ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากกรณีที่เคยมีการเผยแพร่สูตรสมุนไพรไทย “กระเทียมผสมมะนาว” อ้างว่าเป็นสูตรยาเทวดาสามารถใช้รักษาได้สารพัดโรค เช่น โรคเบาหวาน โรคเกาต์ได้ พร้อมระบุขั้นตอนการทำ และวิธีการประทาน ทำให้ประชาชนแชร์ข้อมูลดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ทางศูนย์ข้อมูลยาสมุนไพร การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้ตรวจสอบ รวบรวมข้อมูลจากรายงานการศึกษาวิจัยต่าง ๆ และให้ข้อสรุปว่า ข้อมูลดังกล่าวมีความเท็จเป็นส่วนใหญ่ และไม่ควรแชร์ต่อ ซึ่งมีข้อมูลสรุปดังนี้

กระเทียม มีข้อมูลปรากฎว่า สามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ความดันเลือด และไขมันในเลือด แต่ไม่พบข้อมูลว่าสามารถช่วยรักษาโรคเก๊าส์ได้ ทั้งไม่พบข้อมูลระบุอย่างชัดเจนว่า มีการใช้มะนาวป้องกันโรคเบาหวานและโรคเก๊าส์ ดังนั้น ข้อมูลที่กล่าวไว้ข้างต้นนั้น ไม่มีความน่าเชื่อถือและไม่มีหลักฐานมากพอที่จะยืนยันได้ว่า สามารถใช้ป้องกันโรคทั้งสองได้อย่างมีประสิทธิผลและปลอดภัย ประชาชนควรบริโภคสมุนไพรทุกชนิดในปริมาณที่เหมาะสมต่อร่างกาย และไม่ควรเชื่อถือข่าวที่ไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิผลและความปลอดภัยทางการแพทย์ที่มากเพียงพอ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ 

ข้อเท็จจริงของพืชสมุนไพรทั้ง 2 ชนิดนี้

กระเทียม ( Allium sativum L.) โดยปกตินั้นเป็นพืชสมุนไพรที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องปรุงประกอบอาหารและยา ซึ่งประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหย ประมาณ 0.1-0.4% มีองค์ประกอบหลักคือ allicin ajoene alliin allyldisulfide diallyldisulfide ซึ่งเป็นสารประกอบในกลุ่ม organosulfur ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค สารอัลลิซิน (Allicin) สรรพคุณช่วยลดไขมันในเลือด ลดความดันโลหิต และมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้ 
จากการศึกษาวิจัยในหนูแรทที่ถูกทำให้เป็นเบาหวาน โดยสาร Streptozotocin พบว่า สารสกัดกระเทียมสามารถเพิ่มอินซูลินใน Serum ซึ่งมีผลต่อการลดระดับน้ำตาลในเลือดได้

ด้านสรรพคุณตามตำรายาไทยระบุว่า ใช้หัวกระเทียมเป็นยาขับลม แก้ลมจุกเสียด แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ขับเสมหะ บำรุงธาตุ ขับปัสสาวะ แก้ไอ แก้อัมพาต ลมเข้าข้อ แก้หวัดคัดจมูก บำรุงเส้นผมให้ดกดำ หากใช้เป็นยาทาภายนอก จะช่วยรักษาแผลเรื้อรัง รักษากลากเกลื้อน แก้โรคผิวหนัง ช่วยบรรเทาอาการปวดบวมตามข้อเมื่อใช้เป็นยาพอกให้ร้อน เป็นหนึ่งในส่วนประกอบในตำรับยาเหลืองปิดสมุทร (แก้ท้องเสีย), ยาประสะไพล (ขับน้ำคาวปลา ในสตรีหลังคลอด), ยาธาตุบรรจบ (แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ท้องเสีย โดยใช้กระเทียม 3 กลีบมาทุบแล้วชงน้ำร้อน และใช้เป็นน้ำกระสายยา สำหรับยาผง) 

