ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศบค.มีมติคงพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด  29 จังหวัด ยัง “เคอร์ฟิว -WFH” อย่างน้อย 14 วัน พร้อมผ่อนคลายร้านอาหารห้องแอร์ นั่งกินได้ 50% ส่วนร้านนอกอาคารนั่งได้ 75% ขณะที่ห้างสรรพสินค้า เปิดได้บางกิจการ เช่น ร้านตัดผม ร้านนวด(เฉพาะนวดเท้า) เริ่ม 1 ก.ย. 64 ส่วนเดินทางข้ามจังหวัดทำได้ภายใต้เงื่อนไข ย้ำทั้งหมดต้องปฏิบัติมาตรการ COVID-Free Setting และ Universal Prevention

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 27 ส.ค.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด19 หรือ ศบค. แถลงข่าวภายหลังการประชุม ศบค. มาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ ว่า วันนี้ในที่ประชุม ศบค. ไม่ได้มีการพิจารณาปรับสีพื้นที่เสี่ยง แต่มีการเพิ่มมาตรการให้เข้มงวดขึ้น อย่างไรก็ตาม ในการประชุม ศบค. มีการนำเสนอข้อพิจารณาในการควบคุมโรค โดยสถานประกอบการได้มีการหารือกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานภาครัฐนำเสนอมาตรการต่างๆ ซึ่งมาจากสมาคมภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการต่างๆ โดยนำเสนอมาตรการเข้มงวดว่า หากมีการเปิดกิจกรรม กิจการต้องดำเนินการอย่างไร

ทั้งนี้ ศบค.ได้พิจารณาอย่างรอบคอบ และได้ข้อสรุปว่า แม้จำนวนผู้ติดเชื้อจะยังไม่ลดลงมาก แต่วันนี้สอดคล้องกับที่ท่านปลัด สธ.นำเสนอว่า สถานการณ์ทั่วโลกยังสามารถพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง แต่เราต้องพลิกมุมมอง เพราะโควิดไม่ได้หายไปไหน แต่เราต้องปรับตัว รับมือให้อยู่กับโรคอย่างปลอดภัย ทั้งส่วนบุคคล ครอบครัว และสังคม โดยได้มีการปรับกลยุทธ์ และสร้างความมั่นใจให้การควบคุมโรคสอดคล้องกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างปลอดภัย โดยการเสนอมาตรการครั้งนี้ เป็นมาตรการควบคุมโรคแนวใหม่ที่สมดุลกับการดำเนินชีวิตที่ปลอดภัยจากโควิด

00 ยังคงเดิมพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด และยังเคอร์ฟิว -WFH เช่นเดิมอย่างน้อย 14 วัน

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวอีกว่า สำหรับจังหวัดเสี่ยงยังไม่มีการปรับสีแต่อย่างใด ยังเหมือนเดิม โดยพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ตาก นครปฐม นครนายก นครราชสีมา นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ยะลา ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สงขลา สิงห์บุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง

“โดยท่านปลัด สธ. เสนอให้จังหวัดเหล่านี้ยังต้องคงมาตรการสังคม ทั้งเคอร์ฟิว และ” Work From Home (WFH) อย่างน้อย 14 วัน ยังต้องมีอยู่ และยกระดับมาตรการโรคส่วนบุคคลที่เรียกว่า การป้องกันโรคแบบครอบจักรวาล รวมทั้งมาตรการองค์กร เพื่อลดการป่วยและเสียชีวิต” พญ.อภิสมัย กล่าว

00 ผ่อนคลายกิจการ/กิจกรรม พร้อมยกระดับมาตรการ COVID-Free Setting และ Universal Prevention

ทั้งนี้ การปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด19 จะแบ่งเป็น

1.การยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด สำหรับเปิดกิจการ/กิจกรรมให้ปลอดภัย และยั่งยืนด้วยหลักการ COVID-Free Setting และ Universal Prevention (ข่าวเกี่ยวข้อง : ทำความเข้าใจ Universal Prevention หรือการป้องกันโควิดครอบจักรวาล)

