ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประเด็นที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือ ความรุนแรงของการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจส่งผลกระทบโดยตรงกับอาการผมร่วงได้ด้วย ผู้ป่วยจะมีอาการผมร่วงอย่างรุนแรง ซึ่งผู้ป่วยจะประสบปัญหานี้ในระหว่างหรือหลังฟื้นตัวได้ไม่นาน และในบางกรณีเส้นผมอาจหลุดร่วงในปริมาณมากอีกด้วย 

ดร. Soumya Jagadeesan รองศาสตราจารย์คลินิกโรคผิวหนัง โรงพยาบาล Amrita เปิดเผยว่า ผู้ป่วยโควิด-19 อาจมีอาการผมร่วงแทรกซ้อนได้ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณหนึ่งในสาม อาการนี้พบได้ในทุกเพศ โดยผลการศึกษาบางชิ้นระบุว่าผู้หญิงจะได้รับผลกระทบมากกว่า

ดร. Sachin Dhawan ที่ปรึกษาอาวุโส ภาควิชาโรคผิวหนัง สถาบันวิจัย Fortis Memorial ได้อธิบายถึงวงจรของเส้นผมมีสามขั้นตอนหลัก ดังนี้

  • Anagen หรือระยะการเจริญเติบโต
  • Telogen หรือระยะการหลุดร่วง
  • Catagen หรือระยะการเปลี่ยนแปลง

“ในหนังศีรษะที่มีสุขภาพดี 90 เปอร์เซ็นต์ของเส้นผมอยู่ในระยะแอนาเจน และประมาณ 9-10 เปอร์เซ็นต์ของผมอยู่ในระยะเทโลเจน (Telogen effluvium) เป็นภาวะที่เส้นผมมีสัดส่วนมากในระยะเทโลเจน ส่งผลให้ผมร่วงมากเกินไป เมื่อเกิดโรคโควิด-19 มากที่สุดคือในช่วง 1-2 เดือนแรกหลังฟื้นตัวจากการติดเชื้อ” ดร. Sachin กล่าว

ด้าน ดร.Jagadeesan กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการผมร่วงสามารถเกิดขึ้นได้และอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายใจ  ส่งผลให้เกิดอาการป่วยทางจิตขั้นรุนแรง เส้นผมอาจหลุดร่วงเป็นก้อน ซึ่งส่งผลให้หนังศีรษะบางลงอย่างเห็นได้ชัด  แม้ว่ากรณีส่วนใหญ่อาจดีขึ้นในสามเดือนแรก แต่ในบางกรณีอาการผมร่วงอาจอยู่ได้นานถึงห้าถึงหกเดือนเลยทีเดียว

ดร. Jagadeesan กล่าวเสริมอีกว่า “ผู้ป่วยบางรายยังมีอาการ Trichodynia ความรู้สึกเจ็บปวดหรือมีความรู้สึกเหมือนดึงรอบๆ รูขุมขน ร่วมกับอาการผมร่วงที่เกี่ยวข้องกับโควิด และใครก็ตามที่ติดเชื้อโควิด-19 มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างอาการผมร่วงนี้ อย่างไรก็ตามอาการผมร่วงมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในผู้ที่มีการติดเชื้อระดับปานกลางถึงรุนแรง มากกว่าผู้ป่วยระดับเริ่มต้นอันเนื่องมาจากความเครียด การอักเสบ และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ซึ่งอาจใช้ระยะเวลานานกว่าจะหาย”

ดร. Sachin Dhawan ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “แม้ทุกกลุ่มอายุจะได้รับผลกระทบจากอาการผมร่วงเท่าๆ กัน แต่อาการนี้มักจะพบได้ช่วงวัยกลางคนมากกว่า”

เราจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร?

ดร. Jagadeesan กล่าวว่า อาการผมร่วงอย่างรุนแรงเกิดจากการหยุดชะงักชั่วคราวของวงจรเส้นผม และผู้ป่วยสามารถหายเป็นปกติภายในไม่กี่เดือน

ดร. Sachin Dhawan กล่าวเสริมว่า ผู้ป่วยควรทานคาร์โบไฮเดรตให้เพียงพอในอาหารทั้งสามมื้อ ควรทานปริมาณโปรตีนอย่างเพียงพอ หรือจะเพิ่มถั่วเหลือง, เต้าหู้ไก่และปลาลงในมื้ออาหารได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชอบของคุณ หากร่างกายยอมรับได้ ก็สามารถเพิ่มถั่วลงในการบริโภคประจำวันของคุณด้วย

นอกจากนี้ โปรดจำไว้ว่า กรณีที่ไม่รุนแรงของ Telogen effluvium จะฟื้นตัวได้เองภายในสองถึงสามเดือน ในกรณีที่อาการยังคงอยู่นานกว่านั้น สามารถติดต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้

ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวอาจจะมีคนนำไปเชื่อมโยง สร้างความเชื่อหรือข้อมูลแบบผิด ๆ ได้ เนื่องจากว่ามันเป็นโรคอุบัติใหม่อีกทั้งยังไม่มียา วิธีการรักษาที่ชัดเจน และยังคงมีความเป็นได้ที่เชื้อไวรัสจะเกิดการกลายพันธุ์ จึงทำให้มีข้อมูลใหม่ ๆ เกิดขึ้นทุกวัน บางข้อมูลก็หักล้างข้อมูลเก่าได้ด้วยเช่นกัน ส่งผลให้มีการแชร์ข้อมูลข่าวสารโดยที่ไม่มีการกลั่นกรองมากพอ จนทำให้เกิดข่าวบิดเบือน ข่าวปลอมให้เห็นกันได้ง่าย

เนื่องจากว่า สภาพของสังคมในช่วงนี้กำลังอยู่ภาวะหวาดระแวง ทำให้คนเกิดภาวะความเครียดกันได้ง่าย ๆ เพราะต้องรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคโควิด-19 เพื่อคอยเฝ้าระวัง ซึ่งในบางทีจริง ๆ แล้วอาการผมร่วงที่หลายคนกำลังเป็นอยู่อาจเกิดจากความเครียดได้ด้วยเช่นกัน
 

 

 

อ้างอิง

"Tress Distress? Blame Your Hair Loss on COVID-19" (September 23, 2021). The Quint

"Hair Loss Is Now a Post-Covid Complication: Health Experts" (July 30, 2021). The Quint

"Malaika Speaks About Hair Loss After COVID: What’s the Connection?" (August 12, 2020). The Quint