ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“อนุทิน” เผยกรมควบคุมโรคลงนามสัญญาจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าปี 65 เบื้องต้น 60 ล้านโดส มูลค่ากว่า 1.8 หมื่นล้านบาท เป็นบูสเตอร์โดสให้กับคนรับวัคซีนปี 64

เมื่อวันที่ 29 กันยายน ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานและสักขีพยานในการลงนามสัญญาการจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ระหว่าง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กับ นายเจมส์ ทีก ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด

นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้กรมควบคุมโรค ลงนามสัญญาจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าฯ สำหรับปี 2565 เบื้องต้นเป็นจำนวน 60 ล้านโดส มูลค่ากว่า 1.8 หมื่นล้านบาท โดยจะเป็นวัคซีนบูสเตอร์โดสให้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนในปี 2564 ทั้งการฉีดครบ 2 เข็มหรือการฉีดเข็ม 3 แล้วก็ตาม ซึ่งเราหวังว่าปีหน้าเราจะไม่ต้องฉีดวัคซีน 2 โดส ดังนั้น เราจึงมั่นใจได้ว่าประชากรไทย 60 ล้านคน สำหรับ 60 ล้านโดส จึงมีความเพียงพอ และด้วยการผลิตที่มีโรงงานในประเทศไทย ก็จะทำให้เราไม่ขาดแคลนวัคซีน มีวัคซีนแอสตร้าฯ เข้ามาเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ให้ทุกคนตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นไป แบ่งเป็น 3 ไตรมาส คือ ไตรมาสที่ 1 จำนวน 15 ล้านโดส ไตรมาส 2 อีก 30 ล้านโดส และไตรมาสที่ 3 จำนวน 15 ล้านโดส ครบ 60 ล้านโดส

“เรากับแอสตร้าฯ มีความเข้าใจกันมากขึ้น ทางผู้ผลิตก็ทราบถึงความต้องการวัคซีนของเรา เขาจึงให้คำยืนยันว่าจะให้ความสำคัญกับการส่งวัคซีนให้ประเทศไทยเป็นอันดับแรก” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ที่สำคัญคือสัญญาในรอบนี้ ทางกรมควบคุมโรคได้เจรจาได้เงื่อนไขที่ดีขึ้น ได้ราคาดีขึ้น ไม่ต้องมัดจำเงินจองวัคซีน โดยจะจ่ายเมื่อมีการส่งวัคซีนแล้ว นอกจากนั้น หากผู้ผลิตพัฒนาวัคซีนแอสตร้าฯ รุ่น 2 ที่ครบวงจรมากขึ้น ครอบคลุมสายพันธุ์เดลต้าและอื่นๆ ได้สำเร็จ เราสามารถสวิตคำสั่งซื้อได้ทันที โดยไม่มีค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม ปีหน้าวัคซีนแอสตร้าฯ อาจจะพัฒนารองรับการฉีดตั้งแต่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เราก็อาจจะใช้ในส่วนนี้ อาจไม่ต้องสั่งซื้อเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม การเจรจาจัดหาวัคซีนโควิด-19 ในปีหน้าเราได้หารือกับผู้ผลิตหลาย ๆ เจ้ายืนยันว่าไม่เคยปิดกั้นผู้ผลิตรายอื่น

แหล่งข่าวระดับสูง รายงานว่า เดิมการสั่งซื้อแอสตร้าฯ ในปี 2564 เป็นไปตามนโยบายของผู้พัฒนา คือไม่ขาดทุน และไม่หวังกำไร (No Profit No loss) ทำให้ประเทศไทยได้รับการทำสัญญาซื้อในอัตราประมาณ 5 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อโดส หรือราวๆ 170 บาทต่อโดส พร้อมกับการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ โดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ส่วนนโยบายในการจำหน่ายวัควีนแอสตร้าฯ ในปีต่อไป จะมีการทำกำไร แต่ไม่มากจนเกินไป ดังนั้นจึงทำให้ประเทศไทยซื้อวัคซีนในราคาที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่มาก โดยเฉลี่ยการสั่งซื้อวัคซีนแอสตร้าฯ สำหรับปี  65 จำนวน 60 ล้านโดส ใช้งบฯ 1.8 หมื่นล้านบาท จะเท่ากับเป็นการซื้อวัคซีนประมาณ 8.86 ดอลล่าร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 300 บาท ต่อโดส