ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ 4 จังหวัดชายแดนใต้” ทั้งยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา เป็นอีกพื้นที่ที่ต้องถูกจับตามองเป็นพิเศษ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 1,900 -2,000 รายต่อวัน จากไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ทำให้หลายคนวิตกว่า สุดท้ายแล้วหากควบคุมไม่อยู่ หรือเอาไม่อยู่จริงๆ จะระบาดหนักเหมือนกรุงเทพมหานครหรือไม่

ยิ่งช่วงที่ผ่านมานับตั้งแต่ชมรมแพทย์ชนบท “นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา และประธานชมรมแพทย์ชนบท ออกมาพูดทำนองว่า การระบาดของพื้นที่ภาคใต้ส่วนหนึ่งมาจากการควบคุมโรคที่ปริมาณวัคซีนป้องกันโควิดในพื้นที่ไม่เพียงพอ ซึ่งหากยังได้จำนวนน้อยก็คงต้องทำได้เพียงการเปิดโรงพยาบาลสนามมารองรับ

ร้อนถึงกระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในจังหวัดชายแดนใต้ ว่า จริงๆการระบาดจังหวัดชายแดนใต้ ยังไม่ได้ระบาดในกลุ่มก้อนหรือคลัสเตอร์ใหญ่ แต่เป็นการระบาดในชุมชน และขณะนี้มีทีมเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่ควบคุมโรค มีชุดตรวจ ATK คัดกรอง และมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้กับคนในชุมชน ซึ่งได้มีการจัดส่งมากกว่าแผนจัดสรรวัคซีน จากแผนจัดส่งอยู่ที่จำนวน 1,495,400 โดส ซึ่งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งลงไป 2,085,668 โดส ซึ่งมากกว่าแผนถึงกว่า 5 แสนโดส ทำการฉีดแล้ว 2,256,022 โดส โดยยืนยันว่า ส่งเกินเป้าด้วยซ้ำไป วัคซีนไม่ได้ขาด!!

และล่าสุดนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมทางภาคใต้ และยังสั่งให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเร่งควบคุมโรค เข้มมาตรการสกัดโควิด ไม่ว่าจะเป็นการส่งชุดตรวจ ATK เพิ่มเติม และส่งยา รวมทั้งวัคซีนเพิ่มเข้าไปเพื่อเตรียมระดมฉีดในสัปดาห์หน้า หวังลดจำนวนป่วยหนักและเสียชีวิต เป้าหมายต้องลดจำนวนผู้ติดเชื้อประมาณ 10% ต่อสัปดาห์ คาดการณ์ 1-2 เดือนต้องดีขึ้น หากไม่ดีขึ้นอาจต้องมีมาตรการทางสังคม

แฟ้มภาพกระทรวงสาธารณสุข

 

คำว่ามาตรการทางสังคม คืออะไร เพราะคำตอบนี้ ปลัดสธ.ตอบกับนักข่าวที่ถามว่า หากเอาไม่อยู่ใน 1 เดือนต้องล็อกดาวน์หรือไม่นั่นเอง...

เกี่ยวกับเรื่องนี้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลายว่า เพราะอะไร 4 จังหวัดภาคใต้จึงระบาดขึ้น ทั้งๆที่มีการเตือนจากทั้งอาจารย์โรงเรียนแพทย์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนักระบาดวิทยามาตลอดว่า ระวังจังหวัดชายแดนจะมีการระบาด ไม่ว่าจะเป็นการติดกับชายแดนธรรมชาติ หรือด้วยวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของพื้นที่ที่ต้องมีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ต้องพูดคุยกัน และส่วนใหญ่ไม่ยอมฉีดวัคซีน อาจเพราะเหตุผลใดก็แล้วแต่ แต่ด้วยสิ่งเหล่านี้มีการกำชับ และให้พื้นที่สื่อสารทำความเข้าใจ รวมทั้งขอความร่วมมือกับทางผู้นำทางศาสนาในการสื่อสารประเด็นนี้ เพื่อให้คนในชุมชนตระหนักและหันมาฉีดวัคซีน รวมทั้งป้องกันตัวเองจากโควิดมากขึ้น

ปรากฏว่าสุดท้ายก็ยังไม่สามารถควบคุมได้ดีพอ จึงเกิดคำถามว่า มาตรการต่างๆที่มอบหมายให้พื้นที่ทำจะดำเนินการได้จริงหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ก็ให้มีการดำเนินการเช่นกัน เพียงแต่ครั้งนี้มีวัคซีน มียา ชุดตรวจATK เพิ่มขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากฟังตามที่กรมควบคุมโรคบอกว่า วัคซีนที่ลงไปก่อนหน้านี้เกินกว่าแผนจัดสรรเสียอีก แต่เพราะอะไรถึงยังควบคุมไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องย้อนกลับไปที่การสื่อสารกับคนในชุมชนประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด ดังนั้น มาตรการครั้งนี้คงต้องเน้นการสื่อสารสร้างความเข้าใจให้มากที่สุด

ส่วนประเด็นที่มีคนตั้งคำถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่การควบคุมโรคในส่วนสาธารณสุขอาจประมาทเกินไป เนื่องจากสาธารณสุขในพื้นที่ส่วนหนึ่งมาช่วยพื้นที่กรุงเทพฯ ตอนระบาดหนักๆ อาจทำให้เกิดการชะงัก หรือควบคุมโรคในพื้นที่ของตัวเองไม่ได้มาก ก็ยังเป็นคำถามค้างคาใจว่า หากมีส่วนจริง เหตุใดกระทรวงสาธารณสุขยังให้บุคลากรในจังหวัดที่มีความสำคัญมากในการควบคุมโรคลงไปช่วยกรุงเทพฯ ทั้งๆที่จังหวัดอื่นก็สามารถไปแทนได้ เรื่องนี้จึงยังเป็นคำถามอีกเช่นกันว่า สุดท้ายเพราะไม่มีการเตรียมพร้อมสถานการณ์ล่วงหน้าอย่างมีประสิทธิภาพหรืออย่างไร หรือเพราะขาดความร่วมมือกับฝ่ายต่างๆ หรือระดับนโยบายสูงสุด  ไม่ว่าจะเป็นรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข "อนุทิน ชาญวีรกูล"  รวมไปถึงระดับรัฐบาล นายกรัฐมนตรี "พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา"  ที่นั่งหัวโต๊ะ ศบค. มองภาพกว้างไม่ถึง  หรือทั้งหมดมอบหมายนโยบายลงมาแล้วแต่กลับติดขัดอุปสรรคปัญหาใด  ก็ไม่มีใครจะหยั่งรู้ได้ว่า แท้จริงสาเหตุมาจากสิ่งใดกันแน่

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้การจะไปกล่าวโทษใครคงไม่ก่อประโยชน์มากนัก ต้องเอาใจช่วยว่า มาตรการต่างๆ จะทำได้สำเร็จและควบคุมโรคได้มากน้อยแค่ไหน จะลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้ 10% ต่อสัปดาห์ภายใน 1 เดือนหรือไม่ หากไม่ได้ คงไม่วาย “ล็อกดาวน์” 

ตัวเลขวัคซีนสะสม 4 จังหวัดภาคใต้ ข้อมูลถึงวันที่ 7 ต.ค.64

 

**************************

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org