ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หากประเทศไทยมีระบบฐานข้อมูลสุขภาพเป็นศูนย์กลางขนาดใหญ่  ประชาชนทุกคนสามารถเข้ามาดูข้อมูลชุดนี้ได้ ผ่านระบบออนไลน์ แอปพลิเคชันต่าง ๆ เช่น Health Link, Co – Link, H4U จะถือว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่จะช่วยลดข้อมูล ข่าวสาร ที่เป็น “เฟคนิวส์” ได้ดีมากน้อยเพียงใด

ประเด็นสำคัญดังกล่าวทำให้จัดงานแถลงข่าวความร่วมมือการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูประบบสาธารณสุข Big Rock 1 “ยุติโรคระบาดด้วยนวัตกรรม โดยการเชื่อมต่อฐานข้อมูลสาธรณสุขแบบบูรณาการ ( EPI : Ending Pandemics through Innovation Program) โดยร่วมกับ 5 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.), กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.), กระทรวงแรงงาน (รง.) และ กระทรวงการคลัง (กค.) เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมบัดดี้ โอเรียนทอล ริเวอร์ไซด์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาและสร้างระบบฐานข้อมูลกลาง เพื่อทำให้เกิดข้อมูลสุขภาพออกไปสู่ระดับประเทศ 

ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi) กล่าวว่า การปฏิรูประบบการเชื่อมต่อฐานข้อมูลสุขภาพของประเทศ มีวัตถุประสงค์คือ การนำนวัตกรรมที่มีอยู่แล้วไปสนับสนุนบริการสุขภาพภายในประเทศ ซึ่งเป้าหมายแรกของโครงการนี้ คือ โรคโควิด-19 และเป้าหมายสุดท้ายคือ การดูเรื่องสุขภาพทั้งหมด 

เริ่มจากการนำข้อมูลของแต่ละหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชนที่มีอยู่แล้ว มาเชื่อมโยงข้อมูลบนระบบฐานข้อมูลในรูปแบบดิจิทัลแล้วสร้าง National Heath Data Platform หรือ Linkage HUB ที่สามารถดึงข้อมูลบางส่วนเข้ามาเชื่อมต่อกับสิ่งที่ต้องการเพื่อตอบสนองความต้องการเชิงธุรกิจของหลาย ๆ กลุ่ม หลาย ๆ กระทรวงได้

ถ้าวันหนึ่งเรามี National Heath Data Platform หรือ Linkage HUB บางส่วนของข้อมูลสามารถเปิดเผยสู่สาธารณะได้ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะสามารถปฏิบัติงานบนฐาน “ข้อมูลชุดเดียวกัน” ทำให้เกิดความเข้าใจตรงกันในหลายมิติ ผลที่ตามมาเป็นอย่างแรกคือ สามารถออกหนังสือรายงานให้กับผู้บริหาร ผู้วางแผน ผู้วางนโยบายเพื่อการทำงานได้ อย่างที่สองคือ หากต้องการมีแอปฯ ที่สามารถแจ้งเตือน ติดตาม และแสดงข้อมูลประวัติสุขภาพหรือประวัติการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้เข้าไปถึงมือประชาชน เมื่อมี National Heath Data Platform จะสามารถทำงานตรงนี้ง่ายขึ้น รวมไปถึงจะช่วยให้ นวัตกร (Innovator), ผู้พัฒนา (Developer), นักวิจัย (Researcher) ในไทยสามารถดึงข้อมูลไปในการทำวิจัยได้ด้วย

ในส่วนของ Linkage HUB ที่ตอนนี้ในไทยมีระบบ Health Link ที่ช่วยดูโรงพยาบาลนอกสังกัดระบบสาธารณสุข (เป็นระบบที่ให้แพทย์ในโรงพยาบาลอ่านประวัติการรักษาโรคต่าง ๆ ของผู้ป่วย), ระบบ DMS HIE ของกรมการแพทย์ที่ดูโรงพยาบาลในสังกัดกรมแพทย์, H4U ของสาธารณสุขที่ดูโรงพยาบาลสังกัด สปสธ. (เป็นระบบที่คืนประวัติการรักษาให้ผู้ป่วยเปิดอ่านเองได้), ระบบ Co-Link (ระบบเชื่อมโยงข้อมูลโควิด-19) และแอปฯอื่น ๆ อีกมากมาย ขณะนี้กำลังเริ่มรวบรวมและบูรณาการข้อมูลกองทุนทั้งของ สปสช. ประกันสังคม และราชการของกรมบัญชีกลาง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมทำให้ในอนาคตบัตรประชาชน 1 ใบของประชาชนสามารถนำไปใช้ทำอะไรก็ได้ เช่น ทำประวัติการรักษาสิทธิการเบิกได้ง่ายขึ้น

