ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ประชุม ศบค.มีมติลดเวลา "เคอร์ฟิว"  จาก 3 ทุ่ม เป็น 4 ทุ่มถึงตี 4  ขยายพรก.ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรไปถึง 30 พ.ย. นี้  พร้อมอนุญาตให้ "ห้างสรรพสินค้า-ร้านสะดวกซื้อ"   ขายได้ถึง 3 ทุ่ม ปรับมาตรการลดวันกักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศ เปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวฟื้นเศรษฐกิจเพิ่ม!!

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 27 กันยายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 หรือ​ ศบค. ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยที่ประชุมมีมติขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ออกไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. จนถึงวันที่ 30 พ.ย.นี้

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงว่า การขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอีก 2 เดือนก็เพื่อเตรียมความพร้อมในการใช้ พรก.แก้ไขเพิ่มเติมพรบ.ควบคุมโรคติดต่อ เชื่อมโยงหน่วยงานที่จะมารับช่วงต่อในระดับจังหวัด

ส่วนมาตรการอื่นๆ ที่ประชุมศบค.มีมติเลื่อนเวลาการห้ามออกนอกเคหะสถานหรือเคอร์ฟิวส์จากเดิม 21.00-04.00 น. เป็น 22.00-04.00 น. โดยจะมีการประเมิน 15 วัน ส่วนห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ตลาดสด กีฬากลางแจ้ง ในร่มที่โล่ง ในร่มมีเครื่องปรับอากาศ ให้เปิดได้ถึง 21.00 น. โดยประเภทกีฬากลางแจ้งจัดการแข่งขันได้ แต่ต้องมีผู้ชมไม่เกิน 25 % และผู้ชมต้องได้รับวัคซีนแล้ว

โฆษกศบค.แถลงอีกว่า ที่ประชุมได้ปรับมาตรการควบคุมโรคโควิด โดยอนุญาตให้สถานที่ดังต่อไปนี้ สามารถเปิดกิจการได้  เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน ห้องสมุดสาธารณะ พิพิธภัณฑ์ ศูนย์การเรียนรู้ โบราณสถาน อุทยานวิทยาศาสตร์ หอศิลป์ โดยจำกัดจำนวน 1 คนต่อ 4 ตารางเมตร ร้านทำเล็บ ร้านสัก ที่มีการตรวจ ATK โรงภาพยนต์มีผู้ชมได้ไม่เกิน 50 % และห้ามรับประทานอาหาร อนุญาตให้เล่นดนตรีในร้านอาหารได้โดยจำกัดจำนวนนักดนตรีไม่เกิน 5 คน ห้ามนักดนตรี นัดร้อง และลูกค้าสัมผัสใกล้ชิด ส่วนสถาบันกวดวิชา สปา สระว่ายน้ำ สามารถเปิดกิจการได้โดยอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการควบคุมโรคระดับจังหวัด

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรและพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ประชุมหารือกันโดยเสนอพื้นที่นำร่องเพื่อการท่องเที่ยวและรูปแบบการจัดการท่องเที่ยวในพื้นที่สีฟ้า เกณฑ์กำหนดพื้นที่นำร่องด้านเศรษฐกิจเป็นเมืองหลัก หรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด ประกอบด้วย 4 จังหวัดและพื้นที่เกาะ เป็นพื้นที่นำร่องเดิมประกอบด้วยจังหวัดภูเก็ต สุราษฎร์ธานี(เกาะสมุย เกาะพะงันเกาะเต่า)พังงา (เขาหลัก เกาะยาว) กระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เลย์ คลองม่วง ทับแขก)

