ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรคอุบัติใหม่ที่ก่อให้เกิดความหายนะครั้งรุนแรงในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมากที่สุด ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขในขณะนี้ คงหนีไม่พ้นการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งกินระยะเวลามานานกว่าสองปีแล้ว และยังไม่มีความชัดเจนว่าโรคระบาดดังกล่าวจะสิ้นสุดลงเมื่อใด ถึงแม้ว่าหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการการป้องกันการติดเชื้อลง เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็วที่สุด

รวมถึงประเทศไทยที่มีแผนจะเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวเพื่อฟื้นเศรษฐกิจของประเทศในเดือนหน้า แต่ความกังวลของการกลับมีระบาดอีกครั้งหลังจากการผ่อนคลายกิจกรรมให้ใกล้เคียงกับภาวะปรกติให้ได้มากที่สุดก็ยังมีอยู่ แม้ว่าหลายประเทศได้เร่งระดมสรรพกำลังในการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด เพื่อป้องกันการระบาดในวงกว้างแล้วก็ตาม แต่อย่างไรก็ตาม การระบาดระลอกใหม่จากสายพันธุ์เดลต้า ก็เกิดขึ้นในหลายประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมประชากรจำนวนมากกว่า 70% ไม่ว่าจะเป็น อิสราเอล อังกฤษ หรือแม้กระทั่งสหรัฐอเมริกาที่เป็นประเทศผลิตวัคซีนโควิดอันดับต้นๆของโลก ก็หนีไม่พ้นการระบาดระลอกใหม่ของสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งนับตั้งแต่การระบาดในรอบแรกจนถึงปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 700,000 ราย

ความท้าทายอย่างหนึ่งที่จะควบคุมโรคระบาดโควิด-19 คือการหายารักษาที่มีประสิทธิภาพโดยตรงในการกำจัดเชื้อไวรัส แทนที่ยาปัจจุบันที่เน้นการรักษาตามอาการของผู้ป่วยโรคคิด-19 ซึ่งล่าสุดนักวิจัยจากบริษัทยารายใหญ่ของโลกในสหรัฐอเมริกา คือบริษัทเมอร์ค แอนด์ ริดจ์เบ็ก ไบโอเทราพิวดิกส์ ได้ประกาศผลสำเร็จของงานวิจัยเบื้องต้นในการพัฒนายา โมลนูพิราเวียร์ ในรูปแบบยาเม็ดสำหรับรับประทาน ซึ่งถือว่าเป็นยารักษาโรคโควิด-19 ตัวแรกของโรคที่มีการคิดค้นพัฒนาขึ้นมา โดยบริษัทดังกล่าวมีแผนที่จะขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาเพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉิน เช่นเดียวกับการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 หลายตัวที่ผลิตในสหรัฐอเมริกา

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านไวรัสวิทยาได้ออกมาให้ความเห็นสอดคล้องตรงกันว่า ยาโมลนูพิราเวียร์ จะเป็นตัวเปลี่ยนเกมส์ที่สำคัญในการต่อสู้กับการระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างเช่นความเห็นของ ดร. สก๊อต ก๊อตลิอาร์ป อดีตคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกากล่าวว่า ยาโมลนูพิราเวียร์เป็นตัวยารับประทานที่สำคัญมากที่สุดตัวหนึ่งเท่าที่มีการพัฒนามาเพื่อการรักษาโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ โดยตัวยาดังกล่าวมีกลไกทำงานที่สำคัญที่ไปขัดขวางการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสโควิด-19

ซึ่งเป็นกลไกเปลี่ยนแปลงเที่สำคัญในการต่อสู้กับโรคระบาด โดยหลักการการรักษาด้วยตัวยาดังกล่าวได้มาจากหลักการรักษาโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา เป็นต้น โดยตัวยาจะตรงเข้าไปจัดการ ทำลาย และขัดขวางการเจริญเติบโตของตัวจุลชีพที่ก่อให้เกิดโรค และในที่นี้หมายรวมถึงเชื้อไวรัสโควิด-19ด้วย โดยคนส่วนใหญ่ รู้จักยาต้านไวรัสเพื่อใช้ในการรักษาโรคเริม โรคเอดส์ โรคงูสวัด อีสุกอีใส และไข้หวัดใหญ่ ในชื่อของทามินฟลู หรืออะไคลโคเวียร์ เป็นต้น

ยาโมลนูพิราเวียร์ กับยา เรมเดซิเวียร์

ยาต้านเชื้อไวรัสที่สำคัญอีกตัวหนึ่งในการรักษาโรคโควิด คือยา เรมเดซิเวียร์ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ซึ่งผลิตโดยบริษัท กิลีด ไซน์ และจำหน่ายภายใต้ชื่อทางการค้าว่า เวอคูรี่ โดยเป็นยาที่ให้ทางเส้นเลือดดำ จึงมีความยากลำบากในการใช้กว่ายาโมลนูพิราเวียร์ ที่ใช้เป็นเม็ดรับประทาน นอกจากนี้ยาเรมเดซิเวียร์ใช้ไม่ได้ผลกับผู้ป่วยโควิด-19 ทุกราย โดยงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า มันไม่สามารถลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตได้ แต่จะทำให้การฟื้นตัวจากโรคได้เร็วขึ้นเมื่อให้ยากับผู้ป่วยที่มีอาการอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้สถาบันสุขภาพแห่งชาติ ได้ออกคำแนะนำการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ว่าสามารถให้ยาเรมเดซิเวียร์กับผู้ป่วยที่ใช้ออกซิเจน ในขณะที่องค์การอนามัยโลกออกคำแนะนำการใช้ยาดังกล่าวว่า ควรใช้เพื่อการทดลองทางคลินิคเท่านั้น

