ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เผยตัวเลขผู้ป่วยโควิดอาการหนัก-ใส่ท่อช่วยหายใจ ภาพรวมรายจังหวัดลดลง! เว้น 4 จังหวัดภาคใต้ ปริมณฑลบางจังหวัดยังไม่ชัดเจน ต้องติดตามใกล้ชิด ขณะที่ผู้เสียชีวิตเริ่มลดลง ย้ำ! อย่าประมาท แม้ผ่านช่วงการระบาดสูงสุด ส.ค.ที่ผ่านมา แต่จากมาตรการผ่อนคลายกิจกรรม/กิจการ มีโอกาสตัวเลขกลับมาพุ่งได้ ขอทุกคนเข้มมาตรการป้องกันโควิดแบบครอบจักรวาล

13.30 น. วันที่ 14 ก.ย. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.เฉวตรสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน แถลงข่าวการคาดการณ์สถานการณ์โควิด 19 ในเดือนตุลาคมและการฉีดวัคซีนในโรงเรียน ว่า ผลการฉีดวัคซีนโควิดเมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมาอยู่ที่ 676,669 โดส ซึ่งอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง และเป็นช่วงที่เราจะมีวัคซีนมาอีก ทำให้การครอบคลุมวัคซีนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาพรวมฉีดสะสมแล้ว 40,953,025โดส โดยเป็นเข็มที่ 1 อยู่ที่ 27,540,743 ราย คิดเป็น 38.2% ส่วนเข็มที่ 2 อยู่ที่ 12,795,707 ราย คิดเป็น 17.8%

สำหรับจำนวนการได้รับวัคซีนแยกตากลุ่มตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-13 ก.ย.2564 พบว่า กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านฉีดเข็มที่ 1 อยู่ที่ 687,984 คน คิดเป็น 68.8% ส่วนกลุ่มผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคฉีดไปจำนวน 3,218,607 คน คิดเป็น 50.7% ประชาชนทั่วไปฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 15,884,959 คน คิดเป็น 55.5% ส่วนผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเข็มที่ 1 ฉีดไป 5,692,528 คน คิดเป็น 52.2% และหญิงตั้งครรภ์จำนวนยังน้อยฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 56,642 คน คิดเป็น 11.3% ซึ่งกำลังเร่งรัดกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ให้มีการฉีดสูงมากขึ้น

ทั้งนี้ ความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนจำแนกตามจังหวัดและการได้รับวัคซีนตามเป้าหมาย ผลดำเนินการถึงวันที่ 13 ก.ย.2564 พบว่า ความครอบคลุมประชากรทั้งหมดมากกว่า 50% มีกทม. ปทุมธานี สมุทรสาคร สมุทรปราการ และยังมีฉะเชิงเทรา ชลบุรี และภูเก็ต ส่วนที่ครอบคลุมประชากร 40-49% คือ นนทบุรี ยะลา อยุธยา เพชบุรี พังงา ระนอง ส่วนความครอบคลุมกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 70% มีกรุงเทพฯ ปทุมธานี ภูเก็ต และระนอง ส่วนกลุ่มที่ครอบคลุมผู้สูงอายุ 50-69% มีสมุทรสาคร สมุทรปราการ สงขลา ยะลา อยุธยา สิงห์บุรี ประจวบคีรีขันธ์ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช พังงา สุราษฎร์ธานี ตรัง และพัทลุง  อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการฉีดวัคซีนในภูมิภาคอาเซียน ไทยเป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย ซึ่งฉีดไป 116 ล้านโดส ไทยเป็นอันดับ 2 อยู่ที่ 40 ล้านโดส

นพ.เฉวตสรร กล่าวถึงสถานการณ์การติดเชื้อทั่วโลก พบว่า ปัจจุบันติดเชื้อเฉลี่ย 5-6 แสนราย แต่วันนี้แกว่งตัวลงอยู่ที่ 397,186 ราย สะสม 225,992,281 ราย ส่วนเสียชีวิตวันนี้ 6,474 ราย เสียชีวิตสะสม 4,651,361 ราย ขณะที่ประเทศไทยวันนี้ติดเชื้อ 11,786 ราย ซึ่งตัวเลขลดลงต่อเนื่อง ทำให้คลายกังวลได้อย่างต่อเนื่อง แต่ต้องย้ำว่า การลดลงของจำนวนเหล่านี้ ในการคาดประมาณของกรมควบคุมโรคยังต้องระวัง เพราะหลังจากมีการปรับมาตรการ เปิดกิจการ กิจกรรมบางส่วน ช่วงนี้จะทำให้เจอผู้คน มีการสัมผัสต่างๆ มีโอกาสการแพร่โรคแบบไม่รู้ตัว ซึ่งเดือน ต.ค. ก็อาจมีตัวเลขผงกหัวกลับมาได้ แต่จะเกิดหรือไม่ก็อยู่ที่ความระมัดระวังของพวกเรา ส่วนการเสียชีวิตวันนี้ 136 คน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้ป่วยวันนี้มาจากการค้นหาเชิงรุก 10% คือ 1,165 ราย

“เมื่อพิจารณาตัวเลขในสหรัฐ ที่มีการฉีดวัคซีนจำนวนมาก แต่ประเทศเขามีการพิจารณาการนอนรพ.และการป่วยหนักควบคู่ด้วย ซึ่งของประเทศไทย จำนวนปอดอักเสบที่รายงานวันนี้อยู่ที่ 4,080 ราย ซึ่งเมื่อดู 7 วันย้อนหลัง( 7-13 ก.ย.) ลดลงจาก 4,387 ราย ค่อยๆลดลงมาเรื่อยๆ แนวโน้มเหมือนกันใส่ท่อช่วยหายใจวันนี้ 818 ราย ซึ่งลดมาจาก 7 วันที่ผ่านมา จาก 960 รายลดลงมาเรื่อยๆ ถือเป็นสัญญาณที่ดี สิ่งนี้เกิดมาจากความร่วมมือร่วมใจในเรื่องการล็อกดาวน์ เพราะทำให้ลดการสัมผัส ลดการเดินทาง พบเจอกันโดยไม่จำเป็ฯ” นพ.เฉวตสรร กล่าว

ทั้งนี้ หากพิจารณาจำนวนผู้ติดเชื้ออาการหนักหรือปอดอักเสบ แนวโน้มภาพรวมรายจังหวัดก็ลดลงเช่นกัน แต่ในส่วนภาคใต้ 4 จังหวัดอาจไม่ชัดเจน มีการแกว่งตัวอยู่บ้าน ส่วนปทุมธานีก็เช่นกันยังไม่เห็นการลดลงชัดเจน อยู่ในระดับ 119-130 ราย จึงเป็นพื้นที่ที่ต้องให้ความสำคัญในการติดตาม ขณะที่การใส่ท่อช่วยหายใจภาพรวมลดลง แต่ภาคใต้ 4 จังหวัดยังไม่ปรากฏชัด อยู่ระหว่าง 43-44 ราย และนนทบุรี และปทุมธานีกราฟยังสีแดง ส่วนที่อื่นเป็นสีเขียวแล้ว

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ส่วนแนวโน้มการเสียชีวิต ตัวเลขเมื่อวันที่ 8 ก.ย.จำนวน 228 ราย แต่ตัวเลขค่อยๆลดลง วันนี้(14 ก.ย.) 136 ราย ส่วนภาพรวมจังหวัดต่างๆ เป็นสีเขียว ไม่มีพื้นที่ใดอาจต้องโฟกัสเป็นพิเศษ แต่บุคลากรให้ความสำคัญทุกราย เพราะไม่ได้ต้องการให้มีการเสียชีวิตแม้แต่รายเดียว ขณะที่ภาพรวมการเสียชีวิตวันนี้ 136 ราย ยังพบอายุ 60 ปีขึ้นไป 71% อายุน้อยกว่า 60 ปีอยู่ที่ 21% รวมเป็น 92% นอกนั้นไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 8% พบว่าเป็นชาย 78 ราย หญิง 58 ราย ปัจจัยเสี่ยง มีโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ภาวะอ้วน ยังคงเหมือนเดิม

“ จากการติดตามสถานการณ์ จุดสูงสุดประมาณกลางเดือนส.ค. แนวโน้มยังลดลงต่อเนื่อง แต่ให้ระมัดระวัง เพราะจากการคาดประมาณการณ์หลังจากประชาชนผ่อนคลายมาตรการเปิดกิจกรรมต่างๆ อาจสัมผัสเชื้อได้ ซึ่งข้อเท็จจริงก็เจอกลุ่มก้อนเล็กๆ อย่างการรับประทานหมูกระทะ วงอาหารที่รับประทานอาหารร่วมกัน ดังนั้น อย่าเพิ่งวางใจเรื่องเหล่านี้” นพ.เฉวตสรร กล่าว

เมื่อถามว่ามีปัจจัยอะไรที่อาจเห็นตัวเลขเดือน ต.ค.ขึ้นมาอีก นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า จากการเจอผู้ป่วยและมีการสอบสวนโรคก็ไม่ชัดเจนว่าติดจากไหน แต่ก็อาจมาจากกลุ่มคนใกล้ชิด ดังนั้น มาตรการป้องกันโรคครอบจักรวาล หรือ Universal Prevention ต้องเข้มงวด อย่างไรก็ตาม ช่วงล็อกดาวน์ก่อนหน้านี้ทำให้ห่างไกลกัน เมื่อมีการผ่อนคลายก็อยากไปพบเจอ จึงขออย่าเพิ่งทำ เพราะหลายประเทศก็ยังพบการติดเชื้อ

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org