เมื่อจำลองสถานการณ์ใช้ชุดข้อมูลนี้ (Linkage HUB)  คือ สมมุติว่า อสม. ลงพื้นที่ในเขตชุมชนที่ต้องใช้ข้อมูลข้ามเขต เมื่อลองใช้ Smart อสม. ก็จะสามารถดึงข้อมูลทุกอย่างของประชาชนได้ง่าย ๆ เช่น ประวัติการรักษาของโรงพยาบาลจากระบบที่มีอยู่แล้วอย่างระบบ DMS มาใช้งานได้ หรือแพทย์สามารถที่จะวินิฉัยโรคจากการตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับโรคของประชาชนแต่ละคน เช่น ป่วยเป็นโรคเบาหวาน โรคความดัน ว่าควรปฏิบัติตัวยังไง ให้ใช้ยาน้อยลงเพื่อสุขภาพดีขึ้นได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ คือ สิ่งที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น และเริ่มใช้ในปี 2565 ที่กำลังจะมาถึง

ผู้สื่อข่าว Hfocus ได้ถามถึงมุมมองเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่ได้จากการใช้ข้อมูลชุดนี้ เพื่อลดปัญหาเฟคนิวส์ด้านสุขภาพต่าง ๆ ในกลุ่มประชาชนพอจะทำได้บ้างหรือไม่ ? ดร.ธีรณี แจงว่า ข้อมูลสุขภาพชุดนี้เป็นข้อมูลประวัติการรักษาของปัจเจกบุคคล และไม่ได้มองในมิติของภาพรวมนั่น ซึ่งอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ปัญหาเฟคนิวส์ได้โดยตรง 

แต่ถ้ามองในแง่ข้อมูลที่เป็นเฟคนิวส์ของการเบิกจ่าย การบริการ การรักษาต่าง ๆ เปอร์เซ็นต์ของจำนวนตัวเลขผู้ที่ฉีดวัคซีนกับตัวเลขผู้ติดเชื้อ ที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 น่าจะพอช่วยได้ เพราะในระบบตอนนี้มีข้อมูลเยอะและค่อนข้างที่จะสมบูรณ์

ประเด็นของเฟคนิวส์เกี่ยวกับวัคซีน ก็พอจะทำได้ หากประชาชนสนใจเข้าไปดูก็จะมีระบบ Co – Link ที่เป็น Data Platform Linkage ที่เชื่อมโยงข้อมูลทุกศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุข อาทิ สปสช. สปค. เข้ามาไว้ในระบบ ซึ่งในนั้นมีข้อมูลของวัคซีนทั้งหมดด้วย ด้านข้อมูลเกี่ยวกับโรคอื่น ๆ อย่างเช่น โรคมะเร็ง ก็มีข้อมูลแน่นและสมบูรณ์แต่ทางเราไม่มีสิทธิปล่อยออกมา เนื่องจากต้องรอการอนุญาติจาก สปค. และ สธ. ก่อน 

- เมื่อมองถึงความเป็นได้ของชุดข้อมูลจากที่ได้จาก Linkage HUB จะออกไปสู่ระดับประเทศได้มากน้อยแค่ไหน มีความเป็นไปอย่างไรบ้าง ?

ดร.ธีรณี กล่าวว่า จุดประสงค์สูงสุดของโครงการคือต้องการนำระบบนี้ออกไปใช้ทั่วประเทศอยู่แล้ว แต่ยังอยู่ในขั้นตอนทดลองกับบางเขต ซึ่งก็คือเขต 13 ที่กำลังรอผลตอบรับกลับว่าเป็นอย่างไร แต่ระบบ Health Link และ H4U นั่นมีอยู่แล้วและกระจายอยู่ทั่วประเทศ ตอนนี้ระบบ Health Link มีปะมาณ 100 โรงพยาบาล ในเกือบ ๆ 40 จังหวัด ส่วน H4U ในภาคอีสานมีเกือบครบทุกโรงพยาบาลแล้ว แต่ทั้งนี้เมื่อถึงเวลาต้องใช้ระบบจริง อาจจะต้องเลือกเขตสักเล็กน้อย เพราะอาจมองภาพรวมได้ง่ายกว่า

 

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org