ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ด้วยมาตรการ Social Distancing ที่ป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เมื่อปีที่แล้วผู้ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่มีจำนวนลดลง แต่ยังไม่ควรชะล่าใจ เพราะยังมีหลักฐานจาก องค์กรอนามัยโลก(WHO) พบว่ามีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่อยู่ต่อเนื่องทุก ๆ ปี ในคนไทยส่วนมากยังมีความเข้าใจผิดว่าไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่ไม่เป็นอันตรายรุนแรงมากนัก จึงค่อนข้างละเลย ไม่ให้ความสำคัญในการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ แต่ในความเป็นจริงแล้วการป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่มีโอกาสเสียชีวิตไม่แพ้โรคอื่น ๆ เลย

ยิ่งไปกว่านั่นในช่วงหน้าฝน มักเป็นช่วงที่พบการระบาดของไข้หวัดใหญ่ได้ง่าย ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์มีความกังวลเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากพบการติดเชื้อร่วมกัน (Co-infection) ของเชื้อไข้หวัดใหญ่กับเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็จะทำให้มีผู้ติดเชื้อมีอาการรุนแรงมากกว่าเดิม รวมถึงเป็นการเพิ่มโอกาสการเสียชีวิตมากขึ้นอีกด้วย

เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 ที่ผ่านมามูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ ได้จัดเสวนา “ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่…ในยุคโควิด-19”  โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภาครัฐมาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ที่ถูกต้อง ความสำคัญของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ รวมถึงการศึกษาวิจัยใหม่ ๆ ของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่น่าสนใจในช่วงการระบาดของโควิด-19 พบว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีส่วนช่วยลดความรุนแรงของอาการที่เกิดจากการติดเชื้อโควิด-19 รวมทั้งยังลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย่างเป็นนัยะสำคัญ

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ และนายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ในทางทฤษฎีแล้ววัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่ได้ช่วยป้องกันโควิด-19 แต่เชื่อว่าน่าจะมีการกระตุ้นทางอ้อมของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ยิ่งในช่วงภาวะวิกฤตเช่นนี้ทรัพยากรทางการแพทย์เป็นสิ่งสำคัญ และวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีส่วนช่วยในการลดภาระหมอจากการรักษาผู้ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ทั้งมีส่วนช่วยลดอาการรุนแรงจากการติดเชื้อโควิด รวมถึงยังลดโอกาสการเกิดโรคร่วมกัน (Co-infection) จากทั้งเชื้อไวรัสทั้ง 2 นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยลดความวิตกกังวลกับความสับสนจากอาการที่ใกล้เคียงกัน ระหว่างเป็นไข้หวัดใหญ่กับติดโควิดได้อีกด้วย

ผลการศึกษาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างโควิด-19 กับ การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ในช่วงปี 2020 – 2021

ประเทศสหรัฐอเมริกามี ผลการวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ในผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และจำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 22 มกราคม - 10 มิถุนายน 2020 (อ้างอิงจาก US National Library of Medicine - National Institutes of Health) พบว่า เมื่อมีการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ครอบคลุมมากขึ้นทุก ๆ 10% จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ได้ถึง 28%

ทางฝั่งของประเทศบราซิล มีผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบอัตราความรุนแรงกับอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ดังนี้ อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ประมาณ 50,000 ราย ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 23 มิถุนายน 2021 โดยศึกษาเปรียบเทียบใน 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในระยะ 1-3 เดือนที่ผ่านมา และ 2. กลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ผลปรากฏว่าการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในผู้ป่วยโควิด-19 จะช่วยลดอัตราการนอนในแผนกผู้ป่วยหนักได้ 7% ช่วยลดอัตราของผู้ป่วยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจได้ถึง 17% และลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึง 16%  ซึ่งวิเคราะห์ออกมาได้ว่า การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ช่วยลดความรุนแรงและลดอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้ (อ้างอิงจากบทความ BMJ Evidence-Based Medicine ฉบับเดือนสิงหาคม 2021)

