก 11 คน เป็นผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้ามาก่อน กลุ่มที่สอง 12 คน เป็นผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นประจำ และกลุ่มที่สาม 9 คน เป็นผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ

ผู้วิจัยได้วัดระดับภูมิคุ้มกันชนิดต่างๆ ของร่างกายก่อนและหลังให้ผู้เข้าร่วมสูบบุหรี่ไฟฟ้าจริง และบุหรี่ไฟฟ้าแบบหลอกเป็นเวลา 30 นาทีเพื่อนำมาเปรียบเทียบ ผลการศึกษาพบว่า วัยรุ่นที่ไม่เคยสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้ามาก่อนเมื่อสูบบุหรี่ไฟฟ้าครั้งแรกเพียง 30 นาที จะมีระดับของอนุมูลอิสระในเซลล์ หรือ cellular oxidative stress เพิ่มขึ้นถึง 2-4 เท่า แต่ระดับของอนุมูลอิสระนี้ไม่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงมากนักในกลุ่มที่เคยสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้ามาแล้ว เนื่องจากคนกลุ่มนี้จะมีระดับของอนุมูลอิสระที่สูงกว่าปกติอยู่แล้ว

นพ.Holly Middlekauff นักวิจัยอาวุโสของการศึกษาครั้งนี้ กล่าวว่า อนุมูลอิสระเกิดขึ้นเมื่อร่างกายเสียสมดุล หากมีจำนวนมากขึ้นจะเข้าไปทำลายเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย ทำให้เซลล์เกิดความเสียหาย ก่อให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคทางระบบประสาท รวมทั้งโรคมะเร็ง ซึ่งผลจากการศึกษามีความสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันมีวัยรุ่นจำนวนมากหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า เช่น สหรัฐอเมริกาพบ 1 ใน 3 ของนักเรียนมัธยมปลายเคยสูบบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งนี้ แม้จะมีความเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา แต่แท้จริงแล้วไม่มีระดับความปลอดภัยของการสูบบุหรี่ไฟฟ้า

ขณะที่ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ  ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  เปิดเผยว่า มีรายงานจากประเทศแคนาดา พบการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาก แต่การเลิกสูบบุหรี่ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของการสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น  โดยในปี 2553 มีผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน 535,900 คน ในจำนวนนี้ เป็นวัยรุ่น  314,000 คน ขณะที่มีผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกสูบบุหรี่ 64,300 คนที่ มีตัวเลขการเลิกสูบได้ไม่แตกต่างจากการใช้วิธีอื่นในการเลิกสูบ ขณะนี้มีหลักฐานมากขึ้นว่า บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เยาวชนที่ไม่ได้สูบบุหรี่เข้ามาเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า การห้ามบุหรี่ไฟฟ้าจะเป็นการปกป้องเยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่ให้เสพติดบุหรี่ไฟฟ้า  กฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย และการรณรงค์เพื่อให้คงกฎหมายนี้ไว้ของเครือข่ายควบคุมยาสูบของไทยได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก  ประเทศไทยจึงควรที่จะห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป

แหล่งข้อมูล
1. Kelesidis, T., Tran, E., Nguyen, R., Zhang, Y., Sosa, G., & Middlekauff, H. R. (2021). Association of 1 Vaping Session With Cellular Oxidative Stress in Otherwise Healthy Young People With No History of Smoking or Vaping: A Randomized Clinical Crossover Trial. JAMA pediatrics, e212351. Advance online publication. https://doi.org/10.1001/jamapediatrics.2021.2351
2. New study shows how quickly vaping can affect the cells of healthy younger nonsmokers: https://www.news-medical.net/news/20210809/New-study-shows-how-quickly-vaping-can-affect-the-cells-of-healthy-younger-nonsmokers.aspx
3. WHO REPORT ON THE GLOBAL TOBACCO EPIDEMIC, 2021: https://www.who.int/publications/i/item/9789240032095
4. Vaping shows a rapid increase in Canada without big gains in smoking cessation https://www.trc.or.th/en/vaping-shows-a-rapid-increase-in-canada-without-big-gains-in-smoking-cessation/

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org