ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรคเผยรายละเอียดประสิทธิผลของการฉีดวัคซีนในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้จริง ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 22 ค่อยๆเพิ่มขึ้น จนถึงสัปดาห์ที่ 34 ฉีดครอบคลุมถึง 41.45% และเมื่อเปรียบเทียบเส้นกราฟอัตราการป่วยและเสียชีวิตของคนอายุ 60 ปีนั้น พบว่า สัปดาห์ที่ 25 เป็นจุดสูงสุดเกือบ 20% หรือ 1 ใน 5 แต่เมื่อมีการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นพบว่า สัปดาห์ที่ 30 ลดลงครึ่งหนึ่งเหลืออยู่ 9.27%

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 30 ส.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงข่าวผ่านระบบออนไลน์ประเด็นประสิทธิผลของการฉีดวัคซีนต่อการป่วยหนักและเสียชีวิต ว่า สำหรับข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด19 เมื่อวาน (29 ส.ค.) จำนวน 275,188 โดส ซึ่งตัวเลขอาจดูน้อยลงมา เนื่องจากเป็นวันอาทิตย์ แต่ตัวเลขเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาเป็นตัวเลขสูงมากกว่า 9 แสนโดส ซึ่งปริมาณการฉีดวัคซีนแต่ละวันจะมีปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งมีขึ้นมีลง แต่ภาพรวมทิศทางสามารถเพิ่มกำลังการฉีดได้

โดยยอดรวมสะสมการฉีดวัคซีนตั้งแต่ 28 ก.พ.2564 จนถึงวันที่ 29 ส.ค.25645 เวลา 18.00 น. อยู่ที่ 30.9 ล้านโดสแล้ว แยกเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 23 ล้าน ซึ่งครอบคลุมสูงถึง 32% ขณะที่เข็มที่สอง ฉีดแล้วกว่า 7.3 ล้านราย คิดเป็นความครอบคลุมเข็ม 2 อยู่ที่ 10.2% ซึ่งความห่างกันนั้น เป็นที่ระยะเวลาการฉีดห่างกันด้วย ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดวัคซีน อย่างกรณีแอสตร้าฯ เข็ม 1 และ 2 จะมีระยะห่างประมาณ 3 เดือน อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ไป ประเทศไทยใช้วัคซีนฉีดไขว้ เป็นสูตรหลัก คือ ซิโนแวคเข็มที่ 1 และแอสตร้าฯเข็มที่ 2 ห่างกันเพียง 3 สัปดาห์จะทำให้เข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 จะใกล้เคียงมากขึ้น

ทั้งนี้ การครอบคลุมการได้รับวัคซีนโควิดสะสมในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-29 ส.ค.64 นั้น โดยในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด ฉีดเข็มที่ 1 ครอบคลุมไปแล้ว 68.8% ส่วนจังหวัดอื่นๆ 64 จังหวัด ครอบคลุมเข็มที่ 1 อยู่ที่ 35.2% โดยภาพรวมทั้งประเทศครอบคลุมเข็มที่ 1 อยู่ที่ 43.8% ซึ่งเป็นทิศทางที่เราเน้นในกลุ่มที่มีความเสี่ยง เพราะเป็นกลุ่มที่หากรับเชื้อจะมีอาการรุนแรง และเสี่ยงเสียชีวิตได้ เมื่อแยกตามกลุ่มเป้าหมายพบว่า ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ครอบคลุมเข็มที่ 1 อยู่ที่ 43.8% กลุ่มที่มีโรคเรื้อรังใกล้เคียงกันคือ 41.1% ส่วนกลุ่มหญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปเข็มที่ 1 ยังครอบคลุม 7.5% จึงขอแนะนำให้ไปฉีดวัคซีนเช่นกัน

“สำหรับการฉีดวัคซีนในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป เห็นว่ามีการไต่ระดับขึ้นไป โดยตั้งแต่สัปดาห์ที่ 22 ค่อยๆเพิ่มขึ้น จนถึงสัปดาห์ที่ 34 ฉีดครอบคลุมถึง 41.45% และเมื่อเปรียบเทียบเส้นกราฟอัตราการป่วยและเสียชีวิตของคนอายุ 60 ปีนั้น พบว่า สัปดาห์ที่ 25 เป็นจุดสูงสุดเกือบ 20% หรือ 1 ใน 5 แต่เมื่อมีการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นพบว่า สัปดาห์ที่ 30 ลดลงชัดเจนครึ่งหนึ่งเหลืออยู่ 9.27%” นพ.เฉวตสรร กล่าว

นพ.เฉวตสรร กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม ขอให้ข้อมูลว่า เวลาที่วิเคราะห์ข้อมูลเมื่อผู้เสียชีวิตรายงานเข้ามา เราไม่ได้คิดตามสัปดาห์ที่รายงานการเสียชีวิต แต่จะย้อนข้อมูลว่า สัปดาห์ที่วินิจฉัยที่พบการติดเชื้อ คือ เมื่อไหร่ ต้องนับสัปดาห์นั้น ดังนั้น สัปดาห์ที่ 31 -34 อาจมีข้อมูลค่อยๆมาเติมในอนาคต เพราะการรักษาของผู้ป่วยแต่ละคนจะใช้เวลาแตกต่างกัน ส่วนข้อมูลที่ค่อนข้างสมบูรณ์ คือ การเสียชีวิตลดลงจาก 18 % เป็น 9.27% ส่วนการป่วยหนัก มีปอดอักเสบก็ทิศทางแบบเดียวกัน จึงบ่งบอกว่าวัคซีนที่ฉีดครอบคลุมมากขึ้น ทำให้เปอร์เซ็นต์การเสียชีวิตในผู้สูงอายุลดลง

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ขอยกตัวอย่าง พื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่มีการเร่งรัดฉีดวัคซีนโควิดอย่างมาก โดยพบว่ามีการไต่ระดับสูงขึ้นจากสัปดาห์ที่ 22 อยู่ที่ 3.8% ประมาณสัปดาห์ที่ 30 ขึ้นไปถึง 78.42% จนสัปดาห์ที่ 34 ขึ้นถึง 96.03% ส่วนอัตราการเสียชีวิตสัปดาห์ที่ 25 เปอร์เซ็นต์การเสียชีวิตอยู่ที่ 28% พอมาสัปดาห์ที่ 30 เหลือ 12.97% ลดลงเกือบครึ่ง น่าจะเป็นผลจากการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุม ส่วนทิศทางการป่วยหนักก็มีทิศทางเช่นเดียวกัน ส่วนตัวอย่างชายแดนภาคใต้ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีนั้น แม้ตัวเลขการฉีดวัคซีนจะไม่สูงเท่ากรุงเทพฯ แต่อัตราป่วยและเสียชีวิตก็ลดลงตามการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นจากเดิมเช่นกัน ขณะที่จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 19 จังหวัดระหว่างสัปดาห์ที่ 20-34 ก็มีแนวโน้มเหมือนกัน อย่างสัปดาห์ที่ 34 ได้วัคซีน 36.71% ตัวเลขผู้ป่วยและเสียชีวิตลดลงมาก ส่วนจังหวัดอื่นๆก็เช่นเดียวกัน

“มีคำถามว่า ตัวเลขรายย่อยเฉพาะกลุ่มอายุดูลดลง แต่ทำไมภาพรวมผู้ป่วยติดเชื้อยังไม่ลดลง ต้องเรียนว่า การดูแลผู้ป่วยมีระยะเวลาสั้นยาวแตกต่างกัน ซึ่งคลื่นการระบาดที่พบป่วยวันละ 2 หมื่นรายเป็นช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งคนที่รักษาก่อนหน้าอาจหาย หรือเสียชีวิตก็จะไล่หลังตามมา ดังนั้น ยอดเพดานสูงสุดของการเสียชีวิตจะคงระดับอยู่และน่าจะลดลงหลังจากนี้” นพ.เฉวตสรร กล่าว