ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

“อนุทิน” เตรียมเสนอครม. 3 พ.ย.นี้ ขอพิจารณากรอบวงเงินจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ 2 ล้านเม็ด หวังใช้รักษาผู้ป่วย ด้าน อย. เผยขั้นตอน FDA สหรัฐพิจารณาอนุมัติยา พร้อมให้ข้อมูลวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นาล่าสุด

เมื่อวันที่ 2 พ.ย.2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังประชุมผู้บริหาร และรับมอบหน้ากากอนามัยN 95จำนวน 300,000จากบริษัท ซินเคอหยวน สตีล จำกัด ว่า หลังจากเปิดประเทศเมื่อวานนี้ว่า ทุกอย่างเป็นไปด้วยเรียบร้อย ไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อ กำชับให้อธิบดีกรมควบคุมโรค พิจารณาปรับลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น เพื่ออำนวยความสะดวกกับนักท่องเที่ยว ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขจะดูแลรับผิดชอบเรื่องการรักษาพยาบาล โดยวันพรุ่งนี้ (3 พ.ย.) เตรียมนำเรื่องเสนอเรื่องการจัดขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในการพิจารณากรอบวงเงินในการจัดซื้อ ยาโมลนูพิราเวียร์ จำนวน 50,000 คอร์ส หรือ 2 ล้านเม็ด ใช้ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด และนำมาพิจารณาว่าแตกต่างจากยาที่ใช้ในปัจจุบันอย่างไร

ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ในส่วนของยาโมลนูพิราเวียร์ที่มีรายงานว่าจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ประเทศต่างๆ นั้นทาง ตอนนี้ประเทศไทยยังไม่อยู่ในลิสต์ แต่กรมการแพทย์อยู่ระหว่างการประสานงานกับทางบริษัทผู้ผลิต นอกจากนี้ทราบว่ายังมีทางองค์การเภสัชกรรมก็ดูในกระบวนการทำต่อด้วย ทั้งนี้ พิจารณาตามที่อย.สหรัฐฯ บอกมา คือจะมีการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาของสหรัฐในวันที่ 30 พ.ย. หลังจากนั้นเขาก็จะพิจารณาว่าอย.สหรัฐฯ จะอนุมัติหรือไม่

เลขาฯ อย. กล่าวต่อว่า สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ปัจจุบันอนุญาตให้ใช้ในเด็ก 12 ปี ขึ้นไป ขนาด 30 ไมโครกรัม ส่วนที่อย.สหรัฐอเมริกาอนุมัติใช้ในเด็ก 5 -11 ปี นั้น ขนาดจะ 1 ใน 3 ของผู้มีอายุ 12 ปี ขึ้นไป หรือเท่ากับ 10 ไมโครกรัม อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรคสหรัฐฯ จะมีการหารือกันในสัปดาห์นี้ ว่าจะให้ใช้อย่างไร ในส่วนของไทยก็เชื้อเชิญไฟเซอร์ไทย ที่ติดตามอยู่นั้นให้ส่งมาพิจารณาในไทยด้วย คาดว่าเร็วๆ นี้ เบื้องต้นคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ โดยคณะอนุกรรมการสร้างสร้างเสริมภูมิคุ้มกันพิจารณาอยู่

“ส่วนอย.ก็ดูข้อมูลการวิจัยของเขาว่าเป็นไปตามที่มีการวิจัยหรือไม่ ประสิทธิภาพเป็นไปตามที่ทราบข่าวว่าอยู่ที่ 90.7% มีผลข้างเคียงยรุนแรงหรือไม่ หลักง่ายๆ ปริมาณการใช้ที่ลดลง ผลข้างเคียงก็ลดลง หลักการอนุมัติวัคซีนในภาวะฉุกเฉินประโยชน์ต้องมีมากกว่าความเสี่ยง ไม่มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์รุนแรง ที่ผ่านมาเท่าที่ติดตามคณะกรรมการที่ปรึกษาของสหรัฐ ก็ยังไม่เจออาการข้างเคียงรุนแรง ส่วนวัคซีนเชื้อตายของซิโนฟาร์ม ขอข้อมูลเพิ่มเติมจากไบโอเจนเนเทคแล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งมา”

นพ.ไพศาล กล่าวต่อว่า ส่วนวัคซีนโมเดอร์นา ตามที่บริษัท ซิลลิค จะขออนุญาตนำเข้าวัคซีนจากแหล่งผลิตอื่นเพิ่มเติมนั้น ในส่วนของวัคซีนที่เข้ามาเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมานั้น มาจากแหล่งผลิตในสหภาพยุโรป (อียู) ในประเทศสเปน ล่าสุดได้ขออนุญาตเพิ่มแหล่งผลิตในอียูอีก 2 แหล่ง คือจากสเปนอีกแห่งหนึ่งเนื่องจากสเปนผลิตได้หลายแหล่ง และฝรั่งเศส อีก 1 แห่ง รวมเป็น 3 แหล่ง ซึ่งเขายังไม่ได้มีวัคซีน แต่อย.พิจารณาแล้ว คาดว่าภายในสัปดาห์นี้น่าจะอนุมัติให้นำเข้าจากแหล่งที่ขออนุญาตเพิ่มเติมได้ ส่วนจะมีวัคซีนหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้ซื้อต้องเจรจากันเอง

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org