ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศบค.ชุดใหญ่เตรียมประชุม 26 พ.ย.64 ประเมินสถานการณ์หลังเปิดประเทศ ขณะที่ข้อมูลองค์การอนามัยโลกชี้ สหรัฐยังป่วยโควิดสูง แม้แต่ยุโรปตะวันตกฉีดวัคซีนครบ ยังพบอัตราติดเชื้อเช่นกัน ส่วนไทยฉีดวัคซีนแล้วกว่า 88 ล้านโดส ตั้งเป้า 100 ล้านโดส พ.ย.นี้ ขอความร่วมมือทุกส่วนช่วยกัน ขณะที่ 10 จ. ฉีดน้อย ทั้งภาพรวมและกลุ่ม “608”

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 22 พ.ย.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โควิด-19 ว่า สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์สำคัญข้อมูลนำเข้าหลังเปิดประเทศ ทั้งผู้เดินทาง ผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต สถานการณ์ต่างๆ จะถูกนำเข้าที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในวันศุกร์ที่ 26 พ.ย.นี้ ซึ่งก็จะต้องมีการติดตามว่า จะมีมาตรการอย่างไรต่อไป

สำหรับข้อมูลผู้ติดเชื้อทั่วโลกนั้น องค์การอนามัยโลกได้สรุปให้เห็นว่า อัตราติดเชื้อในส่วนสหรัฐค่อนข้างขยายปริมาณ อยู่ในกลุ่มสีเหลืองสูงสุด ส่วนสีเขียวจะอยู่ในกลุ่มยุโรป อย่างยุโรปตะวันออก มีปัญหาประชากรฉีดวัคซีนไม่ครอบคลุม ทำให้มีอัตราการติดเชื้อสูง ป่วยหนัก เสียชีวิตสูง ส่วนประเทศทางยุโรปตะวันตกแม้จะฉีดวัคซีนครอบคลุม แต่ยังลดอัตราการติดเชื้อไม่ได้ จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้นโยบายหลายประเทศแข็งกร้าวมากขึ้น อย่างบางประเทศประกาศว่า คนที่ไม่ฉีดวัคซีนจะไม่สามารถใช้บริการสถานที่สาธารณะต่างๆ รวมถึงขนส่งสาธารณะ บางประเทศมีการปิดเมือง จึงทำให้มีการประท้วงหลากหลายพื้นที่ของยุโรปเช่นกัน ตรงนี้ประเทศไทยจึงต้องติดตามยุโรป สหรัฐอย่างใกล้ชิด เพราะนักท่องเที่ยวจำนวนมากมาไทย จะเป็นนักท่องเที่ยวจากยุโรปและอเมริกาด้วย

พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในประเทศไทย ข้อมูลถึงวันที่ 21 พ.ย.2564 ฉีดไปแล้วกว่า 88 ล้านโดส จึงยังต้องช่วยกัน เพราะบางจังหวัดบอกว่า หาคนไปฉีดเข็มที่ 1 ยากมาก เรื่องนี้จึงต้องช่วยกัน เพราะนอกจากป้องกันป่วยหนัก เสียชีวิต ยังเป็นความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม ประเทศชาติด้วย การที่จะเปิดประเทศอย่างปลอดภัย กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าว่า เข็มที่ 1 ต้องฉีดให้ได้ 100 ล้านโดสในเดือนพ.ย. นี้

“ข้อมูลระหว่างวันที่ 28 ก.พ.-21 พ.ย. 64 พบว่า ขณะนี้ยังมี 10 จังหวัดที่ฉีดวัคซีนเข็ม 1 ค่อนข้างต่ำ จึงต้องขอความร่วมมือช่วยกัน ต้องเร่งเครื่อง ต้องอาศัยความร่วมือสถานประกอบการ และพี่น้องประชาชน ได้แก่ นครพนม หนองบัวลำภู สกลนคร กาฬสินธุ์ บึงกาฬ ยะโสธร แม่ฮ่องสอน สุรินทร์ ร้อยเอ็ด และสมุทรสงคราม ส่วนกลุ่มเสี่ยง “608” ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง มีอัตราฉีดวัคซีนต่ำสูง 10 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน นครนายก ราชบุรี สุพรรณบุรี ปัตตานี ขอนแก่น กาญจนบุรี ลพบุรี สระบุรี และอ่างทอง” พญ.อภิสมัย กล่าว

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ดังนั้น แม้พื้นที่ท่านติดเชื้อไม่มาก แต่หากเกิดการติดเชื้อ ท่านไม่รับวัคซีน จะกลายเป็นผู้เสี่ยง ซึ่งต้องขอบคุณหน่วยงานเอกชนมาช่วยรณรงค์ เพราะภาครัฐ หรือกระทรวงสาธารณสุขอย่างเดียวคงทำไม่ได้ จึงต้องฝากทุกคนร่วมด้วยช่วยกัน การเปิดประเทศให้ปลอดภัยอยู่ที่การฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมด้วย

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org