ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากการศึกษาวิจัยของ มหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน พบว่าการตรวจเชื้อโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ การติดตามกลุ่มเสี่ยงจากการติดเชื้อ หรือแม้แต่การกักตัว สามารถลดการแพร่เชื้อได้ถึง 26% แต่อย่างไรก็ตามในแต่ละประเทศมีขีดความสามารถในการระงับการระบาดของโรคได้แตกต่างกัน และตัววัดระดับความสำเร็จในการควบคุมโรคค่อนข้างจะชี้วัดได้ยาก เนื่องจากขึ้นอยู่กับการตั้งเป้าหมายในแต่ละประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศนิวซีแลนด์ตั้งเป้าการระบาดให้ได้ใกล้เคียงกับศูนย์

ในขณะที่ประเทศอังกฤษใช้ระบบการตรวจเชื้อและการติดตามเพื่อให้การติดเชื้ออยู่ในระดับที่บริการสาธารณสุขสามารถรองรับได้ สโลวาเกียตัดสินใจใช้ระบบการตรวจหาเชื้อทั่วประเทศกับประชากร 5.5 ล้านคน เมื่อพบการติดเชื้อจากผู้ป่วยจะให้ผู้ป่วยรายนั้นทำการดาวน์โหลดแอพลิเคชันที่สามารถระบุตัวตนได้ทันทีว่าอยู่ในที่กักตัวหรือไม่ เมื่อถูกตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ ส่วนในด้านการตรวจหาเชื้อนั้น ออสเตรเลียเปิดกว้างให้ทุกคนสามารถตรวจ PCR ได้ฟรีโดยความสมัครใจภายใต้หลักประกันสุขภาพ ในขณะที่อังกฤษมีการตรวจ PCR ฟรีสำหรับคนที่มีอาการเท่านั้น

หนึ่งในวิธีที่ใช้วัดความสำเร็จในการควบคุมโรคที่ใช้กันมามากกว่าหนึ่งปี คือการใช้เกณฑ์มาตรฐานของ ไมเคิล ไรอัน กรรมการบริหารขององค์การอนามัยโลก ที่ดูแลด้านการอนามัยฉุกเฉิน โดยเขากล่าวว่า ควรจะมีการตรวจเชื้อโควิดเพิ่มอีก 10-30 เคส ในทุกๆหนึ่งเคสที่มีผลการตรวจเป็นบวก แต่ถ้าใช้มาตรฐานดังกล่าวจะพบว่า อิตาลี ญี่ปุ่น และสเปน จะไม่ผ่านเกณฑ์ดังกล่าว

แต่นิวซีแลนด์สามารถผ่านเกณฑ์ดังกล่าว ด้วยการตรวจเพิ่ม 1,543 เคส ต่อการตรวจพบเชื้อหนึ่งเคส ตามมาด้วย ไต้หวัน 1,481:1, ออสเตรเลีย 637:1 และสิงคโปร์ 534:1 เป็นต้น เช่นเดียวกับ ออสเตรียที่เป็นตัวอย่างในการจัดการโรคระบาดได้ดี สามารถตรวจเชื้อได้ถึง 662:1 หรือ 7,693:1,000 แต่ถ้าใช้เกณฑ์ดังกล่าวมาใช้วัดกับประเทศอังกฤษ ที่การควบคุมโรคไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากเท่าที่ควร จะพบว่าอังกฤษจะมีการตรวจหาเชื้อที่สูงที่สุดในโลก คือ 3,334:1,000 ซึ่งทำให้ผู้เชี่ยวชาญมีความลังเลที่จะบอกว่าประเทศใดประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวในการควบคุมโรค

อย่างไรก็ตาม มาเรีย แวน เคิร์กเฮิฟ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคขององค์การอนามัยโลก ได้ให้ความเห็นว่า หลายประเทศสามารถควบคุมการระบาดได้ทั้งดีและไม่ดี การตรวจหาเชื้อขึ้นอยู่กับความสามารถในการเข้าถึงเครื่องมือ และบุคลากรที่จะทำการตรวจเชื้อ นอกจากนี้ความสามารถในการเข้าถึงการตรวจแบบ PCR มีผลต่อศักยภาพของประเทศนั้นๆในการพัฒนาการตรวจหาเชื้อ และการติดตามกลุ่มเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมันจะต้องไม่ใช่เรื่องของการตั้งความหวัง แต่เป็นเรื่องที่จะต้องสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถเกิดขึ้นได้จริง

ด้านนาย เซบาสเตียน โคแนค ที่ทำงานด้านอนามัยฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า จริงๆแล้วมันไม่ใช่เรื่องของตัวเลข หรือการตรวจหาเชื้อให้ได้มากที่สุด แต่จะต้องมั่นใจว่าจะมีการตรวจหาเชื้อในเวลา และวิธีการที่ถูกต้อง ประเทศที่ตรวจหาเชื้อได้ดี จะต้องมียุทธศาสตร์ที่ถูกต้องเหมาะสมกับทรัพยากรที่มีอยู่ และจะต้องมีการประยุกต์ใช้ทั้งอุปสงค์และอุปทานในช่วงเวลาที่เกิดขึ้นจริงอย่างเหมาะสม