2. การเปิดกิจการ/กิจกรรมสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ภายใต้มาตรการที่กำหนด ได้แก่ การเดินทางข้ามจังหวัดจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดได้ การเปิดบริการของร้านอาหาร การปรับมาตรการสำหรับกิจการห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ การเปิดกิจการ กิจกรรมบางประเภท ได้แก่ ร้านเสริมสวย ร้านนวด เฉพาะนวดเท้า การใช้อาคารของสถานศึกษา และการเปิดใช้สนามกีฬา

พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล Universal Prevention หรือการป้องกันแบบครอบจักรวาล คือการระมัดระวังตนเองขั้นสูงสุดตลอดเวลาของทุกคน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเน้นย้ำว่า ขอให้เราคิดเสมอว่า ทุกคนที่อยู่รอบตัวเราไม่ว่าจะสนิทแค่ไหน อาจเป็นผู้ติดเชื้อแฝงกันทั้งหมด ส่วนมาตรการองค์กร จะใช้คำว่า COVID-Free Setting หากเป็นโรงเรียนต้องทำให้เป็นสถานที่ปลอดโควิด หากเป็นสถานที่ทำงาน โรงงานก็เช่นกัน

โดย COVID-Free Setting มีเกณฑ์ 3 ส่วน คือ เรื่องสิ่งแวดล้อมต้องมีการระบายอากาศ สุขอนามัยที่เหมาะสม มีการเว้นระยะห้าง อันนี้เป็นข้อบังคับที่ต้องทำให้ได้ มีการระดมฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มภาคบริการ โดยจะเร่งฉีดวัคซีนให้ครบ 2 เข็ม และสนับสนุนให้มีการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจATK ที่เข้าถึงได้ง่าย อย่างสถานประกอบการจัดหาชุดตรวจให้พนักงานทุกๆสัปดาห์ เพื่อยืนยันว่าปลอดผู้ติดเชื้อ รวมทั้งให้มีนำเสนอป้าย เช่น ร้านนี้ผู้ให้บริการรับวัคซีนครบแล้ว เป็นต้น ส่วนลูกค้าก็เช่นกัน ต้องร่วมมือกับมาตรการของร้านค้า และลูกค้าจะมีเรื่องการฉีดวัคซีนเช่นกัน และการตรวจ ATK ก่อนรับบริการ

00 เริ่มผ่อนคลาย 1 ก.ย.64 กิจการไหนพร้อมดำเนินการได้ แต่ต้องผ่านคกก.โรคติดต่อในพื้นที่

“ทั้งหมดเป็นมาตรการที่จะทำให้ร้านค้า กิจการ กิจกรรมเปิดได้มากขึ้น และจะมีการติดตามการประเมินผล ซึ่งจะไม่ใช่แค่ภาครัฐ แต่จะรวมถึงสมาคมต่างๆที่ดูแลด้วย โดยมตินี้สามารถเริ่มใช้ได้วันที่ 1 ก.ย.2564 โดยขอย้ำว่า จะดำเนินการได้ต้องผ่านคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดทำการประเมินก่อนว่า มีความพร้อมแล้วหรือไม่ อย่างไร อย่างบางกิจการมีความพร้อม มีชุดตรวจ ATK รองรับพนักงาน ซึ่งตรงนี้ไม่ได้บังคับ เป็นการใช้นำร่อง หากยังไม่พร้รอมก็ศึกษารายละเอียดไปก่อน โดยขอความเห็นจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือสมาคมภัตตาคาร สมาคมที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น” พญ.อภิสมัย กล่าว

ผู้ช่วย โฆษก ศบค. กล่าวว่า การเร่งรัดการฉีดวัคซีน เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้แผนเป็นไปได้ โดยต้องเร่งรัดฉีดให้กลุ่มเสี่ยง 608 ทั้งผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ และในกิจกรรม กิจการเสี่ยง ทั้งการแพทย์และสาธารณสุข การขนส่งสาธารณะ การบริการ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้มีการพูดถึงอาชีพเสี่ยงอื่นๆ ที่ให้บริการลูกค้า เช่น พนักงานตัดผม หรือพนักงานส่งอาหาร รวมทั้งระดมฉีดวัคซีนในพื้นที่เสี่ยง 29 จังหวัด นอกจากนี้ ยังต้องเร่งรัดการสร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงชุดตรวจ ATK โดยเน้นย้ำพื้นที่เสี่ยง และจะทยอยอนุญาตให้เปิดกิจกรรม/กิจการต่อไป ซึ่งในส่วนชุด ATK หลังลงนาม บริษัทจะสามารถจัดส่งได้ภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งจะทำให้ประชาชนเข้าถึงได้มากขึ้น

00 รายละเอียดผ่อนคลายมาตรการ “เดินทางข้ามจังหวัด- เปิดร้านอาหาร-ห้างสรรพสินค้าเปิดได้อะไรบ้าง”

อย่างไรก็ตาม สำหรับรายละเอียดมาตรการผ่อนคลายมาตรการ ประกอบด้วย

1.การเดินทางข้ามจังหวัดจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ขอย้ำเรื่องการเดินทาง ขอให้เป็นเหตุกรณีจำเป็นเท่านั้น และผู้ป่วยจะกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนาของตน ขอให้เข้าโครงการภาครัฐ อย่าเดินทางเอง ส่วนระบบขนส่งสาธารณะจำกัดจำนวนผู้โดยสารไม่เกิน 75% สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ห้ามรับประทานอาหารขณะโดยสารรถขนส่งสาธารณะ ซึ่งกรณีนี้คือพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

2.การเปิดบริการในส่วนร้านอาหารก็ยังเน้นย้ำว่า หากร้านอาหารอยู่นอกอาคาร เป็นที่โล่ง อากาศถ่ายเทได้ดี ให้นั่งรับประทานได้ 75% แต่หากเป็นร้านที่มีเครื่องปรับอากาศ ให้นั่งรับประทานได้ 50% และต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญต้องมีการกำกับติดตาม โดยผู้ประกอบการ สมาคมภัตตาคารไทย และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร

3.ส่วนห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ จำแนกได้ดังนี้

* กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มกิจการ/กิจกรรมเปิดได้ ได้แก่ ร้านเสริมสวยเปิดได้เฉพาะตัดผม เปิดได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง และต้องมีการัดคิว ส่วนร้านนวดเป็นได้เฉพาะนวดเท้า คลินิกเสริมความงาม เปิดจำหน่ายสินค้าเท่านั้น และต้องนัดหมายล่วงหน้า ขณะที่ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ก็ให้เปิดได้ตามเงื่อนไขและมาตรการของร้านอาหาร

*กลุ่มที่ 2 ที่ยังไม่สามารถเปิดกิจการได้ คือ สถาบันกวดวิชา โรงภาพยนตร์ สปา สวนสนุก สวนน้ำ ฟิตเสนส ห้องออกกำลังกาย สระว่ายน้ำ และห้องจัดประชุม จัดเลี้ยง

“ผู้ประกอบการต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด และกำกับติดตามมาตรฐาน โดยสภาหอการค้าไทย และคณะคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ เปิดได้ถึงเวลา 20.00 น.” พญ.อภิสมัย กล่าว

4.สำหรับการเปิดกิจการ/กิจกรรมบางประเภท ได้แก่ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม ร้านนวด(เฉพาะนวดเท้า) อยู่นอกห้างเปิดได้แต่ต้องเป็นไปตามมาตรการ 5.การใช้อาคารของสถานศึกษา ยังไม่เปิดเรียน แต่สามารถใช้อาคารได้โดยผ่านความเห็นชอบของผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษาฯ ในพื้นที่ร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร หมายความว่า หากบางแห่งจำเป็นต้องจัดการสอบก็ให้ทำเรื่องขออนุญาตเป็นกรณีไป 6. การเปิดใช้สนามกีฬาและสวนสาธารณะ สามารถเปิดได้แต่ต้องไม่มีผู้ชม โดยแจ้งให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานครให้ทราบก่อน โดยเปิดได้ถึง 20.00 น.

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org