ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์ เผยงานวิจัยประเมินอันตรายบุหรี่ไฟฟ้า เพิ่มจาก 5% เป็น 67% ของบุหรี่ธรรมดาในเวลาเพียง 7 ปี ตอกย้ำ เหตุผลที่ WHO ไม่การันตี บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา

วันที่ 23 พฤศจิกายน ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และหัวหน้าโครงการวิจัย ติดตามและเฝ้าระวังอุตสาหกรรมยาสูบในประเทศไทย เปิดเผยถึงงานวิจัยที่กลุ่มสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยนำมาอ้างว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา 33% หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือมีอันตราย 67% ของบุหรี่ธรรมดา ว่า งานวิจัยที่ถูกอ้างอิง มาจากมหาวิทยาลัยโอทาโก ประเทศนิวซีแลนด์ ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

ประเมินว่า “บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน 33%” โดยการศึกษาครั้งนี้เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลจากงานวิจัยเพียง 5 ชิ้น และที่สำคัญคืองานวิจัย 2 ใน 5 ชิ้น เป็นงานที่บริษัทบุหรี่สนับสนุน ซึ่งเขียนไว้อย่างชัดเจนในรายงาน และผู้วิจัยก็ยอมรับว่างานที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนนี้  มักได้ผลวิจัยออกมาทำนองเข้าข้างบริษัทบุหรี่คือ มักจะบอกว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตราย

ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวต่อว่า ผู้วิจัยยอมรับว่า มีข้อจำกัดค่อนข้างมากและมีอคติหลายประการ โดยเฉพาะสารเคมีที่นำมาศึกษามีจำนวนจำกัด โดยงานวิจัยยังใช้ข้อมูลเก่าที่บอกว่าสารเคมีในบุหรี่ไฟฟ้ามีเพียง 80 ชนิด ทั้งที่ความจริง เมื่อเร็ว ๆ นี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกิ้นส์ สหรัฐอเมริกา พบสารเคมีในบุหรี่ไฟฟ้าเกือบ 2,000 ชนิดที่ไม่พบในบุหรี่ธรรมดา นอกจากนี้ยังมีสารพิษอื่น ๆ ที่ยังไม่มีการตรวจสอบในการศึกษาครั้งนี้ เช่น 1. ดัชนีชี้วัดทางชีวภาพที่เกี่ยวกับสารฟอร์มอลดีไฮด์ที่พบมากในบุหรี่ไฟฟ้า

2. อนุภาคขนาดเล็กในบุหรี่ไฟฟ้าที่อาจจะส่งผลต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด 3. สารเติมแต่งรสชาตินานาชนิดของบุหรี่ไฟฟ้า ที่อาจจะส่งผลต่อการทำลายปอดที่แตกต่างกัน 4. ผลของดัชนีชี้วัดทางชีวภาพในระดับเซลล์ เช่น กลไกการ และ 5. การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของการสูบบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้ากับการเกิดโรคอาจมีความคลาดเคลื่อน เพราะผลของการสูบบุหรี่ต่อสุขภาพไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบเส้นตรง คือ สูบน้อยหรือได้รับสารพิษน้อยกว่าไม่ได้แปลว่าจะเสี่ยงน้อยกว่า และโรคที่รวมในการศึกษานี้มีเพียง 4 โรค ซึ่งโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่มีจำนวนมากกว่านี้หลายเท่า

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ฝ่ายสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้ามักจะอ้างงานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2557 ว่า บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา 95% หรือพูดอีกนัยหนึ่งมีอันตรายเพียง 5% ของบุหรี่ธรรมดา ซึ่งในปี 2557 มีงานวิจัยถึงผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าต่อสุขภาพเพียง 158 ชิ้น แต่จำนวนงานวิจัยได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 6,971 ชิ้นนับจนถึงต้นปี 2021

ซึ่งรายงานถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าต่อสุขภาพทั้งโรคปอดและโรคหัวใจมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา  องค์การอนามัยโลกจึงไม่เคยบอกว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา และผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าต่อสุขภาพในระยะยาวยังไม่เป็นที่ทราบกัน เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่งแพร่หลายมาประมาณ 10 กว่าปีมานี้เอง  

“ประเทศสหรัฐอเมริกาที่บุหรี่ไฟฟ้าขายได้อย่างถูกกฎหมายตั้งแต่ปี 2550  อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเท่ากับ 1.5% เท่านั้น ในปี 2554  แต่ได้เพิ่มขึ้นเป็น 27.5% ในปี 2562  ดังนั้นข้อมูลที่ฝ่ายที่สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้านำมาอ้างว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา จึงเป็นข้ออ้างที่ยังไม่สามารถที่จะนำมาประกอบการพิจารณานโยบายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย เนื่องจากเป็นการกำหนดนโยบายที่จะส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก โดยเฉพาะเยาวชนที่ชอบลองของใหม่ ๆ อย่างบุหรี่ไฟฟ้า” ศ.นพ.ประกิต กล่าว

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org