ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สวนดุสิตโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชน ต่อกรณีความต้องการของคนไทยในยุคโควิด-19 พบต้องการวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และฉีดครบ 100% สูงสุดถึงร้อยละ 84.12 รองลงมาต้องการสิทธิในการรักษาโควิดอย่างเท่าเทียม และให้ความสำคัญกับบุคลากรการแพทย์ด่านหน้าเป็นสำคัญ

เมื่อวันที่ 29 ส.ค.2564 น.ส.พรพรรณ บัวทอง นักวิจัยสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณีความต้องการของคนไทย ในยุคโควิด-19 กลุ่มตัวอย่าง 1,510 คน ระหว่างวันที่ 23-26 สิงหาคม 2564 พบว่า ความต้องการอันดับ 1 ของประชาชน ณ วันนี้ คือ การมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ประชาชนได้ฉีดวัคซีนครบทุกคน ร้อยละ 84.12 โดยความหวังที่คิดว่าน่าจะสมหวัง คือ การได้รับถุงยังชีพ อาหาร น้ำดื่ม ร้อยละ 67.44 ความหวังที่คาดว่าน่าจะผิดหวัง คือ รัฐบาลจริงใจในการแก้ปัญหา ร้อยละ 90.64 ตัวช่วยที่ประชาชนฝากความหวังมากที่สุด คือ ตนเอง ร้อยละ 68.39

“ภาพรวมความต้องการของประชาชน ณ วันนี้ คืออยากให้รัฐบาลเร่งควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ให้ได้โดยเร็ว ด้วยการนำเข้าวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงและฉีดให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง เพราะมองว่าวัคซีนจะช่วยให้กลับมาใช้ชีวิต ได้ปกติและเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ หากรัฐบาลเร่งดำเนินการแก้ปัญหาตามความต้องการของประชาชนครั้งนี้ ก็จะส่งผลให้ประเทศไทยฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้เร็วขึ้น” น.ส.พรพรรณ กล่าว

ดร.ขวัญนภา สุขคร ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกที่ตั้ง ลำปาง กล่าวว่า จากผลโพล พบว่า สิ่งที่ประชาชนต้องการมากที่สุด คือ กระบวนการบริหารจัดการของภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1) การป้องกัน ประชาชนต้องการวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และฉีดครบ 100% 2) การดูแลรักษา ต้องการการดูแลรักษาที่เท่าเทียม และให้ความสำคัญต่อบุคลากรด่านหน้า และ 3) การฟื้นฟู ต้องการให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเดินหน้า

อย่างไรก็ตาม ผลโพลสะท้อนให้เห็นว่า สิ่งที่ประชาชนสมหวังเป็นเพียงการแจกจ่ายสิ่งของและเงินช่วยเหลือ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริงของประชาชน และการช่วยเหลือส่วนใหญ่ก็มาจากภาคประชาชนด้วยกันเอง ประชาชนจึงผิดหวังต่อการแก้ไขปัญหาของภาครัฐที่ขาดความจริงใจ และไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ภาครัฐจึงต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการให้ มากที่สุด โดยเริ่มจากความจริงใจ รับฟังความคิดเห็น มีแผนที่ชัดเจนทั้งแผนการป้องกัน แผนการดูแลรักษา และแผนการฟื้นฟู สื่อสารไปยังประชาชนได้เข้าใจ สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น จึงจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ตรงกับความต้องการที่แท้จริง

สำหรับรายละเอียดกรณี “สวนดุสิตโพล”มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,510 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 23-26 สิงหาคม 2564 สรุปผลได้ ดังนี้