ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิชาการอิสระเสนอข้อคิดเห็นต่อ กมธ.สาธารณสุข กรณียกระดับ รพ.สต. จัดเป็นหน่วยบริการระบบสุขภาพปฐมภูมิแก่ประชาชน ความเป็นจริงในอนาคตอาจต้องคิดใหม่ เหตุติดความพร้อมการให้บริการทางการแพทย์ ยังมีขีดจำกัด ไม่มีหมอประจำ เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่รักษา ไม่มียาและเวชภัณฑ์ที่พร้อมเหมือนโรงพยาบาล ไม่มีบุคลากร พยาบาลวิชาชีพประจำ 24 ชม. ใครจะไป รพ.สต.  

เมื่อเร็วๆนี้ ดร.เฉลิมพล ไวทยางกูร นักวิชาการอิสระและ ผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรมด้านภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นอีกผู้หนึ่งที่ทำงานด้านการปฏิรูปงานสาธารณสุข ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Chalermpol Waitayangkoon  เกี่ยวกับการประชุมคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา เรื่องการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ใจความดังนี้
กรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภามีการประชุมเรื่องการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ตามแผนปฏิรูปประเด็นระบบบริการปฐมภูมิ มีผู้แทนจากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงอุดมศึกษาฯ แพทยสภา และราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย ร่วมชี้แจงเป็นการประชุมแบบออนไลน์
เรื่องนี้ดูจะเป็นเรื่องติดตามความก้าวหน้าโครงการแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่ตามแผนนั้นจะต้องมี 6,500 ทีม เรามี พ.ร.บ.ระบบสุขภาพ ที่กำหนดให้มีแพทย์ปฐมภูมิทุกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) มาตั้งแต่ปี 2562 แต่จนบัดนี้ดูเหมือนจะทำได้แค่ไม่กี่ร้อยคน  ไม่มีแพทย์เรียนเวชศาสตร์ครอบครัว ไปเป็นหมอครอบครัว อยู่ชนบท


"ผมเพิ่งเขียนเรื่องการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและระบบองค์กรภาครัฐเมื่อไม่นานมานี้ เฉพาะเรื่อง รพ.สต. ผมมีความเห็นว่าการให้ รพ.สต.ทำหน้าที่เป็นหน่วยบริการหมอครอบครัวเป็นเรื่องดี แต่กาลเวลาที่ผ่านไปเรื่อยๆ โดยที่เราไม่สามารถจัดตั้งหรือขับเคลื่อนโครงการหมอครอบครัวได้ทำให้คิดว่า บางทีเราอาจต้องคิดใหม่"
สถานการณ์โควิด-19 แสดงให้เห็นว่าระบบสุขภาพของเรามีโรงพยาบาลรัฐทุกระดับ ไม่ว่าโรงพยาบาลุชมชน (รพช.) โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) โรงพยาบาลศูนย์(รพศ)  ทำหน้าที่เป็นแกนหลักได้ดีทั้งด้านการป้องกันและการรักษาผู้ป่วยแม้ว่าจะเป็นการทำงานหนัก แทบเลือดตากระเด็น ส่วนหน่วยบริการอื่นนั้น เป็นตัวสนับสนุน ที่สำคัญคือมีการใช้เทคโนโลยี ส่งผ่านข้อมูลข่าวสาร ติดต่อประชาสัมพันธ์กับประชาชนได้ทั้งประเทศ รวมทั้งเรื่องการให้ผู้ป่วยรักษาตัวเองที่บ้าน หรือ home isolation 


"ผมจึงคิดว่าระบบสุขภาพปฐมภูมิที่เราต้องการยกระดับ รพ.สต.ให้ขึ้นมาเป็นหน่วยบริการนั้น อาจต้องคิดใหม่ เพราะถ้าประเทศเรามีการพัฒนาด้านการสื่อสาร การคมนาคมติดต่อสะดวกรวดเร็ว ประชาชนทุกหมู่บ้านเข้าถึง รพ.ของรัฐโดยใช้เวลาเดินทางแค่ชั่วโมงหรือสองชั่วโมงจากหมู่บ้านมาโรงพยาบาล อย่างนี้ประชาชนจะไป รพ.สต.ทำไม เพราะใครๆก็รู้ว่าความพร้อมในการให้บริการทางการแพทย์ของ รพ.สต.นั้นมีขีดจำกัด ไม่มีแพทย์ประจำ ไม่มีเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่รักษา ไม่มียาและเวชภัณฑ์ที่พร้อมเหมือนโรงพยาบาล รวมทั้งไม่มีบุคคลากรทางการแพทย์และพยาบาลวิชาชีพประจำตลอดเวลา 24 ชั่วโมง แล้วใครจะไป รพ.สต."
ในอนาคตการสื่อสารจะยิ่งรวดเร็วมีประสิทธิภาพมากขึ้นผ่านอุปกรณ์สื่อสารราคาไม่แพง เกือบทุกบ้านมีมือถือ มีรถที่ใช้เดินทาง ถนนหนทางดีมากเข้าถึงเกือบทุกหมู่บ้าน เดินทางสะดวกรวดเร็ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ประชาชนย่อมเข้าถึงโรงพยาบาลรัฐในแต่ละอำเภอได้ไม่ยาก แล้วใครจะไปเริ่มต้นที่ รพ.สต.
"ผมตั้งข้อสังเกตส่งให้ท่านประธาน กมธ.  แล้ว เพราะโลกเปลี่ยนเร็วนะครับ..." ดร.เฉลิมพล กล่าวทิ้งท้าย

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :

ข้อคิดเห็น "โฆษกสภาการสาธารณสุข" กรณียกระดับการทำงาน รพ.สต.

ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊ก Chalermpol Waitayangkoon

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org