มะนาว ( Citrus aurantiifolia (Christm.) Swingle  สรรพคุณตามตำราสรรพคุณยาไทยระบุว่า  ผิวมะนาวจะใช้เป็นยาแก้ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ แก้ลมวิงเวียน แก้ปวดท้อง จุกเสียดแน่น เป็นยาขับเสมหะ แก้เบื่ออาหาร แก้ลมท้องขึ้นท้องเฟ้อ แก้ลมวิงเวียน แก้ปวดท้อง จุกเสียดแน่น ขับเสมหะ แก้เบื่ออาหาร บำรุงกระเพาะ หรือดมหรือทา บรรเทาอาการหวัด คัดจมูก แก้ลมวิงเวียน ส่วนน้ำในผล จะให้รสเปรี้ยว มีสรรพคุณช่วยกัดเสมหะ แก้ไอ ฟอกเลือด แก้เลือดออกตามไรฟันเด็ก ตามตำราสรรพคุณยาโบราณระบุไว้ว่า น้ำมะนาวมีรสเปรี้ยว ช่วยแก้ไอ ขับเสมหะ ฟอกโลหิตในประจำเดือนของสตรี 

วิธีใช้ ให้ผสมกับเกลือและน้ำตาลทรายแดง แล้วจิบเป็นยาแก้ไอ ขับเสมหะ หรือกินเป็นยาฟอกเลือด กัดเถาดานในท้อง ล้างเสมหะในคอ หากทำเป็นเครื่องดื่มสมุนไพร จะทำให้ชุ่มคอ ชื่นใจ ช่วยระบาย มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง

ในแง่ของผลกระทบต่อสุขภาพ 

หากบริโภคกระเทียมอย่างต่อเนื่องและปริมาณมากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีแผลในกระเพาะอาหาร กลิ่นปากไม่พึงประสงค์ รวมถึงทำให้เลือดแข็งตัวช้า เนื่องจากกระเทียมมีฤทธิ์ยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือด จึงไม่ควรรับประทานควบคู่กับยากลุ่มที่มีฤทธิ์ทำให้เลือดแข็งตัวช้า เช่น ยาเฮพาริน (heparin) ยาวาร์ฟาริน (warfarin) แอสไพริน (aspirin) เป็นต้น เพราะจะเป็นการเสริมการออกฤทธิ์ของยา โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด 

สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ต้องรับประทานยาในกลุ่มนี้เป็นประจำ และชื่นชอบการบริโภคกระเทียมควรระมัดระวัง เพราะจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคซีดหรือโรคโลหิตจางได้ นอกจากนี้ไม่ควรรับประทานกระเทียมสดขณะท้องว่าง เพราะอาจทำให้ระบบทางเดินอาหารผิดปกติ 

ในส่วนข้อควรระมัดระวังในการบริโภคมะนาว และข้อควรรู้หากต้องกับร่วมกับยา มีดังนี้

  • ยาในกลุ่ม Tricyclic Antidepressant เช่น Amitriptyline, ยาในกลุ่ม Quinolones, Fluoroquinolone, Sulfonamide, Tetracycline และ Methoxsalen เป็นต้น อาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียงในการเพิ่มความไวต่อแสงแดดของผิวหนัง ถ้ามีการทาน้ำมันมะนาวร่วมด้วยอาจไปเพิ่มความไวต่อแสงแดดได้ เพิ่มโอกาสเสี่ยงการเกิดผิวไหม้ เป็นผื่น หรือพุพองบริเวณผิวหนังที่ถูกแสงแดด  
  • ยา Ketoconazole, Itraconazole, Fexofenadine, และTriazolam ยาพวกนี้จะเกิดปฏิกิริยาภายในตับ มะนาวอาจทำให้ระยะเวลาในการเปลี่ยนรูปของยาเหล่านี้ลดลง การดื่มน้ำมะนาวขณะรับประทานยาจึงอาจจะทำให้มีผลข้างเคียงมากขึ้นดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์ก่อน

และในความเป็นจริงแล้วสมุนไพรบางชนิดไม่ได้มีผลรักษาโรคเพียงบางโรค แต่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพในภาพรวมได้เช่นกัน และความจริงคือ กระเทียมไม่ได้ช่วยรักษาโรคเบาหวาน แต่อาจมีผลทำให้ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ เพื่อความปลอดภัยในการใช้สมุนไพรระยะยาว ควรได้รับคำปรึกษาจากผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ เช่น จากผู้ประกอบวิชาชีพก่อนทุกครั้ง

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก