ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. เยี่ยมชม “คลินิกกล้วยน้ำไท” ใช้ระบบพิสูจน์ตัวตนผู้ป่วยโควิด-19 ผ่าน “Line OA” ก่อนเข้ารับการดูแลแบบ Home isolation ช่วยลดขั้นตอน-ป้องกันการสวมสิทธิ์

เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย ดร.ทพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 13 กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ น.ส.ศิริพันธ์ เหมืองสิน หน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจ สปสช. ลงพื้นที่คลินิกเวชกรรมกล้วยน้ำไท สาขารามอินทรา 68 เขตคันนายาว กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ผ่านระบบการดูแลที่บ้าน (Home isolation : HI) และระบบการดูแลในชุมชน (Community isolation : CI) โดยใช้ระบบการพิสูจน์ตัวตน (Authentication Code) ของผู้ป่วยผ่าน Line OA เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์

นางจารุณี คูสุวรรณ ผู้จัดการคลินิกโครงข่ายโรงพยาบาลกล้วยน้ำไท เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางคลินิกรับดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยระบบ HI และ CI ประมาณ 3,500 ราย ทุกคนต้องยืนยันตัวตนว่าเป็นผู้เข้ารับบริการจริงด้วย “ระบบพิสูจน์ตัวตน” ผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งผู้ป่วยจะต้องสแกน QR Code เพื่อขอรหัส (Authen Code) มากรอก โดยในช่วงแรกพบว่าการยืนยันตัวตนมีกว่า 10 ขั้นตอน ปัจจุบันจึงเปลี่ยนใหม่ด้วยการใช้ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยขอรหัสได้ง่ายขึ้น ขั้นตอนสั้นลง ขณะนี้มีผู้ป่วยโควิด-19 ที่ยืนยันตัวตนผ่านระบบใหม่แล้วกว่า 500-600 ราย

“เมื่อ สปสช.จับคู่คลินิกกับผู้ป่วยแล้ว เราก็จะโทรหาผู้ป่วยเพื่อถามความประสงค์ว่าจะเข้าร่วมระบบ HI ภายใต้การดูแลของเราหรือไม่ ถ้าผู้ป่วยยืนยัน เราก็จะให้ผู้ป่วย add Line ของคลินิกเพื่อเพิ่มเพื่อน จากนั้นคลินิกก็จะส่งคลิปวิดีโอสอนวิธีการขอรหัสให้ พร้อมๆ กับ QR Code นั่นทำให้ผู้ป่วยสามารถยืนยันตัวเองผ่านโทรศัพท์มือถือได้เอง เมื่อผู้ป่วยได้รับรหัสบริการและยืนยันตัวตนแล้ว ก็จะถือว่าได้รับเป็นผู้ป่วยของคลินิก ซึ่งข้อดีของระบบนี้คือผู้ที่ใช้ไลน์สามารถทำได้ด้วยตัวเองและค่อนข้างรัดกุม” นางจารุณี กล่าว

นางจารุณี กล่าวว่า ขณะนี้ทางคลินิกได้ประสานกับสมาคมภัตตาคารไทย เพื่อให้ช่วยบริหารจัดการอาหารสำหรับจัดส่งให้ผู้ป่วย HI โดยจะใช้ร้านอาหารในเครือข่ายที่อยู่ใกล้บ้านผู้ป่วยเป็นหลัก ซึ่งจะช่วยให้มีความสะดวกรวดเร็ว อาหารมีความสดใหม่ และสามารถคุมคุณภาพของร้านอาหารได้ด้วย

น.ส.ศิริพันธ์ กล่าวว่า การขอรหัส Authen Code ทำได้ในหลายช่องทาง เช่น Line Official Account (Line OA) @nhso ของ สปสช. การยื่นบัตรประชาชน (Smart Card) ให้คลินิกนำไปยืนยันตัวตน หรือในกรณีที่ไม่มีบัตรและไม่มีสมาร์ทโฟน เจ้าหน้าที่ก็จะใช้วิธีการขอเลขบัตรประชาชน 13 หลัก รูปถ่าย และเบอร์โทรศัพท์เพื่อประกอบการยืนยันตัวตนได้

สำหรับระบบพิสูจน์ตัวตน เป็นระบบที่จะทำให้หน่วยบริการได้รับ Authen Code เพื่อนำไปเบิกจ่ายกับ สปสช. ซึ่งเป็นการยกระดับการตรวจสอบให้มีความเข้มข้นขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการสวมสิทธิ์ ซึ่งนอกจากการมาใช้ในระบบ HI แล้ว สปสช.ยังจะใช้กับบริการอื่นๆ ด้วย

ด้าน นพ.จักรกริช กล่าวว่า เดิมทีผู้ป่วยจะต้องถือบัตรประชาชนมาที่หน่วยบริการ แต่เมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 จะให้ผู้ป่วยมาไม่ได้เพราะอาจทำให้มีการแพร่เชื้อระหว่างเดินทาง ฉะนั้นจึงต้องอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วย อย่างไรก็ดี ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักและมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ขั้นตอนการยืนยันตัวตนก่อนหน้านี้อาจมีความยุ่งยากแก่หน่วยบริการและผู้ป่วย ฉะนั้น สปสช. จึงปรับระบบการยืนยันตัวตนผ่าน Line OA ใหม่ให้มีขั้นตอนที่กระชับขึ้น

ทั้งนี้ นโยบายของ สปสช. สนับสนุนให้คลินิกในพื้นที่ กทม. รับดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่ใกล้เคียงกับคลินิก ผ่านระบบ Home isolation โดยขั้นตอนการเข้าเป็นผู้ป่วยของคลินิกนั้นๆ จำเป็นต้องมีการยืนยันตัวตนก่อนเข้ารับบริการ เนื่องจากในอดีตเคยเกิดกรณีคลินิกชุมชนหลายแห่งใน กทม. ส่งรายการเบิกจ่ายค่าบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นเท็จ แอบอ้างรายชื่อผู้ใช้สิทธิบัตรทองมาเบิกจ่ายโดยไม่ได้ให้บริการจริง ทำให้รัฐเกิดความเสียหาย และทำให้ผู้ใช้สิทธิตัวจริงเสียประโยชน์และไม่ได้รับบริการสุขภาพอย่างที่ควรจะได้รับ

“ฉะนั้นการให้บริการสุขภาพต่างๆ ที่เบิกค่าใช้จ่ายกับ สปสช. จึงต้องมีการยืนยันตัวตนก่อนทุกครั้งเพื่อปกป้องสิทธิของผู้รับบริการ” นพ.จักรกริช ระบุ
 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org