ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัยชวนหญิงตั้งครรภ์ 3 เดือนขึ้นไปฉีดวัคซีนโควิด19 หลังตัวเลขเสียชีวิต 82 ราย ขณะที่ฉีดวัคซีนยังน้อย พบเข็มแรกเพียง 5.5 หมื่นราย จากคนท้องกลุ่มนี้ทั้งหมด 5 แสนราย เดินหน้ารณรงค์ “ 1 เดือน 1 แสน” คาด ก.ย.นี้ต้องฉีดให้ถึง 1 แสนรายให้ได้ หวังใช้ช่องทาง รพ.สต. คลินิกฝากครรภ์ จุดบริการฉีดวัคซีน เน้นทำงานเชิงรุกฉีดใกล้บ้านมากที่สุด พร้อมเผยสูตรฉีดวัคซีนหญิงท้อง

เมื่อวันที่ 13 ก.ย.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) เป็นประธานเปิดงานเดือนแห่งการรณรงค์หญิงตั้งครรภ์เข้ารับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 “ 1 เดือน 1 แสนราย” ว่า วันนี้เป็นการรณรงค์การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากเป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยง “608” ประกอบด้วย ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ที่ต้องได้รับวัคซีนก่อนเป็นอันดับแรก เพราะหากรับเชื้อจะเสี่ยงรุนแรงและเสียชีวิต ซึ่งปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิดอยู่ที่ประมาณ 2% ดังนั้น กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่ต้องได้รับวัคซีนเร็วที่สุด

นายสาธิต กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญในการดึงหญิงตั้งครรภ์ให้เข้ารับวัคซีนมากที่สุด โดยข้อมูลจากฝ่ายวิชาการยืนยันชัดเจนว่า การฉีดวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์หรือ 3 เดือนขึ้นไปไม่มีอันตราย ซึ่งปัจจุบันทั่วประเทศมีประมาณ 5 แสนคน แต่ขณะนี้กลับฉีดได้ประมาณ 5.5 หมื่นราย ซึ่งยังไม่มากนัก ทางกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย และภาคีเครือข่าย ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย จึงรวมกันจัดทำการรณรงค์ให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดโดยเร็ว และครอบคลุมมากขึ้น โดยตั้งเป้าว่าในเดือนก.ย.นี้ต้องฉีดให้ได้ถึง 1 แสนราย ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ปกติหญิงตั้งครรภ์ต้องไปฝากครรภ์ที่คลินิกฝากครรภ์อยู่แล้ว ก็จะมีการนำวัคซีนไปที่จุดคลินิกฝากครรภ์ เพื่ออำนวยความสะดวก รวมไปถึงศูนย์บริการฉีดวัคซีน อย่างบางจุดต้องลงทะเบียน แต่สำหรับกลุ่มเสี่ยง หรือหญิงตั้งครรภ์ หากจำนวนไม่มากก็ให้ฉีดได้ทันที

“ขณะนี้จัดฉีดเชิงรุกให้เข้าใกล้กลุ่มนี้มากที่สุด โดยมีท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพ มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) เป็นฝ่ายสนับสนุน สิ่งสำคัญเราต้องอำนวยความสะดวกให้พวกเขา ขณะนี้เราเน้นทำงานเชิงรุกเพื่อให้สามารถฉีดวัคซีนได้มากและครอบคลุมที่สุด” นายสาธิต กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าใช้วัคซีนสูตรไหนสำหรับกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป นายสาธิต กล่าวว่า ตัววัคซีนมี 2 สูตร แต่สูตรหลัก คือ เข็มแรกเป็นซิโนแวค และเข็มที่สองเป็นแอสตร้าเซนเนก้า แต่หากจุดฉีดมีแอสตร้าฯ กับแอสตร้าฯ ก็สามารถดำเนินการได้ เป็นทางเลือกเพื่ออำนวความสะดวก แต่ข้อมูลวิชาการเห็นว่า การสร้างภุมิคุ้มกันได้เร็วขึ้นต้องเป็นซิโนแวค และแอสตร้าฯ

เมื่อถามว่าพื้นที่ไหนต้องกังวลมากที่สุด นายสาธิต กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 12 หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าที่อื่น มาจากปัจจัยวัฒธรรรม ความเชื่อทางศษสนา ซึ่งพื้นที่นี้มีการรณรงค์ให้เกิดความเข้าใจเรื่องนี้ แต่ภาพรวมก็มีข้อจำกัดเยอะมาก อย่างแรกๆ หญิงตั้งครรภ์ก็กลัววัคซีน อยากได้คุณภาพสูงสุด และยังกังวลว่า จะมีผลต่อลูกที่เกิดมาหรือไม่ และยังมีปัญหาบางส่วนไม่ได้ฝากครร์ ขณะนี้เร่งให้รพ.สต.ทำความเข้าใจในพื้นที่ให้หญิงตั้งครรภ์เข้ามาในระบบ หรือไม่เข้ามาก็ต้องทำเชิงรุกไปฉีดให้ถึงที่ สิ่งสำคัญอยากให้เขาต้องรอ ต้องให้เขาเข้าถึงวัคซีนมากที่สุด

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. จนถึงปัจจุบันพบว่ามีหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อจำนวน 3,668 ราย เสียชีวิต 82 คน คิดเป็นกว่า 2% และทารกแรกเกิดติดเชื้อจำนวน 180 ราย ขณะที่การฉีดวัคซีนโควิดในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์จากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันฉีดวัคซีนแล้วกว่า 7.3 หมื่นราย เข็มที่ 1 55,697 ราย และเข็มที่ 2 17,574 ราย ขณะที่เข็มที่ 3 มี 197 ราย ซึ่งถือว่าน้อยมาก ส่วนพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ที่พบปัญหาอัตราการเสียชีวิต การเข้าถึงวัคซีน มาจากหลายปัจจัย ซึ่งโดยหลักงานอนามัยแม่และเด็กของพื้นที่ดังกล่าวเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นการทำงานค่อนข้างยาก ทั้งเรื่องวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการทำงานเชิงรุก สร้างความเข้าใจมาตลอด และขณะนี้ก็ยังมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นคลินิกฝากครรภ์ หรือการขับเคลื่อนผ่านนโยบายสามหมอ เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อมูลหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด 6 สัปดาห์และทารกแรกเกิด ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2564 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อสะสม 3,668 ราย เป็นชาวไทย 2,475 ราย และชาวต่างชาติ 1,193 ราย โดยมารดาเสียชีวิตสะสม 82 ราย และทารก 37 ราย ขณะที่ 10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร 695 ราย รองลงมา สมุทรสาคร 554 ราย สมุทรปราการ 137 ราย ตาก 133 ราย ปทุมธานี 128 ราย นราธิวาส 121 ราย สงขลา 116 ราย ยะลา 112 ราย นครปฐม 90 ราย และพระนครศรีอยุธยา 88 ราย