ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 15 พ.ย. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์โควิด19 การฉีดวัคซีน และมาตรการความปลอดภัยด้านสาธารณสุขรองรับการเปิดประเทศ โดยระบุว่า หลังควบคุมการระบาดมาระยะหนึ่งจนถึงการเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ก็พบว่าสถานการณ์รุนแรงขึ้นเล็กน้อย เป็นผลมาจากการเปิดโรงเรียน และการเปิดให้รับประทานอาหารภายในร้านได้ ซึ่งจะเร่งฉีดวัคซีนให้ครบ 100 ล้านโดสภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้

"ขณะนี้การฉีดวัคซีนในไทยประมาณ 85 ล้านโดส พยายามจะให้ได้ 100 ล้านโดสภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน ขณะนี้ประสบปัญหาประชาชนที่จะมารับวัคซีนหายากขึ้น สธ.ตั้งใจจะฉีดให้ได้มากที่สุด โดยมีผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1แล้วประมาณ 45ล้านคนคิดเป็น 63 % ได้รับเข็มที่ 2 แล้ว 36.8 ล้านคน คิดเป็น 51 % และได้รับเข็ม 3 แล้ว 2.7 ล้านคน คิดเป็น 4 % ถือว่าประเทศไทยได้วางมาตรการเร่งด่วน สำหรับการฉีดเข็ม 3 ให้คนที่ภูมิลดลงแล้วอาจไปติดเชื้อจะมีนโยบายต่อไป การฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังเป็นไปตามเป้าหมายเกิน 60 % และฉีดวัคซีนให้กับนักเรียนอายุ12-17 ปีจำนวน 3 ล้านคน ในขณะที่จังหวัดต่างๆ ในภาพรวมครึ่งหนึ่งฉีดวัคซีนแล้วเกิน 50 % บางจังหวัดเกิน 70 % ที่เราจะทำต่อไปคือเร่งรัดฉีดให้ได้มากที่สุดโดยสิ้นปีนี้น่าจะมากกว่า 120 ล้านโดส" ปลัด สธ.กล่าว

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า มาตรการเร่งรัดฉีดวัคซีนขั้นต่อไปคือฉีดวัคซีนเข็มแรกให้กับประชาชนที่เหลืออีก 10 กว่าล้านคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน โดยพยายามรณรงค์ฉีดเชิงรุกให้กับผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง ขยายไปยังกลุ่มแรงงานต่างด้าว ฉีดให้กับประชากรทุกคนในไทย นอกจากนี้ในอนาคตถ้าจำเป็นจริงๆ ศบค.อาจจะพิจารณาแล้วให้ผู้ที่จะออกมาทำกิจกรรมต่างๆ ต้องแสดงหลักฐานการได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการดูแลประเทศ

สำหรับอัตราผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศภายหลังการเปิดประเทศนั้น ปลัด สธ.กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ที่ 0.07 % ส่วนพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ต่างๆ 0.1 % เป็นระดับต่ำที่จัดการได้ อัตราการติดเชื้อในประเทศสูงกว่ามาก โดยจังหวัดที่จับตามองมี 6 จังหวัดได้แก่ นครศรีธรรมราช เชียงใหม่ จาก ตรัง พัทลุงและขอนแก่น นอกจากนี้พบว่าผู้ป่วยโควิด-19 ที่เสียชีวิต 96 % เป็นกลุ่มอายุเกิน 60 ปีและผู้ป่วยเรื้อรัง ซึ่งในจำนวนผู้เสียชีวิตดังกล่าวนี้ 80 % ยังไม่ได้รับวัคซีน

นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในสภาวะฉุกเฉิน​ กล่าวว่า ในภาพรวมการระบาดของโลก สถานการณ์ในทวีปยุโรปสูงขึ้น​ 4.8 แสนคนแต่ผู้เสียชีวิตไม่สูงขึ้น​ ส่วนชายแดนใต้ของไทยอัตราลดลงอย่างต่อเนื่อง

"ความเสี่ยงมาจากชีวิตประจำวัน​วัคซีนจะเป็นตัวเสริมแบบครอบจักรวาล​ การระบาดยังกระทบกับบุคลากรทางการแพทย์ที่หากติดเชื้อก็ต้องหยุดทำงาน​ แม้ในชุมชนจะมีการติดเชื้อลดลงก็ยังคงต้องฉีดวัคซีน​ ถ้าไม่สะดวกแจ้ง​ อสม.​ เพื่อให้ถึง 100 ล้านโดส​ ถึงสถานการณ์จะดูลดลงแต่ความเสี่ยงยังอยู่​ วัคซีนทุกชนิดมีประสิทธิผลทำให้อาการไม่รุนแรงและลดการเสียขีวิต" นพ.เฉวตสรร​ กล่าว

ด้าน นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย​ กล่าวว่า​ ในส่วนร้านอาหารที่เปิดให้มีการบริโภคแอลกอฮอล์​ เล่นดนตรี​ หลักในการดำเนินการจะพิจารณาว่ามีความเสี่ยง​ มีรวมกลุ่มสังสรรค์​ เต้นรำ หรือไม่​ ในส่วนของผับ​ บาร์​ คาราโอเกะ​ ยังไม่เปิด ซึ่งอาจจะมีการพิจารณาหลังปีใหม่เป็นต้นไป

"ในส่วน​ พรบ.สถานบริการมาตรการต่างๆ ต้องดูสภาพแวดล้อม​ ควร​ Clean&safe มีระบบระบายอากาศ​ พนักงานบริการต้องมีภูมิคุ้มกัน​ ฉีดวัคซีน​ ตรวจ ATK ส่วนผู้ประกอบการควรคัดกรองด้วย​ Thai​ Safe​ thai ตรวจทุก 7 วัน​ ผู้เข้าไปใช้บริการควรรับวัคซีนครบและตรวจ​ ATK​ ร้านที่บริโภคแอลกอฮอล์​ เวลาดื่มกินอาจปนเปื้อนใช้อุปกรณ์ร่วมกัน​ งดกิจกรรมส่งเสริมการขายทุกประเภท​ งดนั่งดริ๊งค์​ ร้องเพลงตามโต๊ะ​ กำหนดระยะเวลาไม่เกิน 2ชั่วโมง​" รองอธิบดีกรมอนามัย​ กล่าว