ระยะที่ 1 วันที่ 1-30 พ.ย.2564 เมืองหลักหรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของรายได้ จากการท่องเที่ยวทั้งหมด 10 จังหวัด ประกอบด้วยกรุงเทพฯ กระบี่ (ทั้งจังหวัด) พังงา (ทั้งจังหวัด)ประจวบคีรีขันธ์ (ตำบลหัวหิน หนองแก) เพชรบุรี (เทศบาลเมืองชะอำ) ชลบุรี (พัทยา อำเภอบางละมุง ตำบลนาจอมเทียน ตำบลบางเสร่) ระนอง (เกาะพยาม)เชียงใหม่ (อำเภอเมือง แม่ริม แม่แตง ดอยเต่า) เลย (เชียงคาน)และบุรีรัมย์ (อำเภอเมือง)

ระยะที่ 2 วันที่ 1-31 พ.ย.2564 เมืองหลักหรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด โดยมีสินค้าการท่องเที่ยว ด้านศิลปะวัฒนธรรม และเป็นจังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน 20 จังหวัด ประกอบด้วยเชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน แพร่ หนองคายสุโขทัย เพชรบูรณ์ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ ตราด ระยอง ขอนแก่น นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลาและนราธิวาส และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2565 เป็นต้นไป เพิ่มพื้นที่พรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน 13 จังหวัด ประกอบด้วยสุรินทร์ สระแก้ว จันทบุรี ตาก นครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ อุดรธานี อุบลราชธานี น่าน กาญจนบุรี ราชบุรี และสตูล

โฆษกศบค.แถลงอีกว่า ศบค.เห็นชอบการปรับมาตรการสำหรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรโดยลดระยะเวลาการกักตัว ประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือ 1.มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน (Vaccine Certificate) ครบตามเกณฑ์อย่างน้อย 14 วัน สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยทุกช่องทาง โดยลดเวลากักตัวหรือเข้าพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างน้อย 7 วัน และจะต้องมีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง กลุ่มที่ 2.ไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ (Vaccine Certificate) หรือได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ แบ่งเป็นเดินทางมาทางอากาศ ให้กักตัวอย่างน้อย 10 วัน เดินทางทางน้ำ (กรณีมีคนใดคนหนึ่งบนเรือไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน) จะต้องมีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง ส่วนการเดินทางทางบก เนื่องจากไม่มีการตรวจหาเชื้อมาก่อนและมีอัตราการติดเชื้อมากกว่าทางอากาศ ให้กักตัวคงเดิม 14 วัน จะต้องมีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า นอกจากนี้ศบค.ยังเห็นชอบให้มีการปรับมาตรการสำหรับกิจกรรมในสถานที่กักกันซึ่งทางราชการกำหนด โดยสถานที่กักตัวทางเลือก (AQ) มีการปรับให้มีการออกกำลังกายกลางแจ้ง การว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน (กรณีมีสถานที่ที่มีลักษณะปิดและควบคุมได้) การสั่งซื้อสินค้าและอาหารจากภายนอก รวมถึงการประชุมสำหรับสำหรับนักธุรกิจเข้ามาในระยะสั้น ขณะที่สถานที่กักกันโรคแห่งรัฐ (SQ) สำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศและสถานกักกันโรคของหน่วยงาน (OQ )สำหรับกับการบุคลากรของหน่วยงานที่เดินทางเข้ามาในประเทศ ปรับมาตรการให้สามารถออกกำลังกายกลางแจ้ง และสั่งซื้ออาหารจากภายนอกและสั่งซื้อสินค้าได้

โฆษก ศบค.แถลงอีกว่าที่ประชุมพิจารณาเรื่องวัคซีนซิโนฟาร์ม ซึ่งอาจใช้สูตรไขว้ในหลักการเดียวกับซิโนแวค อาจใช้ชิโนฟาร์ม 2 เข็ม แล้วบูสเตอร์แอสตราเซเนก้าเป็นเข็ม 3 แต่ยังไม่กำหนดให้เป็นสูตรหลักของประเทศ โดยในเดือนต.ค.นี้จะมีผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรก 80 % และได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 70% เดือน ธ.ค.นี้