ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผย ฉีดวัคซีนโควิด-19 เข้าในชั้นผิวหนัง เป็นบูสเตอร์โดส ได้ผลดี  ส่วนผลข้างเคียงพบ 5% น้อยกว่ากลุ่มฉีดเข้ากล้ามเนื้อพบได้ 30%  เบื้องต้นหากศึกษาในกลุ่มคนจำนวนมากขึ้น และไม่พบอาการข้างเคียงรุนแรงเฉพาะที่อาจเป็นอีกทางเลือกที่ดี   พร้อมเผยผลทดสอบภูมิฯฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง

เมื่อวันที่ 22 ก.ย.2564  ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าววิธีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า ตามที่มีกระแสข่าวว่าจะมีการฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง ซึ่งเป็นงานวิจัยระหว่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมมือกันภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่ได้ MOU ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข จะขออนุญาตฝากถึงสื่อมวลชน ซึ่งมีผู้ที่เล่าข่าวเข้าใจเรื่องนี้คาดเคลื่อน  สิ่งที่เรานำเสนอคือ การฉีดวัคซีนทั่วไปมี 3 แบบคือ 1. การฉีดเข้ากล้ามเนื้อ(Intramuscular) ปักเข็ม 90 องศา ตามที่เราฉีดวัคซีนโควิด-19 ฉีดทะลุชั้นผิวหนัง ชั้นใต้ผิวหนังเข้าไปถึงกล้ามเนื้อ รวมถึงวัคซีนคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ตับอักเสบบี วัคซีนพิษสุนัขบ้า 2. ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง(Subcutaneous) ปักเข็ม 45 องศา เป็นการแทงทะลุผิวหนังเข้าไปในชั้นไขมันใต้ผิวหนัง เช่น วัคซีนหัด คางทูม หัดเยอรมัน ไข้สมองอักเสบ 


" แต่สิ่งที่เรานำเสนอ คือ 3. ฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง(Intradermal) เป็นการตั้งเข็ม 10-15 องศา ซึ่งต่างจากการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง เป็นการแทงเข็มเข้าไปในชั้นผิวหนังความหนาโดยรวม 1 มิลลิเมตร แต่มีข้อจำกัดคือ มีความลำบากกว่า 2 วิธีแรก  ผู้ฉีดต้องมีทักษะ ต้องมีประสบการณ์ถึงจะฉีดได้สำเร็จ ถ้าหากฉีดทะลุเข้าใต้ผิวหนังก็จะไม่เกิดผลที่ต้องการ ทั้งนี้ มีการฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง คือ วัคซีนป้องกันวัณโรค ที่ฉีดตั้งแต่แรกเกิด วัคซีนพิษสุนัขบ้า ที่จากเดิมที่ฉีดเข้ากล้ามแต่พบว่าฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ได้ผลเท่ากันแต่ประหยัดกว่าเยอะ จึงมีการปฏิบัติมาก่อนแล้ว ต้องทำความเข้าใจว่าไม่มีการฉีดใต้ผิวหนัง แต่ฉีดเข้าไปในชั้นผิวหนัง" นพ.ศุภกิจ กล่าว 


นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า หลายประเทศเริ่มคิดเรื่องนี้ เนื่องจากโดยทั่วไปการฉีดเข้าในชั้นผิวหนังที่มีเส้นเลือดมาก จะใช้จำนวนวัคซีนน้อยกว่า อาจถึง 1 ใน 5 ของปริมาณวัคซีน ซึ่งหากได้ผลเท่ากัน นั่นหมายความว่าจากที่ฉีดได้ 1 คนก็จะฉีดได้ 5 คน โดยเราใช้ในงานวิจัย คือ การฉีดเข้าในชั้นผิวหนังเฉพาะบูสเตอร์โดสเป็นเข็ม 3 ของผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม ทั้งนี้ มีการนำมาฉีดเทียบกันใน 3 กลุ่ม คือ หลังจากฉีดเข็ม 2 ครบ 4-8 สัปดาห์ จะนำมาฉีดเข็ม 3 ด้วยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อแบบเดิม อีกจำนวนหนึ่งจะฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง และมีอีกกลุ่มคือคนที่ฉีดครบ 2 เข็มมากกว่า 8 สัปดาห์ นำมาฉีดเข้าในชั้นผิวหนังเหมือนกัน หลังจากฉีดแล้วทั้ง 3 ประเภทหลังจาก 14 วันเราเจาะเลือดดูใน 2 เรื่อง คือ ผลข้างเคียงซึ่งสะท้อนความปลอดภัยในระยะแรกและการเกิดภูมิคุ้มกันมากน้อยแค่ไหน


นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า พบว่าผลข้างเคียงถ้าฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง จะเกิดอาการเฉพาะจุดที่ฉีดเยอะกว่าการฉีดเข้ากล้าม เช่น เกิดตุ่มแดง หรือไตแข็ง มีแดง อักเสบ ร้อนมากกว่า หมายความว่าอาการที่เกิดขึ้นบริเวณที่ฉีดเยอะขึ้น ส่วนปฏิกิริยาของร่างกาย เช่น หอบ เหนื่อย อาเจียน ปวดหัว หรือ อ่อนเพลีย  พบว่า การฉีดเข้าในชั้นผิวหนังน้อยลงเมื่อเทียบกับการฉีดเข้ากล้าม 


“สรุปง่ายๆ คืออาการข้างเคียงเฉพาะที่ของการฉีดเข้าในชั้นผิวหนังมีมากกว่า แต่อาการทั่วไปในภาพรวมมีน้อยกว่า มีดีมีเสีย” นพ.ศุภกิจ กล่าว 


นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สำหรับการศึกษาทดสอบภูมิคุ้มกันและความปลอดภัยจากการได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 โดยทำการศึกษาในกลุ่มประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวคแล้ว 2 เข็ม และกระตุ้นเข็ม 3 เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า อายุระหว่าง 18 – 60 ปี จำนวน 95 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 โดส (0.5 ml.)เข้ากล้ามเนื้อ จำนวน 30 คน กลุ่มที่ 2 ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1/5 โดส (0.1 ml.) ฉีดเข้าในผิวหนัง จำนวน 31 คน(ระยะศึกษา 4-8 สัปดาห์) และกลุ่ม 3 ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1/5 โดส (0.1 ml.)ฉีดเข้าในผิวหนัง  จำนวน 34 คน (ระยะศึกษา 8-12 สัปดาห์) โดยทำการศึกษาจากการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกัน (Antibody responses) และการตอบสนองของทีเซลล์ (T cell responses)  


ผลการศึกษา 14 วันหลังจากได้รับการกระตุ้นวัคซีนเข็มที่ 3 พบว่า กลุ่มที่ 1 ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 โดส เข้ากล้ามเนื้อ ระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,652 AU (Arbitrary Unit ) ส่วนกลุ่มที่ 2 และ 3 ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1/5 โดส ฉีดเข้าในผิวหนัง ระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,300.5 AU (Arbitrary Unit )  จากเดิมหลังฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มระดับภูมิคุ้มกันอยู่ที่ 128.7 AU (Arbitrary Unit ) นอกจากนี้ระดับภูมิคุ้มกันในการยับยั้งการเข้าสู่เซลล์ของเชื้อไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์เดลตา การกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยวัคซีนแอสตร้าฯ ฉีดเข้าในผิวหนังสามารถยับยั้งได้ถึง 234.4 AU (Arbitrary Unit )  จากเดิมที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ยับยั้งได้ 16.3 AU (Arbitrary Unit ) ส่วนการตอบสนองของเซลล์เม็ดเลือดขาวหรือทีเซลล์ต่อโปรตีนหนามแหลมของเชื้อไวรัสโควิด 19 ซึ่งมีหน้าที่สู้กับไวรัสเมื่อไวรัสเข้าสู่เซลล์แล้ว พบว่า ทั้งสามกลุ่มมีการทำงานของทีเซลล์ต่อโปรตีนหนามแหลมที่ดีขึ้นกว่าเดิมที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม 

นพ.ศุภกิจ  กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับอาการข้างเคียง 7 วันหลังการได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 พบว่า การฉีดในผิวหนังจะมีอาการแดง บวมและคัน มากกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ส่วนการฉีดเข้ากล้ามเนื้อจะมีอาการปวดเมื่อย ปวดศรีษะ อ่อนเพลียและหนาวสั่นมากกว่าการฉีดในผิวหนัง ข้อดีของการฉีดวัคซีนเข้าในผิวหนังคือ มีคนที่ได้รับวัคซีนเป็นไข้ในอัตราส่วนที่ลดลงเมื่อเทียบกับการฉีดวัคซีนเข้ากล้าม โดยที่ยังกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีพอๆกัน เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงวัคซีนเพราะใช้วัคซีนปริมาณน้อยกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ อย่างไรก็ตาม ระดับภูมิฯ ที่ฉีดเข้าในชั้นผิวหนังจะอยู่ได้นานหรือกว่าการฉีดเข้ากล้ามหรือไม่ เป็นผลการวิจัยที่ยังต้องอาศัยระยะเวลา ซึ่งอยู่ในแผนการติดตามของเราต่อไป


"เรื่องนี้มีการวิจัยหลายแห่ง คาดว่าผลจะทยอยออกมาซึ่งจะบอกเราได้ถึงความปลอดภัยและภูมิฯ ขึ้นมากน้อยแค่ไหน ต้องเรียนกับประชาชนว่า วันนี้เรายังฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ในที่ประชุมอีโอซีมีมติว่า ยกเว้นพื้นไหน ที่ต้องการประหยัดวัคซีนและมีความพร้อม เช่น เจ้าหน้าที่ที่ฝึกทักษะมาแล้ว สามารถจัดการได้ เนื่องจากใช้เวลาต่อคนมากกว่า แต่สิ่งที่เรากังวลว่าอาการข้างเคียงของการฉีดเข้าในชั้นผิวหนังมีมากกว่าแบบเดิม หากผู้หญิงไปฉีดแล้วเกิดแผล ตุ่มหนองขึ้นมา ก็จะเกิดความดรามาเรื่องผลข้างเคียงมากกว่า เราจึงยังไม่เอาไปใช้เป็นการทั่วไป ยังให้ฉีดเข้ากล้าม แต่วันหนึ่งหากเราจะเร่งการฉีดให้ครอบคลุมโดยเฉพาะเข็ม 3 ถ้าเราใช้การฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง 1 ใน 5 ก็จะประหยัดวัคซีนและทำให้ครอบคุมเร็วขึ้น" อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว


ด้าน ดร.นพ.นวมินทร์ ปิ่นปฐมรัฐ อาจารย์สาขาวิชาชีวเวชศาสตร์และวิศกรรมชีวการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ภูมิคุ้มกันแอนติบอดี้ส่วนที่ 2 คือ ภูมิฯ ที่ตอบสนองต่อไวรัสในเซลล์ เราจะดู T Cell ที่ช่วยจัดการไวรัสหลังจากเข้าสู่ร่างกาย พบว่า ในผู้ที่รับซิโนแวค 2 เข็มเมื่อเอาโปรตีนหนามแหลมของไวรัสโคโรนา2019 ไปกระตุ้น ได้ภูมิฯ 30 BAU/mL  เมื่อกระตุ้นด้วยแอสตร้าฯ ทั้งฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดเข้าในชั้นผิวหนังที่ใช้วัคซีนน้อยลง 1 ใน 5 ก็ได้ภูมิฯ ไม่ต่างกัน และมากกว่าการรับซิโนแวค 2 เข็มอย่างมีนัยยะสำคัญ ดังนั้น สิ่งนี้ก็จะช่วยฆ่าไวรัสที่เข้ามาในเซลล์ได้ อย่างไรก็ตาม อาการทางผิวหนังหลังการฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง จะหายได้เองใน 7 วัน ไม่มีอาสาสมัครที่ต้องพบแพทย์ และยังไม่พบตุ่มหนอง หรือเนื้อตายในอาสาสมัคร


นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดไข้ ในกลุ่มที่ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ พบ 30% ส่วนที่ฉีดเข้าในชั้นผิวหนังพบ 5% น้อยกว่ามาก หากเราพิสูจน์คนในหมื่นคนหากไม่พบผลข้างเคียงรุนแรงเฉพาะที่ การฉีดเข้าในชั้นผิวหนังก็เป็นทางเลือกที่ดี 
 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง