ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ลูกจ้างชั่วคราวเตรียมบุก สธ. วันที่ 30 ก.ย.นี้ ร้องขอปรับเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข หลังถูกดองนาน ขณะเดียวกันขอปรับสัญญาจ้างใหม่ เหตุถูกลดจาก 4 ปี เหลือ 1 ปี ตัดพ้อผู้บริหารสธ. ไม่ให้ความสนใจสายสนับสนุนหรืออย่างไร ทั้งที่ช่วยทำงานโควิดร่วมกับหลากหลายวิชาชีพ

เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2564 นายโอสถ สุวรรณ์เศวต ประธานสหภาพลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้(30 ก.ย.) เวลา 09.30 น. ทางสหภาพลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ประมาณ 20 คนจะเดินทางเพื่อขอเข้าพบนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้พิจารณาคืนสัญญาจ้างให้แก่ลูกจ้างในกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งปัจจุบันถูกเหลือเพียง 1 ปีจาก 4 ปี โดยขอให้พิจารณาคืนสัญญาจ้าง 4 ปีตามเดิม

“ลูกจ้างที่ทำงานในกระทรวงมีเป็นแสนๆ คน ทำงานสู้โควิด19 ร่วมกับหลากหลายวิชาชีพ เป็นบุคลากรด่านหน้าร่วมกันมาตลอดตั้งแต่ระบาดหนักๆ เมื่อมีการตอบแทนสร้างขวัญกำลังใจให้บุคลากรด้วยการขยายการบรรจุข้าราชการให้ แต่กลับพบว่ากลุ่มลูกจ้างสัญญาจ้าง ซึ่งเป็นสายสนับสนุนกลับไม่ถูกให้ความสำคัญ ถูกลดสัญญาจ้างลง ความมั่นคงในชีวิตการทำงานขาดหาย จึงต้องมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้พวกเขา” นายโอสถ กล่าว

นายโอสถ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังเข้ามาขอความเป็นธรรมกรณีที่ก่อนหน้านี้ที่เคยหารือร่วมกันว่า จะมีการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข หรือพกส. แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีการดำเนินการใด ซึ่งลูกจ้างชั่วคราว เป็นกลุ่มหนึ่งที่ทำงานช่วยโควิดมาตลอด แต่ด้วยเป็นสายสนับสนุนหรือไม่ จึงกลับไม่ได้ถูกให้ความสำคัญมาก ทั้งเรื่องเงินเดือน ทั้งสวัสดิการ หรือแม้แต่การขอให้ขึ้นเป็น พกส. ก็ยังไม่ได้รับการดำเนินการจนถึงขณะนี้ ดังนั้น ในวันที่ 30 ก.ย.นี้หวังว่า ผู้บริหาร สธ.จะให้ความสำคัญเรื่องนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อเรียกร้องของทางสหภาพลูกจ้างฯ ที่เคยยื่นข้อเรียกร้องมาก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย 1. ขอให้ปรับลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารสุขที่ยังตกค้างให้เป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) ทั้งหมด 2. ปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เป็น 9,000 บาทตามนโยบายของรัฐบาล 3. ปรับเพิ่มค่าตอบแทนตามประสบการณ์ 4.ปรับค่าตอบแทนล่วงเวลาให้เป็นมาตรฐานเดียวกันที่ 450 บาท 5. ให้จัดสรรค่าเสี่ยงภัยให้กับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 5 อำเภอใน จ.สงขลา 6. แก้ไขสัดส่วนกรรมการบริหาร พกส. ให้มีสัดส่วนลูกจ้างเขตละ 1 คน และ 7. ขอให้ปรับเกณฑ์การใช้เงินบำรุง รพ.มาจ่ายค่าตอบแทน มาเป็นการใช้เงินงบประมาณจากส่วนกลางแทน

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org