ดร. ดาเรีย ฮาซุดะ หัวหน้าสำนักงานวิทยาศาสตร์ของบริษัทเมอร์ค กล่าววว่า ยาโมลนูพิราเวียร์ ทำงานโดยการสอดแทรกเข้าไปอยู่รวมในพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 และให้ตัวพันธุกรรมทำงานผิดพลาดโดยผลิตจำนวนเชื้อได้น้อยลงกว่าปรกติ กล่าวโดยสรุปคือตัวยาดังกล่าวจะยับยั้งการเจริญเติบโตของไวรัสในร่างกายมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่ ดร. มาร์ค เดนิซัน นักไวรัสวิทยาอีกคนหนึ่งกล่าวว่า หลักการการทำงานของยาโมลนูพิราเวียร์ คือการทำให้ไวรัสกลายพันธุ์ เพื่อทำลายการทำงานของตัวไวรัสที่ก่อให้เกิดโรค โดยการไปทำลายจีโนมของไวรัส ทำให้ไม่สามารถเพิ่มจำนวนเชื้อได้อย่างเต็มที่

ยาต้านไวรัสชนิดรับประทาน กับ ความหวังใหม่ในการรักษาโรคโควิด-19

นักวิจัยเชื่อว่า ยาโมลนูพิราเวียร์ จะสามารถหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัส อีกทั้งระงับการเกิดอาการโควิดระยะยาว ที่เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยบางคนที่ไม่พบเชื้อในร่างกาย แต่ยังคงมีอาการคล้ายโควิดอยู่ระยะหนึ่ง รวมถึงการคาดหวังว่าตัวยาดังกล่าวจะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ โดยผู้ที่ได้รับยาจะมีความสามารถในการแพร่เชื้อได้ลดลง ดร. ลีนา เวน อดีตคณะกรรมการสุขภาพเมืองบัลติมอร์ กล่าวว่ายาต้านไวรัสดังกล่าวมีความสำคัญอย่างมากในการป้องกันการติดเชื้ออย่างรุนแรง และที่สำคัญคือสามารถใช้ได้ง่าย ผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางสามารถกินยานี้เองได้ที่บ้าน

ซึ่งจะลดภาระระบบสาธารณสุขของประเทศในการดูแลผู้ป่วยได้เป็นอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ยาหรือวิธีการรักษาแบบอื่นๆที่มีความสลับซับซ้อนมากกว่า เช่นการรักษาแบบการกระตุ้นแอนติบอดีที่สร้างจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ออกแบบมาให้มีความจำเพาะต่อความต้องการโมโนโคลนอลแอนติบอดีที่ใช้รักษาโควิด-19 ซึ่งใช้วีการฉีดกระตุ้น แม้การศึกษาพบว่าให้ผลเป็นที่น่าพอใจก็ตาม

ถึงแม้จะมียารักษาโรคคิด-19 แล้วก็ตาม วัคซีนยังคงเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการควบคุมการระบาดของโรค เพราะยาเป็นการรักษาที่ปลายเหตุเท่านั้น นอกจากนี้การวิจัยยาดังกล่าวยังต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง โดยกำลังอยู่ในขั้นการศึกษาว่า สามารถป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสได้ภายในครอบครัวหรือไม่ ส่วนกลุ่มที่ทดลองยาโมลนูพิราเวียร์ คือ กลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุและไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน มีภาวะอ้วน เป็นโรคเบาหวาน และโรคหัวใจ เป็นต้น

บริษัทเมอร์คมีแผนทีจะผลิตยา 10 ล้านชุดในการรักษาโรคโควิด-19 ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจำหน่ายไปกว่า 1.7 ล้านชุดให้กับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เมื่อได้รับการอนุมัติให้ใช้จากสำนักงานอาหารและยา และยังเตรียมพร้อมจำหน่ายทั่วโลก โดยร่วมมือกับบริษัทผลิตยายักษ์ใหญ่เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้กับประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อยได้เข้าถึงยาดังกล่าว

งานวิจัยระบุว่า ยาโมลนูพิราเวียร์สามารถลดอัตราการป่ยหนักและการตายมากกว่าครึ่ง โดยศึกษาจาก 7.3% ของคนไข้ 385 คนที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล หรือเสียชีวิต เปรียบเทียบกับ 14.1% ของคนไข้ 377 คนที่ได้รับยาหลอก อย่างไรก็ตามงานวิจัยดังกล่าวยังไม่ได้มีการตรจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญและยังไม่ได้มีการตีพิมพ์แต่อย่างใด

Source: What would an antiviral pill mean for the fight against Covid-19?, CNN website

Photo: Merck company

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org