ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ เตือนอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า แนะรัฐบาลแสดงจุดยืนไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า ขจัดการแทรกแซงนโยบายของอุตสาหกรรมยาสูบให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ยันเป็นอันตรายต่อเยาวชน

วันนี้ (19 พฤศจิกายน 2564) ผศ.ทพ.ดร.นฤมนัส คอวนิช  ประธานองค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (อ.บ.ท.ท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่มากกว่าปีละ 8 ล้านคนทั่วโลก โดยอุตสาหกรรมยาสูบมีการคิดค้นผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ ๆ เพื่อจูงใจให้เด็ก เยาวชน และนักสูบหน้าใหม่เสพติดได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้หลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ บราซิล และไทย มีนโยบายห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า แต่พบว่ามีความพยายามของบริษัทยาสูบข้ามชาติสร้างกระแสผลักดันกฎหมาย ทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกต้อง โดยบุหรี่ไฟฟ้า ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่จูงใจให้คนหันมาสูบและเสพติดบุหรี่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ และสุดท้ายกลายเป็นปัญหาด้านสาธารณสุข

“ขณะนี้ไม่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่า บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไป โดยพบว่าบุหรี่ไฟฟ้า มีสารนิโคตินจากใบยาสูบและสารเคมีที่เป็นอันตรายสูงกว่าบุหรี่ทั่วไป

ในฐานะวิชาชีพทันตแพทย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิชาชีพสุขภาพตระหนักดีว่า ภัยคุกคามจากบุหรี่ไฟฟ้ามีมาก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ รวมถึงสุขภาพช่องปาก ที่เพิ่มความรุนแรงของฟันผุ ลดความต้านทานของเนื้อเยื่อในช่องปาก กระตุ้นให้เกิดการอักเสบและโรคปริทันต์ง่ายขึ้น ทำให้สุขอนามัยในช่องปากเสื่อมโทรมลง

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ใช้ยาสูบอายุน้อยมีแนวโน้มใช้บุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น” ผศ.ทพ.ดร.นฤมนัส กล่าว

ผศ.ทพ.ดร. นฤมนัส กล่าวต่อว่า องค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (อ.บ.ท.ท.) เป็นตัวแทนของคณะทันตแพทยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน จึงได้ออกแถลงการณ์และแสดงจุดยืนสนับสนุนให้รัฐบาลคงนโยบายห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ทำให้บุหรี่ไฟฟ้ากลายเป็นสิ่งถูกกฎหมาย อีกทั้งประเทศไทย ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมการบริโภคยาสูบขององค์กรอนามัยโลก (FCTC) ซึ่งรัฐบาลต้องป้องกันไม่ให้เกิดการแทรกแซงนโยบายจากอุตสาหกรรมยาสูบ หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ดังนั้นการที่ผู้สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าได้มีความพยายามที่จะเสนอแก้กฎหมายเพื่อให้สามารถนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าได้ จึงเป็นการขัดต่อพันธะกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีต่อองค์กรอนามัยโลกอย่างชัดเจน 

รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินนโยบายเพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชนไทยและอนาคตของเยาวชนไทยให้ปลอดภัยจากภัยคุกคามทางสุขภาพของบุหรี่ไฟฟ้า

โดยขอขอบคุณท่านสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่แสดงจุดยืนชัดเจนว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขไม่มีนโยบายทำให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งถูกกฎหมาย

เพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชนและอนาคตของเยาวชนไทยให้ปลอดภัยจากภัยคุกคามทางสุขภาพของบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่ง อ.บ.ท.ท. จะมุ่งมั่นทำงานเชิงรุกโดยการให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าแก่ทันตบุคลากรต่อไป” ผศ.ทพ.ดร. นฤมนัส กล่าว

ทั้งนี้ องค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (อ.บ.ท.ท.) ประกอบด้วย คณะทัตแพทยศาสตร์ จาก 16 มหาวิทยาลัย ได้แก่

  1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  2. มหาวิทยาลัยมหิดล
  3. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  4. มหาวิทยาลัยของแก่น
  5. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  6. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  7. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  
  8. มหาวิทยาลัยนเรศวร
  9. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
  10. มหาวิทยาลัยพะเยา
  11. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
  12. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
  13. มหาวิทยาลัยรังสิต
  14. มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น
  15. มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี
  16. มหาวิทยาลัยเนชั่น