ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทย์ตรวจสายพันธุ์ย่อยโควิด พบ อัลฟาพลัส 18 ราย เดลตาพลัส AY.1 จำนวน 1 ราย ย้ำ! ยังไม่พบเดลตาพลัสสายพันธุ์ “AY.4.2” ในไทย พร้อมเฝ้าระวังตรวจต่อเนื่อง ส่วนสายพันธุ์อัลฟาพลัส ล่าสุดพบในผู้ต้องขังเชียงใหม่ 2 ราย แลแรงงานล้งลำไยจันทบุรี-ตราดอีก 16 ราย เป็นคนไทย 12 ราย กัมพูชา 12 ราย ด้าน “อธิบดีกรมวิทย์” เผยข้อมูล GISAID พบอัลฟาพลัสระบาดมากในกัมพูชา ด้าน "รมช.สธ." ย้ำสายพันธุ์ที่พบยังไม่มีนัยยะสำคัญต้องทบทวนการเปิดประเทศ

เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวการเฝ้าระวังเชื้อโควิดกลายพันธุ์ กับประเด็นการเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย.นี้ ว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ติดตามและเก็บตัวอย่าง และมีการตรวจสอบการติดเชื้อของผู้ติดเชื้อในประเทศไทยมาตลอด และมีข้อมูลที่สามารถเปิดเผยและโปร่งใสในการเข้าถึงข้อมูล กรมวิทย์ยังตรวจพบและส่งไปยังนานาชาติเพื่อให้ข้อมูลไปยังประชาชนทั่วโลก ย้ำว่า อย่าตื่นตระหนก สธ.ติดตามเชื้อกลายพันธุ์ เมื่อเราพบสายพันธุ์ใหม่ๆ ในแต่ละพื้นที่ กรมวิทย์มีการชี้แจงมาตลอด เช่น เบตา เดลตา เก็บจากแต่ละพื้นที่ มีการเก็บตามหลักเกณฑ์ ดังนั้น ขอให้มั่นใจว่า เรามีระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด และจากการติดตามก็ยังไม่พบเชื้อตัวใดในไทยที่มีนัยยะสำคัญจนถึงต้องทบทวนเรื่องการเปิดประเทศ

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการตรวจการกลายพันธุ์ ตรวจเชื้อภาพรวมทั้งประเทศจำนวน 1,085 ตัวอย่าง พบ 98.6% เป็นเดลตา ส่วนอัลฟา 0.6% และเบตา 0.8% ซึ่งเบตายังพบในพื้นที่ภาคใต้ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ภาคใต้พบอัลฟา เนื่องจากตรวจจำนวนไม่มาก แต่ขณะนี้มีการตรวจมากขึ้นทำให้พบเดลตามากที่สุด สรุปคือ การระบาดทั่วทุกภูมิภาคไทยส่วนใหญ่เป็นเดลตา เบตาเล็กน้อย อัลฟาลดลงเรื่อยๆ

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ส่วนสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์บางอย่างขึ้น คือ อัลฟาพลัส และเดลตาพลัสนั้น ในส่วนของอัลฟาพลัส ซึ่งเป็นการกลายพันธุในตำแหน่ง E484K ตำแหน่งนี้หลบภูมิได้ ทำให้อาการอาจมากกว่าเดิม อยู่ในระบบเฝ้าระวัง โดยพบผู้ติดเชื้อผู้ต้องขังเชียงใหม่ 2 ราย เก็บตัวอย่างวันที่ 27 ก.ย.2564 ที่ผ่านมา ซึ่งกรณีกำลังสอบสวนโรคเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังพบในผู้ติดเชื้อจ.จันทบุรี และตราด ตรวจสายพันธุ์ 1,119 ตัวอย่าง พบ 16 ราย ขณะเดียวกันยังพบในแรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชา 12 ราย และคนไทยอีก 4 ราย ทั้งหมดทำงานในล้งลำไย โดยทั้งหมดมีการดำเนินการตรวจเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ขยายการตรวจในพื้นที่อื่นเพิ่มเติม

“จากข้อมูลของ GISAID พบว่า อัลฟาพลัส ระบาดมากในกัมพูชา การที่มีการกลายพันธุ์ตำแหน่ง E484K พบได้ในเบตาและแกมมาเช่นเดียวกัน ซึ่งมีปัญหาเรื่องการหลบภูมิ เพราะฉะนั้นอิทธิฤทธิ์ของอัลฟาพลัส จึงอยู่ระหว่างอัลฟา กับเบตา และแกมมา หากมีเยอะในบ้านเราก็อาจหลบภูมิได้บ้าง แต่โชคดีที่ตัวอัลฟา ถูกเบียดโดยเดลตา อำนาจในการแพร่กระจายจึงไม่สูง อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องมีการตรวจเพิ่มเติมว่า มีที่อื่นด้วยหรือไม่อย่างไร และอัลฟาพลัสไม่ได้เชื้อใหม่ พบที่อังกฤษ เป็นประเทศแรกตั้งแต่ปลาย ธ.ค. 2563 “ นพ.ศุภกิจ กล่าว และว่า กรมวิทย์จะนำตัวอย่างอัลฟาพลัสมาเพาะเชื้อเพื่อตรวจทางห้องปฏิบัติการว่า มีตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันของวัคซีนอย่างไร

