ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยว่า ในช่วง 7-8 วันที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่กทม. ลดลงอยู่ที่ประมาณวันละ 3,000 – 4,000 ราย ส่วนหนึ่งมาจากการฉีดวัคซีนได้มากขึ้น ส่วนการรักษาแบบศูนย์พักคอยในชุมชน หรือ Community Isolation (CI) และการกักตัวที่บ้าน Home Isolation (HI) ทำให้สถานการณ์ไม่แย่ลงไปมาก

"เตียง CI ช่วงแรกที่เปิดมีผู้เข้าใช้บริการประมาณ 80 % ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 40-50 % โดยผู้ป่วยที่แยกกักตัว HI ค่อนข้างทำได้ดี มี 2 ตัวแปร ที่ทำให้ผู้ป่วยมีจำนวนลดลงคือ HI มีศักยภาพมากขึ้น และ จำนวนการฉีดวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมี CI ทั้งหมด 70 แห่ง ปัจจัยที่ทำให้ CI น้อยลงมาจากการขยายศักยภาพการดูแลประเมินสถานการณ์โดยมี HI มาช่วย ร่วมทั้งมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น ตัดวงจรการระบาดเร็วขึ้น" ร.ต.อ.พงศกร กล่าว

โฆษก กทม. กล่าวถึงการจัดตั้งศูนย์แยกกักในชุมชน (Semi Community Isolation) หรือ Semi CI ความร่วมมือระหว่างกทม. ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคมของสำนักงานเขต ร่วมกับ ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ คณะกรรมการชุมชน จิตอาสาในชุมชน และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) คอยให้การดูแลผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง และพร้อมส่งต่อทันทีหากมีอาการรุนแรงขึ้น โดยขณะนี้มีทั้งหมด 57 แห่ง จำนวน 1,427 เตียง ในขณะที่ CI ของ กทม. จากทั้งหมดประมาณ 10,000 เตียง ขณะนี้เหลือราวๆ 5,000 เตียง อย่างไรก็ตาม กทม. จะรอดูผลการประชุม ศบค. ในวันพรุ่งนี้ว่าจะสามารถเสนอให้มีการผ่อนคลายมาตรการได้หรือไม่ ซึ่ง ศบค.จะพิจารณาจาก 2 ปัจจัย คือ จำนวนผู้ติดเชื้อและจำนวนการฉีดวัคซีน

"ในเดือนหน้าจะมีวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า เข็มที่ 2 ให้กับผู้ที่เริ่มฉีดเข็มแรกตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา หากมีวัคซีนทางเลือกอื่นมากพอก็จะมีการจัดสรรให้ กทม. วัคซีนทางเลือกโมเดอร์น่า ซิโนฟาร์ม และอื่นๆ ทางกทม. จะซื้อทุกยี่ห้อ และซื้อให้มากที่สุด มีงบเตรียมไว้แล้ว ซึ่งวัคซีนที่จะได้จากรัฐบาลเช่นไฟเซอร์ ซิโนแวค และแอสตร้าเซเนก้า ขณะนี้มีเยอะมาก" ร.ต.อ.พงศกร กล่าว

ทั้งนี้ ตัวเลขผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ใน กทม. อยู่ที่ 6,717,824 ราย คิดเป็น 80 % ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 แล้วมีจำนวน 1,591,453 ราย คิดเป็น 20 % จากที่ตั้งเป้ารวมประชากรแฝงทั้งสิ้นประมาณ 7.7 ล้านคน

โฆษก กทม. ยังกล่าวถึงโครงการรถฉีดวัคซีนถึงบ้าน Bangkok Mobile Vaccine (BMV) ว่าสัปดาห์หน้าจะมีการเปิดโครงการ โดยกลุ่มเป้าหมายของรถฉีดวัคซีนในช่วงแรกคือกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง โดยเข้าไปในชุมชนเก็บตกกลุ่มเสี่ยง จากเดิมที่ CCRT 1 ทีม เข้าไปในชุมชนใช้เวลาทั้งวัน ใช้บุคลากรประมาณ 20-30 คน รถฉีดวัคซีนจะเป็นการลดบุคลากรทางการแพทย์ใช้เพียง 5 ราย สะดวกมากขึ้น ไปในสถานที่มีผู้ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน เช่นคนเร่ร่อน ซึ่งต้องการจะให้ได้รับวัคซีนให้มากที่สุดเพราะจะมีผลต่อ กทม.โดยงบประมาณทั้งหมดได้มาจากภาคเอกชน

ด้าน นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์กล่าวว่า จากจำนวนผู้ติดเชื้อ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าผู้ติดเชื้อใน กทม. ลดน้อยลง จากวันที่ 5-12 ส.ค. มีตัวเลขกว่า 4,500 ราย ในวันที่ 12-19 ส.ค. 4,150 ราย และ 19-26 ส.ค. อยู่ที่ 4,150 รายเช่นกัน ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มคงที่ ยังคงต้องเข้มงวด DMHTT( เว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ ตรวจให้ไว ใช้ไทยชนะ) ต่อไป