ในขณะที่นาย เจมส์ วูดส์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย นิวเซ้าส์ เวล ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า มีปัจจัยอยู่สามอย่างในการวัดความสำเร็จของการควบคุมโรค คือ การตรวจหาเชื้อและระบุผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็ว การแกะรอยสืบสวนโรค โดยการค้นหาผู้ป่วยที่มีอาการและบุคคลที่สัมผัส และสุดท้ายคือการติดตามผู้ติดเชื้อ และนำเข้าสู่กระบวนการการกักกันโรคอย่างเคร่งครัด ซึ่งจะทำให้การควบคุมโรคเป็นไปได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ เขายังมองว่าวิธีการตรวจหาเชื้อต่อหัวประชากร ยังไม่มีความสำคัญเท่ากับการการตรวจหาในกลุ่มเสี่ยงที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของสายพันธุ์เดลต้า จึงจำเป็นต้องหากลุ่มเสี่ยง และผู้สัมผัสอย่างรวดเร็วก่อนที่โรคจะแพร่กระจายจนเกินกว่าการควบคุม ในบางประเทศอย่างเช่น ญี่ปุ่น และเกาหลีจะใช้วิธีตรวจค้นหาในกลุ่มเสี่ยงเป็นหลัก และค่อนข้างจะประสบความสำเร็จเมื่อเทียบกับประเทศอังกฤษที่ใช้วิธีการตรวจแบบดาวกระจาย

หลายประเทศในเอเชีย มีแนวทางวิธีปฎิบัติในการควบคุมโรคได้ดีกว่าประเทศในยุโรป และอเมริกา เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิต ซึ่งอาจเกิดจากการเรียนรู้จากประสบการณ์ในการระบาดของโรคระบาดก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น โรคซาร์ หรือโรคเมอร์ เป็นต้น กฏระเบียบที่เข้มข้นทำให้การเคลื่อนย้ายของผู้คนลดน้อยลง การแพร่เชื้อก็ลดน้อยลงเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีคำถามเกี่ยวกับการตรวจหาเชื้อ และการติดตามทั้งผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยง แน่นอนว่าประเทศที่มีการวางระบบในการตรวจหาเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจอย่างมีศักยภาพ ย่อมสามารถบริหารจัดการการตรวจหาเชื้อโควิดได้ดีและรวดเร็วได้มากกว่าประเทศอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศแอฟริกาใต้ มีการวางระบบการตรวจหาเชื้อวัณโรคได้ดี จึงสามารถนำมาปรับใช้กับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ดีเช่นกัน

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ประเทศเซเนกัล ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว มีระบบการตรวจเชื้อโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งผลแลปสามารถออกได้ภายใน 24 ชั่วโมงและในหลายกรณีสามารถทำได้เร็วกว่านั้น ซึ่งสถาบัน ปาสเตอร์ เดอร์ ดาร์กาเป็นเพียงหนึ่งในสองห้องทดลองปฎิบัติการในทวีปแอฟริกาในขณะนั้นที่สามารถตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ นอกจากนี้ยังได้มีการเตรียมความพร้อมของบุคลากรจากหลายประเทศในทวีปแอฟริกา โดยจัดให้มีการฝึกอบรมเพื่อตรวจหาเชื้อ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการควบคุมการระบาดของโรค

ประเทศ อย่าง เซียรา ลีออน มีศักยภาพในการพัฒนาระบบติดตามผู้ป่วย และกลุ่มเสี่ยงเนื่องจากมีประสบการณ์และเรียนรู้จากการระบาดของโรคอีโบลาเมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา แต่ในขณะเดียวกันกลับมีปัญหาด้านการตรวจหาเชื้อเนื่องจากข้อจำกัดทางห้องปฏิบัติการ ที่ไม่มีเครื่องมือที่ทันสมัย และไม่สามารถเพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานเพื่อตอบสนองบริการทางสาธารณสุขได้

นอกจากนี้แนวทางในการจัดการระบบก็เป็นสิ่งสำคัญ การตรวจหาเชื้อและการติดตามผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยงที่ใช้กันอยู่ในแอฟริกา ย่อมมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับอังกฤษ และอเมริกา ยกตัวอย่างเช่น ประเทศในทวีปแอฟริกาใช้กลไกบุคลากรสาธารณสุขในชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อนกลไกระบบการป้องกันและควบคุมโรค ในขณะที่ประเทศตะวันตกกลับใช้กลยุทธการรวมศูนย์ที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทุกคน ในอังกฤษเอง แม้จะมีความพยายามที่จะให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการบริหารจัดการการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แต่ท้ายที่สุดแล้ว การบริหารแบบรวมศูนย์ก็ยังคงเป็นยุทธศาสตร์หลักในการบริหารจัดการโรคระบาด

ข้อมูล:

“Covid-19: Which countries are doing well on test and trace-and how can we tell?”, (2021-08-25). Bmj website, Chris Stokel-walker, freelance journalist.

ภาพ: WHO

 

สามารถอ่านบทความได้ที่ https://photos.hq.who.int/preview/89427

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org