ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายพระคิลานุปัฏฐาก แนะรัฐออกนโยบายให้คนรายได้น้อยลดการสูบบุหรี่ ลดภาระการดูแลสุขภาพของประชาชนระยะยาว หนุน ก.คลัง ปรับโครงสร้างภาษียาสูบ เน้นตอบโจทย์ ดูแแลสุขภาพของประชาชน ไม่ส่งเสริมให้คนไทยสูบบุหรี่ ดูแลเกษตรกรปลูกใบยาสูบ มีรายได้ภาษีเข้ารัฐ

วันที่ 26 กันยายน พระวิสิทธิ์ ฐิตวิสิทฺโธ, ผศ.ดร. คณะอนุกรรมการวัดส่งเสริมสุขภาพและพระคิลานุปัฏฐาก และอาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่  กล่าวว่า ในมุมมองของพระสงฆ์  เรื่องการสูบบุหรี่ได้มองถึงสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญคือ ทำอย่างไรจะให้กลุ่มเยาวชนลดการเข้าถึงบุหรี่ หรือลดนักสูบหน้าใหม่ ลดการสูบบุหรี่ในกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย ซึ่งภาครัฐกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีกลไกที่มาช่วยเหลือตรงจุดนี้

เบื้องต้นเห็นด้วยกับข้อคิดเห็นของ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ในการเสนอให้ปรับโครงสร้างภาษีที่ทำให้ราคาของบุหรี่เพิ่มสูงขึ้น โดยมองว่า หากบุหรี่มีราคาถูกลงจะทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ซึ่งกระทรวงการคลังเตรียมจะเสนอโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 28 กันยายนนี้

“ส่วนตัวสนับสนุนการปรับภาษียาสูบในครั้งนี้ สิ่งสำคัญคือ การยึดเรื่องของสุขภาพประชาชนเป็นหลักในการทำงาน อยากฝากต่อภาครัฐ จะทำอย่างไรจะให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกว่าบุหรี่เป็นสินค้าที่ฟุ่มเฟือยหรือเป็นสินค้าที่มีราคาแพงเกินกว่าจะมาบริโภคต่อไป ควรมีนโยบายทำให้คนรายได้น้อยลดการสูบบุหรี่ลง เพราะหากมีการสูบบุหรี่มากขึ้น ภาระในการดูแลสุขภาพของประชาชนในระยะยาวก็จะตกอยู่ที่ภาครัฐเอง ซึ่งแม้ว่าการปรับภาษียาสูบจะทำให้ราคาของบุหรี่จะเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็มีการจัดเก็บรายได้เข้าสู่ภาครัฐที่มากกว่าเดิม สามารถนำมาดูแลประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ได้ เช่น การเยี่ยวยาเกษตรกร หรือนำมาช่วยรณรงค์ให้ครบทุกมิติ” พระวิสิทธิ์ ฐิตวิสิทฺโธ, ผศ.ดร. กล่าว

พระวิสิทธิ์ ฐิตวิสิทฺโธ, ผศ.ดร. กล่าวต่อว่า การปรับภาษีอาจจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ หรือผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง แต่เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับยาสูบเริ่มไม่มีความแน่นอน อาจจะต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ควรเปลี่ยนจากวิกฤตเป็นโอกาส และภาครัฐเองอาจจะต้องชดเชย หรือให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรชาวไร่ยาสูบ เพราะถือเป็นหนึ่งในอาชีพที่มีมาอย่างยาวนาน

พระวิสิทธิ์ ฐิตวิสิทฺโธ, ผศ.ดร. กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันกลุ่มพระสงฆ์เองได้รณรงค์สร้างความเข้าใจถึงเรื่องภาษียาสูบอย่างต่อเนื่อง โดยทำความเข้าใจร่วมกันว่าราคาของผลิตภัณฑ์ยาสูบ จะไม่มีวันลดลงแต่จะเพิ่มขึ้น และเป็นสินค้าที่ทำร้ายสุขภาพ พร้อมกับให้พระคิลานุปัฏฐากที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ เทศนาให้ข้อคิดแก่ญาติโยม ให้มองถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพของตนเองและครอบครัวในอนาคต รวมทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปเป็นจำนวนมากจากการสูบบุหรี่ เป็นสิ่งที่คุ้มค่าหรือไม่ โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย เพราะการทำงานแลกเงินกว่าจะได้มาก็มีความยากลำบาก

ทั้งนี้ เครือข่ายพระคิลานุปัฏฐากที่มีอยู่ประจำทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ประกอบด้วย 1.พระครูสุวรรณโพธิวรธรรม,ดร. ประธานมูลนิธิสังฆะเพื่อสังคม 2.พระมหาบุญช่วย สิรินธโร, ดร. อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ (มจร.) 3.พระมหาสุวรรณ วิชฺชาธโร เจ้าคณะอำเภอเมืองตรัง จ.ตรัง 4.พระครูโพธิวีรคุณ เจ้าอาวาสวัดโพธิการาม เจ้าคณะอำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด 5.พระครูสุตธรรมวิสิฐ,ดร เจ้าอาวาสมวัดวิปัสสนารังกาใหญ่ เจ้าคณะอำเภอพิมาย จ.นครราชสีมา 6.พระปัญญา จิตฺตปญฺโญ,ดร.ผู้ประสานงานเครือข่ายพระสงฆ์จังหวัดลพบุรี 7.พระครูสมุห์วิเชียร์ คุณธมฺโม,ดร. ประธานเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาชุมชนภาคเหนือ (คพชน.) ต่างก็ติดตามการประชุมคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับภาษียาสูบ และจะเดินหน้าให้ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ให้มากขึ้นไปด้วย