ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ร่วมพัฒนาระบบบัตรทอง ดูแล “ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง” จัดกลไกการเงินสนับสนุนเพิ่มการเข้าถึงยาละลายลิ่มเลือด เข้าถึงการรักษาในโรงพยาบาล ลดอัตราเสียชีวิต พร้อมเพิ่มบริการฟื้นฟูสมรรถภาพที่ “คลินิกกายภาพบำบัด” ดูแลต่อเนื่อง      

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในวันที่ 29 ตุลาคม ของทุกปีเป็น วันหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Day) โดยในปี 2564 นี้ องค์การโรคหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Organization : WSO) ได้จัดโครงการรณรงค์ภายใต้แนวคิด Minutes can save lives: Learn the signs, Say it’s a stroke Save #Precioustime : รู้สัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดสมอง เสี้ยวนาทีมีค่าช่วยชีวิต” มุ่งเน้นเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดสมองและเข้าถึงการรักษาได้อย่างทันท่วงที เพราะทุกนาทีที่เซลล์สมองขาดเลือดจะมีเซลล์สมองตายประมาณล้านเซลล์

ซึ่งโรคหลอดเลือดสมองเป็นปัญหาสาธารณสุขหนึ่งที่สำคัญของประเทศไทย แต่ละปีมีคนไทยที่เจ็บป่วยและเสียชีวิตจำนวนมากจากภาวะขาดเลือดไปเลี้ยงสมองเฉียบพลัน แม้ว่าจะสามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ แต่ต้องได้รับการดูแลโดยเร็วที่สุดในเวลาที่จำกัด รวมไปถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจต่ออาการโรคนี้ ทั้งในส่วนบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนเอง

นพ.จเด็จ กล่าวว่า การให้ยาละลายลิ่มเลือดเป็นการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเบื้องต้นที่มีประสิทธิผล และกำหนดเป็นแนวทางการรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) มาตั้งแต่ในปี 2545 แต่มีปัญหาการเข้าถึง ดังนั้น สปสช. ร่วมกับสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง โรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป จัดทำ “โครงการบริหารจัดการโรคที่เกี่ยวกับการอุดตันของหลอดเลือดสมอง” หรือ Stroke Fast Track ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา โดยกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ มีการพัฒนาเครือข่ายบริการเพื่อดูแลผู้ป่วย ตั้งแต่ระดับโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ชุมชน และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ควบคู่กับโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลเพื่อร่วมดูแลผู้ป่วย

“จากโครงการนี้ทำให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในระบบบัตรทองเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากปี 2552 มีผู้ป่วยที่ได้รับยาลิ่มเลือดเพียง ร้อยละ 0.53 % แต่ในปี 2563 มีผู้ป่วยได้รับยาละลายลิ่มเลือดเพิ่มเป็นร้อยละ 8.02 ขณะที่อัตราการรับผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากปี 2552 อยู่ที่อัตรา 90.37 ต่อแสนประชากร ในปี 2563 เพิ่มเป็นอัตรา 222.06 ต่อแสนประชากร สอดคล้องกับอัตราผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเสียชีวิตภายใน 30 วันหลังรับไว้รักษาจากร้อยละ 15.97 ในปี 2552 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 9.24 ในปี 2563” เลขาธิการ สปสช. กล่าว      

นพ.จเด็จ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ในปีงบประมาณ 2564 สปสช. ได้เพิ่มการเข้าถึงบริการฟื้นฟูสมรรถภาพที่คลินิกกายภาพบำบัดให้กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองหลังจากรักษาในโรงพยาบาลแล้ว โดยนำร่องพื้นที่ในเขตเมืองใหญ่ เขตปริมณฑล และเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก ช่วยเพิ่มเความสะดวกให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการฟื้นฟูและได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยังเป็นการลดความแออัดในโรงพยาบาลด้วย

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org