ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ เผยอบจ. 50 จังหวัดทั่วประเทศ ยื่นประสงค์รับการถ่ายโอน และมี รพ.สต. พร้อมถ่ายโอนไป อบจ. รวมประมาณ 3,200 แห่ง ชี้ 30 พ.ย. 64  นี้รู้ผลชัดเจน!

นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เปิดเผยกับ Hfocus เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2564 กรณีการขับเคลื่อนถ่ายโอนรพ.สต. ไป อบจ. ว่า เนื่องจากในแผนการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งในแผนที่ 1 ได้เขียนไว้ว่า ภารกิจถ่ายโอนรพ.สต. นั้น สธ.จะต้องถ่ายโอนภารกิจนี้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่เมื่อปี 2542 - 2551 ไม่มีการถ่ายโอนรพ.สต. แห่งใดเลย  ดังนั้น ปี 2551 คณะกรรมการกระจายอำนาจฯ จึงได้ยกประเด็นนี้มาเร่งรัดให้มีการถ่ายโอน โดยมอบให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการ และเป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาถ่ายโอนรพ.สต. ไปยัง อบจ. และเทศบาล

นายเลอพงศ์ กล่าวต่อว่า จากปี พ.ศ. 2551-2561 ผลปรากฏว่า ข้อมูลที่ทางคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ ได้รับว่า รพ.สต. ถ่ายโอนไปยัง อบจ. และเทศบาล มีประมาณ 50 แห่งเท่านั้น   จึงทำให้คณะกรรมการกระจายอำนาจฯ ยกประเด็นนี้เข้าสู่อนุกรรมการฯ พิจารณาอีกครั้ง ว่าไปศึกษาดูว่าเกิดปัญหาหรืออุปสรรคอะไร ทำไมถึงมีการถ่ายโอนน้อย ทั้งที่ รพ.สต. ทั่วประเทศมีประมาณ 9,700 กว่าแห่ง ทำไมมีตัวเลขโอนไปแค่  50 แห่ง

“ดังนั้นแล้ว คณะอนุบริหารแผนการกระจายอำนาจฯ จึงรับเรื่องนี้มาศึกษาข้อมูล และได้แต่งตั้งคณะทำงาน  โดยให้ผม “นายเลอพงษ์  ลิ้มรัตน์” เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ ในการยกร่าง วิธีการขั้นตอน รวมถึงเกณฑ์ชี้วัด ในการที่จะให้รพ.สต. ถ่ายโอนไปยัง อบจ. สุดท้ายหลังจากคณะกรรมการฯ ได้ดำเนินงานแล้ว ได้สรุปเป็นรูปเล่มที่ชัดเจน จากการร่วมมือของคณะทำงานซึ่งประกอบไปด้วยผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น กระทรวงสาธารณะสุข องค์การส่งเสริมปกครองส่วนท้องถิ่นหรือผู้แทนจากรพ.สต. รวมถึงนักวิชาการด้วย” นายเลอพงศ์ กล่าว

นายเลอพงศ์ กล่าวว่า สุดท้ายสำหรับขั้นตอนที่กำหนดไว้ คณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ มีหน้าที่ในการประเมิน อบจ. ว่าอบจ. แต่ละแห่งจะมีศักยภาพในการที่จะสามารถรับถ่ายโอนรพ.สต. ได้ทั้งหมดจำนวนกี่แห่ง ซึ่งในการถ่ายโอนรุ่นแรก ได้กำหนดให้เสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 1 ตุลาคม  2565  

ทั้งนี้ สำหรับทีมเราได้มีกำหนดการไว้ว่าจะต้องประเมินให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564  ทางอบจ.ที่มีความประสงค์ต้องการขอรับถ่ายโอนจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรมาถึงคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ว่า อบจ. จะขอรับการประเมิน และต้องส่งเรื่องมาภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564

นายเลอพงศ์ กล่าวต่อว่า ซึ่งหลังจากวันที่ 15 พ.ย. 64 ที่ผ่านมานั้น ได้รับหนังสือจากอบจ. ทั่วประเทศที่ส่งมาขอรับการถ่ายโอน พบว่า มีทั้งหมด 50 อบจ. ที่ส่งคำขอรับถ่ายโอน โดยมีทุกภาคของประเทศไทย  และมีรพ.สต. ที่พร้อมถ่ายโอนไปอบจ. ในรอบแรก 1 ต.ค. 2565 (ปีงบประมาณ 2566) รวมประมาณ 3,200 แห่ง เราจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานแบ่งออกเป็น 4 ทีม โดยทีมที่ 1 รับผิดชอบภาคใต้  ทีมที่ 2 รับผิดชอบภาคกลางและภาคตะวันออก  ทีมที่ 3 รับผิดชอบภาคเหนือ  ทีมที่ 4 รับผิดชอบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงพื้นที่ประเมินความพร้อมของ อบจ. ทั้ง 50 แห่ง

ดยได้กำหนดไทม์ไลน์ไว้ว่าทั้ง 4 ทีมจะต้องประเมินให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564  เพราะในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 จะมีการประชุมอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุข เพื่อพิจารณาเห็นชอบผลการประเมินของคณะทำงานและแจ้งผลไปยังส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามแนวทางที่ประกาศต่อไป

 

ข่าวเกี่ยวข้อง :

มีผลแล้ว! ประกาศถ่ายโอนภารกิจ "รพ.สต." ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด พร้อมแนวทางดำเนินการ

ชมรม ผอ.รพ.สต.ส่งเสียงถึงผู้บริหาร สธ.ขอหนุนถ่ายโอนภารกิจไปยัง อบจ.

เปิดมุมมอง: ข้อดีข้อเสียถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. สู่ท้องถิ่น ภาพสะท้อนการดูแลบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข

คลายข้อสงสัย! ไม่ถ่ายโอน "รพ.สต." ไป "อบจ." ผิดกฎหมายหรือไม่...

ไทม์ไลน์โอนภารกิจ "รพ.สต." สู่ "อบจ."

อัปเดต! รพ.สต.โคราช 182 แห่งพร้อมถ่ายโอนไป อบจ.

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org