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ส่วนเดลตาพลัสนั้น ก่อนอื่นต้องอธิบาย เพราะมีความซับซ้อนเล็กน้อย โดยเดลตาปกติ คือ B.1.6.17.2 ซึ่งระบาดไปทั่วโลก โดยมีตระกูลลูกหลานออกมา จาก .2 ก็ออกไปอีกเรื่อยๆ ระดับโลกจึงมีการตั้งชื่อใหม่เพื่อง่ายต่อการทำความเข้าใจ โดยอะไรที่กลายพันธุ์หลัง .2 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น AY ซึ่งปัจจุบันมี AY 47 ชนิด คือ AY1-AY47 โดยทุกอันมีฐานของการเป็นเดลตาอยู่ก่อนและบวกการกลายพันธุ์ในจุดต่างๆ ทั้งหมดเรียกว่าเดลตาพลัสได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยพบสายพันธุ์ย่อย โดยเราเจอ AY ต่างๆ พบมากที่สุดคือ AY.30 พบ 1,341 ราย และ AY.39 จำนวน 83 ราย เป็นต้น ซึ่งระบบเราตรวจจับได้

“ส่วนเดลตาพลัส AY.4.2 ที่พบในอังกฤษและยุโรป ที่มีการระบาดมากพอสมควร ต้องอธิบายว่า เป็นชนิดที่มีการกลายพันธุ์ตำแหน่ง Y145H และ A222V โดยที่เรากังวล คือ อำนาจการแพร่กระจายเพิ่มขึ้นจากเดลตาปกติ 10-15% หรือเร็วกว่าเดลตาเล็กน้อย แต่ที่สำคัญ AY.4.2 ยังไม่พบในประเทศไทยเลย ณ วันนี้ แต่เราก็มีการติดตามอย่างต่อเนื่อง” นพ.ศุภกิจกล่าว และว่า ส่วนที่พบก่อนหน้านี้ เนื่องจากการได้รับการประสานงานกับสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร ที่เรียกว่า AFRIMS โดยเมื่อ ก.ย.ที่ผ่านมาได้ตรวจตัวอย่างผู้ป่วย 1 ราย จากจังหวัดกำแพงเพชรพบเป็นเดลตาพลัส ที่เป็น AY.1 โดยกลายพันธุ์ที่ K417N ซึ่งยังไม่มีข้อมูลว่า มีความรุนแรงอย่างไร และยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า มีการหลบภูมิอย่างไร ซึ่งก็ต้องจับตาดูเช่นกัน สำหรับผู้ป่วยรายนี้หายดีแล้ว และต้องเก็บตัวอย่างคนที่เสี่ยง หรือสัมผัสเพิ่มเติม

“เพราะฉะนั้นขณะนี้ ประเทศไทยพบอัลฟาพลัส 18 ราย เดลตาพลัส AY.1 จำนวน 1 ราย ส่วนเดลตาพลัสที่เป็น AY.4.2 ยังไม่พบในประเทศไทย” นพ.ศุภกิจ กล่าว และว่า สำหรับอัลฟาพลัส ไม่ได้มีอิทธิฤทธิ์มากกว่าอัลฟาปกติ แต่ความรุนแรงอาจเหนือกว่าอัลฟานิดหน่อย อาจพอกับเดลตาปัจจุบันก็ได้ ส่วนอาการของผู้ป่วย 18 รายที่ติดอัลฟาพลัส ขณะนี้สบายดี 

ผู้สื่อข่าวถามกรณีการพบเดลตาพลัส AY.1 มีการสอบสวนโรคหรือไม่ว่า ติดจากแหล่งใด นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลตรงนี้ แต่จะมีการประสานกับทาง AFRIMS เพื่อสอบสวนโรคเพิ่มเติมว่า มาจากแหล่งใด ส่วนความรุนแรง หรือหลบภูมิ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูล จึงต้องมีการติดตามต่อเนื่อง

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : เตรียมพิจารณาหาข้อสรุปเกณฑ์รับนักท่องเที่ยวประเทศเพื่อนบ้านเข้าไทย 1 วัน)

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง