ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการกำหนดให้มีการกระจาย ATK ไปยังประชาชนกลุ่มเสี่ยงเป็นแนวนโยบายของ สปสช. เมื่อ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นกลไกให้ประชาชนตรวจ ATK ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด

"จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) การให้ประชาชนใช้ ATK จะช่วยในการค้นหาผู้ติดเชื้อและแยกกักเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นที่มาของการจัดหา ATK 8.5 ล้านชิ้น กระจายไปยังหน่วยบริการให้ประชาชน กทม. เป็นเป้าหมายสำคัญในการควบคุมการระบาด โดยจะกระจายไปใน 3 ส่วน ได้แก่ 1. ศูนย์บริการสาธารณสุข อาสาสมัคร บุคลากรของ กทม. ช่วยกระจายไปในกลุ่มเป้าหมายที่เป็นชุมชน ตลาด 2.หน่วยบริการของ กทม. ที่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงเข้ามารับบริการ และ 3.ร้านขายยาใน กทม. หลายร้อยแห่ง เมื่อประชาชนตรวจแล้วมีผลเป็นบวก ศูนย์บริการต่างๆ จะเป็นผู้ประสานนำผู้ติดเชื้อเข้าระบบ HI หรือ CI ต่อไป โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.นี้เป็นต้นไป"

"ผู้ที่จะรับ ATK มีอยู่ 2 วิธีคือ 1. ใช้แอพพลิเคชั่นเป๋าตังเข้าไปประเมินความเสี่ยง ถ้ามีความเสี่ยงสามารถเข้ารับยังหน่วยบริการได้ และ 2 ถ้าไม่มีแอพพลิเคชั่นสามารถไปที่หน่วยบริการสาธารณสุข ศูนย์บริการชุมชนอบอุ่น ร้านขายยาที่กำหนดไว้เพื่อประเมินความเสี่ยงแล้วขอรับชุดตรวจได้ โดยจะได้รับชุดตรวจ 2 ชุด ต่อ 1 ครั้ง ในการประเมินความเสี่ยง โดยผู้ที่มีความเสี่ยงเราต้องการให้กักตัวอย่างน้อย 10 วัน แนะนำว่าทุกๆ 5 วัน ตรวจ 1 ครั้ง ถ้าใน 10 วัน หลังจากนั้นหากยังเป็นกลุ่มเสี่ยงอยู่ เช่นไปสัมผัสกับผู้ติดเชื้อก็สามารถรับได้อีกในครั้งต่อไป" นพ.จเด็จ กล่าว

พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่า กทม. กล่าวว่า การแจก ATK จำนวน 2.3 ล้านชิ้น ในวันที่ 16 ก.ย.จากการสนับสนุนของ สปสช. โดยกลุ่มเป้าหมายแรกคือประชาชนในชุมชนแออัด โควต้า 2.1 แสนคน ซึ่งอาสาสมัครของ กทม.จะเป็นผู้กระจาย ATK ไปยังผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง คนพิการ ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง 7 โรคที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ผู้สงสัยว่าจะติดเชื้อ ผู้ที่อยู่ร่วมบ้านกับผู้ติดเชื้อโควิด และผู้ประสานงานในชุมชน 2. สถานที่หรือพื้นที่เสี่ยง โดยล็อตแรกจะแบ่งโควต้าให้ ตลาด 205,000 คน ขนส่งสาธารณะ 220,000 คน ร้านเสริมสวย 10,000 คน ครูอาจารย์ทุกสังกัดใน กทม. 150,000 คน ร้านนวดสปา 28,000 คน

"ATK ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สปสช. ยังมีจำนวนจำกัด ในขณะนี้ขอสงวนไว้ให้กับประชาชนที่เป็นคน กทม.จริงๆ โดยที่จะดูจากบัตรประชาชนว่าต้องมีภูมิลำเนาอยู่ใน กทม. นอกเหนือจากนี้อาจจะมีในล็อตต่อๆไป โดยในอนาคต กทม. คงจะมีการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆต่อไป ซึ่ง ATK ที่จะนำมาแจกให้กับประชาชนนั้นต้องได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุขรับรองสามารถใช้ได้ ทั้งนี้ ต่อไป กทม. จะตั้งงบประมาณดำเนินการในการจัดซื้อ สินค้าต้องมีคุณภาพผลตรวจต้องเป็นมาตรฐานแบบ สปสช." รองผู้ว่า กทม. กล่าว