ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุขเสนออัตราบรรจุข้าราชการโควิดรอบใหม่กว่า 3.7 หมื่นอัตรา แบ่งเป็นตามกรมต่างๆ รวม27,809 อัตรา และใช้อัตราว่างอีก 9.6 พันอัตรา ส่วนสายงานแบ่งตามกรมต่างๆ เบื้องต้น 71 สายงาน แบ่งตาม 3 ภารกิจหลักและภารกิจพิเศษ โดยสป. ได้มากสุด รองลงมากรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต กรมอนามัย อย. ฯลฯ

เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2564 นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ Hfocus ถึงความคืบหน้าล่าสุดจากการประชุม อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กรณีการพิจารณาการเสนอขอบรรจุข้าราชการโควิด-19 รอบใหม่ ว่า จากการประชุมเพื่อพิจารณากรอบการบรรจุข้าราชการรุ่นโควิด19 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในทุกสายงาน ทุกวิชาชีพที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับโควิด โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มภารกิจหลัก (G1) กลุ่มภารกิจสนับสนุนวิชาการ (G2) และกลุ่มภารกิจทางบริหารจัดการ(G3) ซึ่งรวมแบคออฟฟิศ รวมไปถึงมีกลุ่ม G3(พิเศษ) ซึ่งเป็นสายงานจำเป็นต่อส่วนราชการ เช่น การพัสดุ ต้องมีข้าราชการประจำในการทำงาน อย่างไรก็ตาม ซึ่งทั้งหมดจะมีการเลือกสายงานโดยกรมต่างๆ และจัดทำข้อมูลสรุปส่งมาให้ทางส่วนกลาง

“ จากการรวบรวมข้อมูลที่กรมต่างๆ ส่งเข้ามาว่า มีสายงานอะไรและตรงกับกลุ่มภารกิจใดบ้างนั้น สรุปได้ว่าจะมีการเสนอขอรับการจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตามกลุ่มภารกิจแตกต่างกัน รวมแล้วจำนวน 27,809 อัตรา แต่ด้วยกระทรวงสาธารณสุขมีอัตราว่างเดิม ซึ่งจำเป็นต้องนำมาใช้ในการบรรจุครั้งนี้อีกกว่า 9 พันอัตรา เมื่อรวมแล้วจะอยู่ที่กว่า 3.7 หมื่นอัตราในการเสนอขอรับการบรรจุข้าราชการตั้งใหม่ครั้งนี้ โดยหลังจากนี้จะมีการเสนอต่อท่านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขรับทราบเรื่องนี้ และขอข้อพิจารณาว่า จะส่งคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาเหมือนการบรรจุรอบที่ผ่านมา หรือจะเสนอสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) พิจารณาและอาจผ่านก.พ. เสนอต่อ ครม. โดยมี 2 วิธี ต้องขอหารือท่านรัฐมนตรีฯ และท่านปลัดสธ.ก่อน” นพ.สุระ กล่าว

รองปลัด สธ.กล่าวอีกว่า สำหรับรายละเอียดการขอบรรจุข้าราชการตั้งใหม่จำนวน 27,809 อัตรานั้น แบ่งออกเป็นกลุ่มหลักๆ มี 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่ม G1 จำนวน 15,084 อัตรา กลุ่ม G2 จำนวน 2,002 อัตรา และกลุ่ม G3 จำนวน 6,714 อัตรา นอกจากนี้ ยังมีกลุ่ม G พิเศษอีกจำนวน 4,009 อัตรา ส่วนสายงานอะไรบ้างจะขึ้นอยู่กับแต่ละกรม โดยครั้งนี้จะแยกเป็นกรมว่า ส่วนไหนเข้ากับกลุ่มภารกิจใดทั้ง G1 G2 G3 และ G3(พิเศษ) ซึ่งครั้งนี้มีมากกว่าครั้งก่อน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขสายงานจะมีการสรุปอีกครั้งในวันที่ 1 พ.ย. 2564 เพื่อรวบรวมข้อมูลก่อนเสนอรัฐมนตรีฯ และปลัดสธ.ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในรายละเอียดของอัตราการเสนอขอบรรจุข้าราชการตั้งใหม่ในส่วนของแต่ละกรม แยกได้ดังนี้

-สำนักงานปลัดกระทรวงกระทรวงสาธารณสุข รวมกลุ่ม G1-3/พิเศษ จำนวน 24,559 อัตรา

-กรมการแพทย์ รวมกลุ่ม G1-3 จำนวน 1,437 อัตรา

-กรมควบคุมโรค รวมกลุ่ม G1-3 จำนวน 570 อัตรา

-กรมสุขภาพจิต รวมกลุ่ม G1-3/พิเศษ จำนวน 412 อัตรา

-กรมอนามัย รวมกลุ่ม G1-3/พิเศษ จำนวน 407 อัตรา

-สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา รวมกลุ่ม G1-3 จำนวน 221 อัตรา

-กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมกลุ่ม G1-3/พิเศษ จำนวน 103 อัตรา

-กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก รวมกลุ่ม G1-3 จำนวน 67 อัตรา

-กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ รวมกลุ่ม G1-3 จำนวน 33 อัตรา

ดังนั้น ตัวเลขที่จะเสนอขอรับการจัดสรรแบ่งเป็นตามกรมต่างๆ 27,809 อัตรา และอัตราว่างเดิมอีก 9.6พันอัตรา รวมเป็นกว่า 3.7 หมื่นอัตรา

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มอีกว่า ส่วนสายงานงานต่างๆ ที่จะมีการเสนอในครั้งนี้มี  71 สายงาน ดังนี้

1.นักกายอุปกรณ์ 2.นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย 3.นักจิตวิทยา 4.นักจิตวิทยาคลินิก 5.นักสังคมสงเคราะห์ 6.นักกิจกรรมบำบัด 7.นักโภชนาการ 8.แพทย์แผนไทย 9.นักรังสีการแพทย์ 10.นักกายภาพบำบัด 11.นักวิชาการสาธารณสุข 12.นักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก 13.นักเทคนิคการแพทย์ 14.พยาบาลวิชาชีพ 15.เภสัชกร

16.นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 17.นายแพทย์ 18.นักวิชาการศึกษา 19.จพ.อาชีวบำบัด 20.ช่างทันตกรรม 21.จพ.เวชสถิติ 22.ช่างภาพการแพทย์ 23.นักวิชาการคอมพิวเตอร์ 24.โภชนากร 25.จพ.เภสัชกรรม 26.นักเทคโนโลยีสารสนเทศ 27.จพ.สาธารณสุข (กรมอนามัย) 28.จพ.เวชกรรมฟื้นฟู 29.จพ.เครื่องคอมพิวเตอร์ 30.นายช่างไฟฟ้า

31.นักประชาสัมพันธ์ 32.จพ.ห้องสมุด 33.นายช่างเทคนิค 34.จพ.เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ 35.นายช่างศิลป์ 36.นักวิชาการพัสดุ 37.จพ.การเงินและบัญชี 38. จพ.ธุรการ 39.นักวิชาการเงินและบัญชี 40. จพ.พัสดุ 41.นักวิชาการโสตทัศนศึกษา 42.บรรณารักษ์ 43.นักทรัพยากรบุคคล 44.นิติกร 45. นายช่างโยธา 46.จพ.โสตทัศนศึกษา 47.นักวิเคราะห์นโยบายและแผน 48.นักวิชากรสถิติ 49.จพ.สถิติ 50.นักจัดการงานทั่วไป

51.นักวิชาการตรวจสอบภายใน 52.นักวิเทศสัมพันธ์ 53.นักวิชาการเผยแพร่ 54.พยาบาลวิชาชีพ/พยาบาลเทคนิค 55.นักจิตวิทยาคลินิก/นักจิตวิทยา 56.นายสัตวแพทย์ 57.จพ.สาธารณสุข/จพ.สาธารณสุข(เวชกิจฉุกเฉิน) 58. นักวิทยาศาสตร์ 59.วิศวกร(ชีวการแพทย์) 60.วิศวกรไฟฟ้า

61.นักวิชาการศึกษาพิเศษ/นักวิชาการศึกษา 62.นักเทคนิคการแพทย์/นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 63.นักอาชีวบำบัด 64.วิศวกร 65.นักวิชาการช่างศิลป์ 66.นักฟิสิกส์รังสี 67.นักวิชาการเกษตร 68.จพ.การเกษตร 69.นายช่างเขียนแบบ 70.วิศวกรโยธา และ 71.นักวิชาการอาหารและยา

ทั้งนี้  การกำหนดสายงานต่างๆ มาจากกรมต่างๆเสนอเข้ามา ซึ่งสายงานบางสายอาจมีชื่อคล้ายหรือเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับกรมที่กำหนดภารกิจของตน  ซึ่งสายงานข้างต้นยังไม่ใช่ข้อสรุป จะมีการรวบรวมข้อมูลและเสนอต่อรัฐมนตรีฯ และปลัดสธ. ก่อนเสนอ ก.พ. และเข้าครม.พิจารณาตามขั้นตอน  อย่างไรก็ตาม รายละเอียดสายงานแต่ละกรม หากมีความคืบหน้าจะมีการอัปเดตต่อไป

อ่านข่าวอื่นๆ :

-มีผลแล้ว!  ประกาศถ่ายโอนภารกิจ "รพ.สต." ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด พร้อมแนวทางดำเนินการ

-เปิดมุมมอง: ข้อดีข้อเสียถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. สู่ท้องถิ่น ภาพสะท้อนการดูแลบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org