ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ถอดบทเรียน “หมออนามัย” รุกคืบแก้ปัญหาอุบัติเหตุท้องถนน ยุคโควิด ผนึกพลังชุมชน แก้ไขจุดเสี่ยงในพื้นที่ “สสส.” เผยมาตรการล็อคดาวน์ - งดขายเหล้า ช่วยลดคนนเมา เจ็บ ตายบนถนน กว่า 10%

เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 64 ที่ผ่านมา  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สมาคมเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ การจัดเสวนา “ร่วมสร้างตำบลขับขี่ปลอดภัย ไปกับหมออนามัยในสถานการณ์โควิด -19” เผยแพร่ผ่านเพจเฟสบุ๊ค “สมาคมเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ” โดยมีน.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. นายบุญเรือง ขาวนวล รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง นายกสมาคมเครือข่ายหมออนามัย น.ส.ดวงสมร ดวงใจ เจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญงาน สำนักงานสาธารณสุขอำเภออรัญประเทศ  นายธนาธิป บุญญาคม นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ผอ.รพ.สต.สระพัฒนา และนายอภิชาต เมืองไชย เจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนายการ รพ.สต.สาธารณสุขอำเภอรัตนวาปี ร่วมเสวนา

 
 

น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส.กล่าวว่า  ที่ผ่านมา ข้อมูลจากบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน อยู่ที่  20-60 รายต่อวัน ปีละกว่า 2 หมื่นราย หากไม่ลดจำนวนผู้เสียชีวิตรายวัน จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศย่ำแย่ด้วยเพราะต้องดูแลค่าใช้จ่ายผู้เสียชีวิต ค่ารักษาพยาบาล ครอบครัวผู้สูญเสียเสาหลัก ล้วนเป็นปัญหาสุขภาวะ ดังนั้นต้องหาวิธีป้องกันให้ได้ ในช่วงกลางปี 63 ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีการล็อคดาวน์ มีมาตรการงดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สามารถลดอุบัติเหตุจากการดื่มแล้วขับได้ด้วย ในขณะที่ปลายปี มีการยกเลิกการตั้งด่านตรวจเมาก็ทำให้การเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มแล้วขับเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันสถานการณ์การลดอุบัติเหตุทางท้องถนนมีแนวโน้มลดลง โดยปี 2563 มีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 17,831 ราย หรือลดลง 10% จากปี 2562 ส่วนปี 2564 ข้อมูลถึงเดือน ส.ค. เสียชีวิต 8,862 ราย
 
“ข้อมูลปี 2563 มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 49 รายต่อวัน จากเดิมเฉลี่ยวันละ 60 ราย ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จากบทเรียนนี้ ทำให้เห็นว่า มาตรการที่ใช้ลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สามารถนำมาพิจารณาใช้ในการลดอุบัติเหตุทางถนนได้ด้วยเช่นกัน การลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการเพิ่มการตั้งด่านตรวจเมา นอกจากนี้ การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดำเนินการทั้งประเทศไม่ใช่ทำแค่ส่วนกลาง เพราะข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ปี 2562 สรุปมี 283 อำเภอเสี่ยง หรือ 32% ของอำเภอทั่งประเทศ มีการคำนวณคร่าวๆ ว่าหากดูแลได้ดีจะสามารถลดการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุได้ 65%” น.ส.รุ่งอรุณ กล่าว
 
น.ส.รุ่งอรุณ กล่าวต่อว่า 283 อำเภอเสี่ยง ส่วนใหญ่ เป็นอำเภอเมือง ที่มีพื้นที่กว้าง ความเสี่ยงหลากหลายทั้งคน รถ ถนน การดำเนินการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุอาจทำได้ยาก   ดังนั้น สสส.จึงลงไปสนับสนุนความร่วมมือตั้งแต่ระบบตำบล ซึ่งมีเครือข่ายหมออนามัย ที่มีความใกล้ชิดกับคนในพื้นที่ รู้สภาพปัญหาของพื้นที่ดีสามารถชี้ว่าวิธีไหนยาก วิธีไหนง่าย ทั้งนี้ที่จริง สสส.มีการทำงานร่วมกับหมออนามัยมานาน หลายคนเกษียณอายุแล้ว ระยะหลังเริ่มมีการสนับสนุนหมออนามัยรุ่นใหม่ให้ขับเคลื่อนงาน

ส่วนผู้ใหญ่ก็ขยับไปเป็นที่ปรึกษา ทำให้การทำงานเป็นรูปธรรมมากขึ้น และหวังว่าจะเป็นโครงการที่เข้าตากระทรวงมหาดไทย ให้หมออนามัยเป็นทีมสุขภาพที่หนุนเสริมการทำงานในพื้นที่ในโครงการตำบลขับขี่ปลอดภัยด้วย ทั้งนี้ปัจจัยความสำเร็จคือความร่วมมือกันของประชาชนและเครือข่ายในพื้นที่และการเชื่อมประสานการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานในระดับพื้นที่ โดยบางครั้งการเริ่มต้นจากการแก้ไขปัญหาง่ายๆ ให้สำเร็จก่อน ถือเป็นกำลังใจในการเดินหน้าสู่การแก้ไขปัญหาที่ยากขึ้น
 
นายบุญเรือง ขาวนวล นายกสมาคมเครือข่ายหมออนามัย กล่าวว่า เครือข่ายหมอนามัยมีการทำงานร่วมกับสสส.เพื่อสร้างเสริมสุขภาพมาตั้งแต่ปี 2546 ต่อมาพบปัญหาสุขภาพมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น การทำงานของเครือข่ายหมออนามัยจึงต้องมีการปรับตัว เริ่มสานต่อเป็นโครงการผู้นำหมออนามัยรุ่นใหม่ขึ้น เพื่อเสริมระบบสุขภาพชุมชนให้เข้มแข็ง จึงได้วางหลักสูตรหมออนามัยอะคาเดมี Mohanamai Academy ที่เป็นหมออนามัยรุ่นใหม่ มีใจทำงานชุมชน และทำงานด้านการจัดการปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ โดยมีแนวคิดว่าหมออนามัยจะไม่ใช่เพียงเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอย่างเดียว แต่จะต้องมีบทบาทเสริมระบบสุขภาพชุมชนให้เข้มแข็ง ควบคู่การดูแลความปลอดภัยในชุมชนด้วย

การทำงานเรื่องอุบัติเหตุ ต้องประสานงานกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการทำงานได้เหมาะสมกับชุมชน แม้จะมีอุปสรรคการทำงานบ้างแต่เครือข่ายหมออนามัยไม่มีท้อ ก็มีการปรับการทำงานให้เข้ากับสถานการณ์เสมอ โดยเฉพาะตอนนี้มีโควิด 19 ระบาดก็ปรับการทำงานให้เชื่อมโยง ครอบคลุมการควบคุมป้องกันโรคโควิด 19และการลดอุบัติเหตุทางถนนควบคู่กันไป เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน
 
นายธนาธิป บุญญาคม ผอ.รพ.สต.สระพัฒนา กล่าวว่า การแก้ปัญหาสุขภาพหลายๆ เรื่องไม่สามารถสำเร็จได้จากการ ตั้งรับที่รพ.ใหญ่ ต้องมีการขับเคลื่อนงานส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคในระดับชุมชน ซึ่งหมออนามัยซึ่ง มีความใกล้ชิดและรู้จักพื้นที่ชุมชนของตัวเอง ทำให้สามารถขับเคลื่อนงานนโยบายกระทรวง ระดับประเทศ จังหวัด และระดับพื้นที่ ในเรื่องการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง รวมถึงงานลดอุบัติเหตุทางท้องถนนด้วย และขยายต่อการทำงานให้กับหมออนามัยรุ่นสู่รุ่น เรียกว่ายุทธศาสตร์ความดีต่อความดี เลือกจุดเสี่ยงแก้ปัญหาพื้นที่ และแก้ไขพฤติกรรมของคน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน จึงเข้าไปทำงานให้ความรู้ในโรงเรียน จากเดิมทำงานแบบจิตอาสาก็มีหน่วยงานเข้ามาสนับสนุนมากขึ้น รับลูกไปดำเนินการต่อด้วย ทำให้งานป้องกันอุบัติเหตุเติบโต มีเจ้าภาพในชุมชน อีกส่วนหนึ่งนับเป็นการฟอร์มทีมการทำงานเพื่อรองรับกับการสู้กับภัยสุขภาพต่างๆ ได้
 
น.ส.ดวงสมร ดวงใจ เจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญงาน สำนักงานสาธารณสุขอำเภออรัญประเทศ  กล่าวว่า ที่อรัญประเทศยังมีผู้ติดเชื้อโควิดทุกวัน และเป็น 1 ใน 3ของอำเภอที่มีอุบัติเหตุและเสียชีวิตบนท้องถนนมากที่สุดในจังหวัดสระแก้ว จึงเข้าร่วมโครงการตำบลขับขี่ปลอดภัย ร่วมกับอสม. อบต. คลองน้ำใส โดยเริ่มวิเคราะห์จุดเสี่ยงในพื้นที่ วิเคราะห์ปัญหาชุมชน และดูความพร้อมเดิมที่มีอยู่ ก่อนวางแผนการแก้ปัญหา เริ่มจากจุดเสี่ยงในพื้นที่ที่แก้ไขได้ง่ายก่อน แล้วดำเนินการแก้ไขโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก เช่น แขวงการทาง ดูแลเรื่องถนนต่างๆ ยกตัวอย่างที่เราทำคือการนำยางรถยนต์เก่ามาทำแบริเออร์ป้องกันอุบัติเหตุ ทำได้ 1 สัปดาห์ ช่วยชีวิตคนได้  4 คน ขณะนี้มีกรขยายการทำงานไปยังพื้นที่อื่นๆ มากขึ้น
 
ขณะที่นายอภิชาติ เมืองไชย เจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญการ รพ.สต.สาธารณสุขอำเภอรัตนวาปี กล่าวว่า อำเภอรัตนวาปี ไม่ได้เป็นอำเภอเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุสูงสุดของประเทศ แต่เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และได้รับการชักชวนกับเพื่อนพี่น้อง จึงเริ่มดำเนินโครงการ ทุกวันนี้ยังมีประชาชนที่ติดโควิด และทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนาทุกวัน นอกจากการดูแล ป้องกันเฝ้าระวังการแพร่ระบาดโควิดแล้ว เราก็ไม่ทิ้งเรื่องการขับขี่ปลอดภัย โดยทางฝ่ายปกครองรัตนวาปี ได้ประกาศเป็นพื้นที่ขับขี่ปลอดภัยเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความปลอดภัยทางถนน มีการอบรมนักเรียน และผู้นำชุมชนได้ช่วยในการผลักดันขยายไปยังพื้นที่ต่างๆ เช่น ได้มีการจัดทำพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ต่างตำบลได้ โดยดำเนินการแล้วใน 2 ตำบลคาดว่าเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายจะเพิ่มพื้นที่การทำงาน และขอสนับสนุนด้านวิทยากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org