ด้าน ศ.นพ. ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถานเสาวภา สภากาชาดไทยเองก็สนับสนุนและให้ความสำคัญในการเข้าไปรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ด้วยเช่นกัน โดยให้ข้อมูลว่า มีผลการศึกษาต่าง ๆ มากมายที่บ่งชี้ว่า ‘วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19’ เพราะทั้ง 2 โรคมีการแสดงอาการเบื้องต้นไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะอย่างไรก็ตามเมื่อติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ก็จะต้องไปตรวจรักษาเหมือนผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ดี ทั้งยังมีความเสี่ยงการติดเชื้อร่วมกันได้ ส่งผลให้มีอาการเจ็บป่วยรุนแรงขึ้น นอนโรงพยาบาลนานมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง อย่างเช่น ผู้สูงอายุ และคนที่มีโรคประจำตัว

ส่วนสถานการณ์การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ของไทยในปัจจุบันพบในทุกเพศทุกวัย โดยส่วนใหญ่จะพบในเด็กช่วงอายุ 0-4 ปี รองลงมาคือเด็กอายุ 5-14 ปี และที่สำคัญขณะนี้ในไทยยังไม่มีมาตรการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี

ฉะนั้น แพทย์จึงแนะนำ ให้ผู้ปกครองควรพาบุตรหลานไปรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก่อน เพื่อเลี่ยงความเสี่ยงที่จะติดเชื้อร่วมกันจากเชื้อไวรัสทั้ง 2 นี้  ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป รวมไปถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ โรคไตวาย โรคตับ ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ก็ควรเข้าไปรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่เองด้วยเช่นกัน 

อย่างไรก็ตามมีความเชื่อผิด ๆ มากมายเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่อาจทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความลังเล และสับสน ว่าควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใดบ้าง สามารถฉีดร่วมกับวัคซีนโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัยจริงหรือไม่ หากฉีดได้ควรเว้นระยะห่างเท่าใดหรือต้องเตรียมตัวอย่างไร เด็กอ่อนสามารถฉีดได้หรือไม่

ทางศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (CDC) ได้ออกมายืนยันและแนะนำระยะเวลาของการฉีดวัคซีนโควิด-19 และวัคซีนอื่น ๆ ในวันเวลาเดียวกันได้จริง ๆ  

หากแต่ผู้เชี่ยวชาญของประเทศไทยได้แนะนำการฉีดวัคซีนโควิด-19  วัคซีนไข้หวัดใหญ่ หรือวัคซีนชนิดอื่น ๆ ควรเว้นระยะห่างเป็นเวลา 14 วัน เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงของวัคซีนทั้งสองที่อาจจะซ้อนทับกัน โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้สนับสุนช่วยเหลือ ขยายระยะเวลาเปิดให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ชนิด 3 สายพันธุ์ สำหรับ 7 กลุ่มเสี่ยง รวมทั้งบุคลากรหรือผู้ปฏิบัติงานที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 และกลุ่มที่อยู่ในชุมชนแออัดและโรงเรียนในทุกช่วงอายุโดยไม่มีค่าใช้จ่าย จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 นี้

โดยมีแนวทางปฎิบัติในการเข้ารับวัคซีน 3 แบบ คือ 

  • ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ก่อน ฉีดวัคซีนโควิด-19
  • ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ระหว่าง ฉีดวัคซีนโควิด-19 
  • ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ หลัง ฉีดวัคซีนโควิด-19

ไขข้อสงสัยสำหรับเด็กอ่อนหรือเด็กทารก ว่ามีความจำเป็นต้องเข้าไปรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่หรือไม่

ผู้เชี่ยวชาญทั้งไทยและต่างประเทศแนะนำให้ผู้ที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เว้นแต่มีอาการแพ้วัคซีนขั้นรุนแรง และในสถาณการ์ณ์โควิดนี้ การได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีความสำคัญมากกว่าปกติ

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสายพันธุ์วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 

สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิด 3 สายพันธุ์ (แบบฟรี) และวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์ (เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม) 

สำหรับวัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ สามารถครอบคลุมเชื้อไวรัสสายพันธุ์ B ได้ทั้ง 2 สายพันธุ์  ครอบคลุมเชื้อไวรัสสายพันธุ์ A ทั้ง H1N1 และ H3N2 และสายพันธุ์ B ทั้งตระกูล Victoria และ Yamagata จึงเพิ่มความสามารถในการครอบคลุมเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีการระบาดเพิ่มขึ้น 

ส่วนวัคซีนชนิด 3 สายพันธุ์ เองก็มีประสิทธิภาพและสามารถครอบคลุมการป้องกันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ดี ประชาชนสามารภไว้วางใจได้เพราะเป็นวิคซีนชนิดสายพันธุ์ที่แพทย์ไทยได้คัดสรรมาตามควาเหมาะสม ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทย เพื่อประชาชนได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพที่ดี

สิ่งที่ควรรู้คือ ประสิทธิภาพของวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีความแตกต่างกันในทุก ๆ ปี ขึ้นอยู่กับชนิดของไวรัสที่แพร่ระบาด แต่อย่างไรก็ตามมันก็ยังคงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไข้หวัดใหญ่ อาการแทรกซ้อนรุนแรงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโควิดได้ และอัตราการเสียชีวิต โดยเฉพาะในสถาณการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

เกี่ยวกับความปลอดภัยในการรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่กับวัคซีนโควิด-19

อ้างอิงจากข้อมูลจากสำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ผลการศึกษาจากประเทศอังกฤษ นำโดยมหาวิทยาลัยบริสตอล (University of Bristol ) พบว่า มีรายงานผลข้างเคียงตั้งแต่ไม่รุนแรงจนถึงปานกลาง และไม่ส่งผลเสียต่อการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน จากการทดสอบด้วยวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 3 ชนิดสายพันธุ์ กับวัคซีน ไฟเซอร์ แอสตร้าเซเนก้า

ซึ่งผลการศึกษานี้กำลังดำเนินการ นำเสนอต่อ คณะกรรมการร่วมว่าด้วยการฉีดวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันโรค (Joint Committee on Vaccination and Immunisation—JCVI) เพื่อพิจารณาและกำหนดนโยบายในการวางแผนโครงการปูพรมฉีดวัคซีนในอนาคต

ซึ่งมีการศึกษาทดลอง ดังนี้ กลุ่มที่ 1 จะได้รับวัคซีนโควิด-19 กับฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในวันที่มารับวัคซีนครั้งแรก สำหรับครั้งที่ 2 จะได้รับยาหลอก และกลุ่มที่ 2 จะได้รับวัคซีนโควิด-19 และยาหลอกในวันเดียวกัน และจะได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในวันที่ 2

ผลการศึกษาพบว่า 97% ของผู้เข้าร่วมการวิจัยนี้ กล่าวว่า มีความยินดีที่จะรับวัคซีนทั้ง 2 ชนิดพร้อมกันในอนาคต

และการศึกษาทดลองนี้มีอาสาสมัครเข้าร่วม 679 คน จากเมืองทั่วทั้ง 12 แห่ง ในเขตอังกฤษและเวลส์ และได้รับการเผยแพร่เป็นฉบับพิมพ์ล่วงหน้า พร้อมผลงานฉบับเต็มที่จะเผยแพร่ใน Lancet

สุดท้ายสิ่งที่ควรรู้ เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่นั่นมีการระบาดตลอดปี แต่จะเริ่มแพร่ระบาดในเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม มากเป็นพิเศษ ดังนั้นจึงแนะนำให้ไปฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้เสร็จภายในเดือนตุลาคม เพราะช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่เหมาะสมในการเริ่มรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่

ทั้งนี้ แม้ว่าจะได้รับวัคซีนตัวใดตัวหนึ่งไปแล้วก็ตาม แต่วัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้ไม่สามารถใช้ป้องกันการติดเชื้อแทนกันได้ สำหรับประชาชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนชนิดใดเลยสักเข็ม ก็สมควรอย่างยิ่งที่จะไปรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่รอก่อน กล่าวคือ มันก็เหมือนกับเราใส่เกราะป้องกัน 1 ชั้นไว้ และหากได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 ชนิดก็เหมือนกับเราใส่เกราะป้องกันเพิ่มเป็น 2 ชั้นนั่นเอง