ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายบุคลากรสาธารณสุข ร้องประธาน กมธ.สาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ขอความเป็นธรรม พร้อมแนบรายชื่อผู้ปฏิบัติงานโควิด แต่ไม่ได้รับเงินเพิ่มพิเศษ 7 เดือน และปรับขั้นเงินเดือน 1% รวมเบื้องต้นกว่า 1.8 พันคน พร้อมจำแนกปัญหาพบส่วนหนึ่งเกณฑ์พิจารณาไม่ชัดเจน วอน สธ. กพ. สำนักงบฯ ศบค. ทุกฝ่ายทบทวนช่วยเหลือ

เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2564 นายริซกี สาร๊ะ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายบุคลากรสาธารณสุขเรียกร้องสิทธิประโยชน์ตามมติครม. วันที่ 15 เมษายน 2563 ทำหนังสือถึงประธานกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ขอความเป็นธรรมและสร้างขวัญกำลังใจ สำหรับบุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ไม่ได้รับสิทธิเงินเพิ่มพิเศษ และขั้น 1% ตามมติครม. วันที่ 15 เมษายน 2564 โดยได้มีการแนบรายชื่อและจำนวนบุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์โควิด จากการสำรวจเบื้องต้นของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการไม่ได้รับสิทธิประโยชน์เงินเพิ่มพิเศษ และขั้น 1% ในปีพศ. 2563 รวมแล้วประมาณ 1,874 คนนั้น

โดยในหนังสือทางเครือข่ายบุคลากรสาธารณสุข ได้รายงานว่า ปัญหาที่พบ ประกอบด้วย

1.มีบุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์เงินเพิ่มพิเศษ 7 เดือน (มีนาคม-กันยายน 2564) เนื่องจากไม่มีชื่อในคำสั่งการปฏิบัติงาน (คำสั่งส่วนใหญ่ปรากฏแต่ชื่อหัวหน้าหน่วยงาน และหัวหน้าฝ่ายในฐานะหัวหน้าภารกิจเท่านั้น)

2.มีบุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ขั้น 1% รอบเมษายน 2563 และรอบ กันยายน 2563 เนื่องจากเกณฑ์การพิจารณาให้ขั้น 1% แต่ละหน่วยงานไม่ชัดเจน ทำให้มีการตีความที่แตกต่างกัน

3. มีบุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 ที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ ทั้งเงินเพิ่มพิเศษ และ ขั้น 1% ในปี 2563

ทั้งนี้ เครือข่ายบุคลากรสาธารณสุข ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(กพ.) สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. จะทบทวนแนวทางการให้สิทธิประโยชน์ แก่บุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างครอบคลุมและทั่วถึง และหวังว่าข้อเสนอดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้อง ในการแก้ไขปัญหาการบริหารกำลังคนด้านสาธารณสุขในสถานการณ์วิกฤติโรคระบาดทั่วโลก และสร้างขวัญกำลังใจต่อบุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานอย่างหนัก ครอบคลุมทุกวิชาชีพทุกสายงานได้ในที่สุด

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org