ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภาคประชาชนด้านสุขภาพ และ FTA WATCH บุก กระทรวงต่างประเทศ คัดค้าน รมว.ดอน เตรียมชง CPTPP เข้า ครม. หวั่นเป็นการทำลายนโยบายด้านสุขภาพ

เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2564 ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา พร้อมด้วย เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน เครือข่ายความมั่นคงทางอาหารชุมชนเมือง และ FTA watch ได้มายื่นจดหมายถึงท่านดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่กำลังผลักดันอย่างหนักเพื่อให้ไทยยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)และจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติเห็นชอบในสัปดาห์หน้านั้น

นายคำรณ ชูเดชา กล่าวว่า ท่านรองนายกฯ ไม่สนใจข้อท้วงติงของหน่วยราชการ ภาควิชาการ สภาองค์กรของผู้บริโภคและภาคประชาสังคมอื่น รวมถึงข้อเสนอแนะหลักของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่ว่า การเจรจาของรัฐบาลควรมีกรอบเจรจาที่เกิดจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหว หากเจรจาไม่ได้ตามที่ระบุไว้ ก็ไม่ควรเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง ซ้ำยังกดดันหน่วยราชการอื่นๆให้ปรับลดประเด็นสีแดงงเป็นสีเหลือง สีเหลืองเป็นสีเขียว โดยไม่คำนึกถึงผลกระทบอย่างแท้จริง

นายคำรณ กล่าวว่า ในอดีตกระทรวงต่างประเทศ เคยทำการเจรจาความตกลง JTEPA ไทย- ญี่ปุ่น จากของเสียอันตรายที่อยู่ในพิกัดภาษีศุลกากรของ JTEPA เช่น ขี้แร่, ขี้ตะกอน, เศษอื่นๆ ที่ได้จากการผลิตเหล็กหรือเหล็กกล้า, ตะกอนของน้ำมันเบนซินชนิดเติมสารตะกั่ว, ตะกอนของสารกันเครื่องยนต์เคาะที่มีตะกั่ว, เถ้าและกากที่ได้จากการเผาขยะเทศบาล, ของเสียทางเภสัชกรรม, ของเสียจากสถานพยาบาล, ผลิตภัณฑ์ที่เหลือจากอุตสาหกรรมเคมีหรือจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน, ขยะเทศบาล, ตะกอนจากน้ำเสียและของเสียอื่นๆ, ของเสียที่เป็นของเหลวกัดล้างโลหะ, น้ำมันไฮดรอลิก น้ำมันเบรคและของเหลวกันการเยือกแข็ง, ของเสียอื่นๆ จากอุตสาหกรรมเคมีหรือจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน ตั้งแต่ปี 2551 ที่ประเทศไทยลงนามทำความตกลง JTEPA ถือเป็นความตกลงฯ ฉบับแรกที่แสดงอย่างชัดเจนถึงการเปิดเสรีให้มีการเคลื่อนย้ายข้ามแดนสำหรับของเสียอันตรายทุกประเภท ที่นิยามของเสียหมายรวมถึงของเสียที่รีไซเคิลได้และที่รีไซเคิลไม่ได้ (นำเข้ามาทิ้ง) โดยกำหนดเป็นพิกัดศุลกากรอย่างเป็นทางการซึ่งมีผลให้ต้องเปิดเสรีต่อมาในความตกลงฉบับต่างๆ จนประเทศไทยมีสภาพใกล้เคียงกับถังขยะโลก

นายคำรณ กล่าวอีกว่า ทั้งๆที่ช่วงก่อนการลงนาม JTEPA กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเคยปฏิเสธอย่างแข็งขันว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าของเสียอันตราย แต่เมื่อภาคประชาสังคมตรวจสอบและพบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ จึงมีการยอมรับถึงข้อผิดพลาดในการเจรจาความตกลง JTEPA เนื่องจากความตกลงที่ญี่ปุ่นทำกับประเทศอื่นๆในอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ในช่วงเวลาใกล้ๆกันนั้น ไม่มีเนื้อหาที่ยอมรับขยะเป็นสินค้าเช่นไทย และยังพบว่า ในขณะนั้น การแต่งตั้งคณะบุคคลจากหน่วยงานราชการไทยในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศไม่ได้ให้ความสำคัญกับผู้แทนจากหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ แต่ให้น้ำหนักกับผู้นำจากภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ดังนั้นในการเจรจาความตกลงระหว่างประเทศที่ผ่านมา จึงไม่มีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

“ดังนั้น สังคมไทยสมควรได้รับคำขอโทษอย่างเป็นทางการจากกระทรวงการต่างประเทศที่ทำหน้าที่เจรจา JTEPA และนี่ควรเป็นบทเรียนที่สำคัญของกระทรวงการประเทศเพื่อไม่ให้เดินผิดพลาดเช่นที่ผ่านมาอีก เราห่วงใยประเด็นนโยบายด้านสาธารณะสุขและสุขภาพที่จะได้รับผลกระทบจาก CPTPP โดยเฉพาะ การเปิดตลาดเครื่องมือแพทย์มือสอง / ระบบสิทธิบัตรและระบบขึ้นทะเบียนยา / ผลกระทบต่อการออกมาตรการควบคุมยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของ CPTPP) / ภูมิปัญญาท้องถิ่นและสมุนไพร ความหลากหลายทางชีวภาพ การแบ่งปันผลประโยชน์ผลกระทบจาก การบังคับเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV1991) / การขอยกเว้นกำหนดเป็นข้อสงวนการใช้กลไกเอกชนฟ้องรัฐในการออกมาตรการด้านสาธารณสุข (ยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการใช้ CL) ซึ่งจะสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสังคมไทย ทำนอง เหล้าจะถูก ยาจะแพง พืชเมล็ดพันธ์จะถูกผูกขาด” นายคำรณ กล่าว