ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในงานประชุมภาคีควบคุมบุหรี่โลก เชื่อบริษัทบุหรี่อยู่เบื้องหลัง พร้อมมอบรางวัล “Dirty Ashtray” ที่เขี่ยบุหรี่สกปรก ให้แก่ฟิลิปปินส์ ฐานสนับสนุนผลประโยชน์บริษัทบุหรี่ เผย ที่ประชุมสมัชชาควบคุมบุหรี่โลก ปฏิเสธคำขอเข้าร่วมสังเกตการณ์ของเครือข่ายสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้านานาชาติ

จากกรณีเครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้าในไทยออกมาให้ข่าวอ้างกระทรวงต่างประเทศของฟิลิปปินส์สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าในงานประชุมสมัชชาภาคีตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ครั้งที่ 9 (the Ninth Session of the Conference of the Parties  to the WHO FCTC : COP9) ซึ่งจัดขึ้นวันที่ 8-13 พฤศจิกายนนี้ โดยมีองค์กรต่างๆ จาก 152 ประเทศทั่วโลก และเรียกร้องให้ประเทศไทยเอาอย่างนั้น

วันที่ 12 พฤศจิกายน ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขฟิลิปปินส์ ได้ออกแถลงการณ์ โดยแสดงความไม่พอใจกับคำแถลงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของตนเอง เพราะไม่ผ่านการเห็นชอบของกระทรวงสาธารณสุขและเชื่อว่าเรื่องนี้มีอุตสาหกรรมยาสูบให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง โดยแถลงการณ์ระบุว่า “การให้ข้อมูลที่ผิด ๆ เรื่องบุหรี่ไฟฟ้า โดยทำให้คนมองว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีอันตรายน้อยกว่า รวมทั้งการยกย่องอุตสาหกรรมยาสูบว่ามีความสำคัญในการจัดหาเงินทุนด้านสาธารณสุขนั้นเป็นการสร้างความเข้าใจที่ผิด ขัดต่อหลักการของ WHO FCTC และถือเป็นบ่อนทำลายความก้าวหน้าของฟิลิปปินส์ในการควบคุมยาสูบ”

ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวว่า นอกจากนี้ นาง Sophia San Luis ประธาน ImagineLaw องค์กรกฎหมายเพื่อสังคมของฟิลิปปินส์ ได้ออกมาเคลื่อนไหวโดยกล่าวว่า คณะผู้แทนฟิลิปปินส์ที่เข้าร่วมประชุม COP 9 ครั้งนี้ถือเป็นการทรยศต่อประเทศ “คำกล่าวของรัฐมนตรีต่างประเทศ สะท้อนเรื่องเล่าเท็จที่บริษัทบุหรี่สร้างขึ้น ซึ่งขัดต่อความคิดเห็นทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์อย่างท่วมท้นเกี่ยวกับอันตรายที่แท้จริงของบุหรี่ไฟฟ้า”

“ปกติตัวแทนเข้าร่วมประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกของฟิลิปปินส์ จะมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก แต่ช่วงหลังมีความพยายามของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่กระทรวงอื่น ๆ ที่เป็นตัวแทนของภาคยาสูบเรียกร้องขอเข้าร่วมด้วย ทำให้ครั้งนี้ฟิลิปปินส์ส่งผู้แทนเข้าร่วมถึง 52 คน ซึ่งบางคนยอมรับจุดยืนของอุตสาหกรรมยาสูบอย่างเปิดเผยในเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าว่ามีประสิทธิภาพและเป็นอันตรายน้อยกว่าในการช่วยให้ผู้สูบบุหรี่เลิกบุหรี่” ดร.พญ.เริงฤดี กล่าว

ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวต่อว่า ในการประชุม COP 9 ครั้งนี้ Framework Convention Alliance (FCA) เครือข่ายทำงานควบคุมยาสูบที่มีสมาชิกกว่า 300 องค์กรจาก 100 ประเทศทั่วโลก ที่มีบทบาทสนับสนุนการดำเนินการตามอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก มอบรางวัล “Dirty Ashtray” หรือ “ที่เขี่ยบุหรี่สกปรก” ให้แก่ฟิลิปปินส์ ถือเป็นสัญลักษณ์ที่จะมอบให้ประเทศที่แสดงออกในการประชุมอย่างชัดเจนว่าสนับสนุนผลประโยชน์ของบริษัทบุหรี่ ทั้งนี้ ยังตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่าในปี 2020 บริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่รายหนึ่งให้เงินสนับสนุนองค์กรต่าง ๆ ในฟิลิปปินส์ รวมกว่า 13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ถือเป็นประเทศในอาเซียนที่ได้รับเงินสนับสนุนจากบริษัทบุหรี่มากที่สุด

ด้าน นพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส กรรมการสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ และอดีตนายกแพทยสมาคมโลก กล่าวว่า ในการประชุม COP9 สำนักเลขานุการอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกประชุมปฏิเสธคำร้องขอเข้าร่วมสังเกตการณ์ 7 องค์กร ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ องค์กรเครือข่ายผู้ใช้ผลิตภัณฑ์นิโคตินนานาชาติ (International Network of Nicotine Consumer Organisations (INNCO) ที่มีสมาชิกกว่า 30 องค์กรทั่วโลก รวมถึงกลุ่มสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าในไทย ที่ใช้ชื่อว่ากลุ่มลาขาดควันยาสูบที่เคลื่อนไหวให้ไทยยกเลิกกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้า และแกนนำกลุ่มลาขาดควันยาสูบเคยเป็นบอร์ดบริหารของ INNCO โดยสำนักเลขานุการอนุสัญญาพิจารณาภายใต้เงื่อนไข 5 ข้อ คือ 1.กิจกรรมขององค์กรจำกัดอยู่เฉพาะภายในประเทศ 2.องค์กรเคยได้รับทุนหรือผลประโยชน์ใด ๆ จากอุตสาหกรรมยาสูบ 3.องค์กรมีความสัมพันธ์กับอุตสาหกรรมยาสูบ 4.องค์กรไม่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับเรื่องการควบคุมการบริโภคยาสูบ 5.ไม่เข้าข่ายองค์การระหว่างประเทศระดับรัฐบาล หรือองค์การนอกภาครัฐ ตามเงื่อนไขขององค์การอนามัยโลก

“กรณีของ INNCO สันนิษฐานได้ว่าน่าจะเข้าข่ายในข้อที่ 2 และ 3 เพราะ INNCO เป็นองค์กรที่ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันบุหรี่ หรือ Foundation for A Smoke-Free World อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันบุหรี่นี้ เป็นมูลนิธิที่บริษัทบุหรี่ฟิลลิป มอร์ริสเป็นผู้ก่อตั้งและสนับสนุนทุนต่อเนื่องปีละ 80 ล้านดอลลาร์ เป็นเวลา 12 ปี ซึ่งทางองค์การอนามัยโลกเคยออกแถลงการณ์มาแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 ว่าให้ถือว่ามูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันบุหรี่เป็นองค์กรเดียวกับอุตสาหกรรมยาสูบ โดยองค์การอนามัยโลกจะไม่ขอร่วมทำกิจกรรมใด ๆ กับมูลนิธิฯ นี้” นพ.วันชาติ กล่าว