ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“กระบี่” ไม่ได้มีดีแค่ชายทะเล แต่ยังมีน้ำพุร้อน อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ อีกแหล่งการท่องเที่ยวฟื้นเศรษฐกิจจากโควิด19 รองรับการเปิดประเทศ

กระบี่ เป็นหนึ่งในจังหวัดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว(สีฟ้า) ที่รัฐบาลประกาศเป็นพื้นที่รองรับการเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พ.ย.2564 ที่ผ่านมา ประกอบกับเมื่อเร็วๆนี้ “กระบี่” ยังเป็นจังหวัดที่รัฐบาลเลือกเป็นพื้นที่การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) สัญจร และได้มีมติอนุมัติโครงการเร่งด่วนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน(กระบี่ พังงา ภูเก็ต ตรัง ระนองและสตูล)

หนึ่งในโครงการที่ครม.อนุมัติ คือ “โครงการพัฒนาสปาวารีบำบัด น้ำพุร้อนคลองท่อม จ.กระบี่” ซึ่งเป็นการผลักดันการท่องเที่ยวที่ไม่ใช่แค่ชายทะเล แต่ยังมีดีที่น้ำพุร้อน หรือ ออนเซ็นเมืองไทย....

นายปรีชา พูลโภคผล ประธานสโมสรน้ำพุร้อนไทย และเจ้าของวารีรัก ฮ็อต สปริง แอนด์ เวลเนส ปรีชา เปิดเผยว่า จ.กระบี่ มีความโดดเด่นที่จะพัฒนาเป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ(Health & Wellness Tourism) ใน 7 เรื่อง ประกอบด้วย 1.สปาชายทะเล(Seaside Wellness) ซึ่งมีบ่อโคลนผุดเหมือนบ่อโคลนที่จ.แม่ฮ่องสอน 2.เมืองน้ำพุร้อน (Hot Spring Town)โดยเฉพาะอ.คลองท่อม สามารถพัฒนาเป็น “เมืองออนเซ็น”ได้ 3.การดูแลสุขภาพแผนไทย(Thai Wellness) 4.ป่าบำบัด(Forest Therapy) กระบี่มีสภาพป่าที่หลากหลาย 5.กิจกรรมกีฬา(Sport Activities) เช่น ปั่นจักรยาย ปีนผา 6.อาหารสุขภาพ(Wellness Cuisine) และ 7.กิจกรรมชมวัฒนธรรมและวัดต่างๆ(Spiritual Activities)

ทั้งนี้ “คลองท่อม” มีการขับเคลื่อนสู่เมืองน้ำพุร้อน หรือ ออนเซ็นมาตั้งแต่ปี 2557 โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอให้พัฒนาน้ำพุร้อนทั้งประเทศใน 27 จังหวัดเป็นที่อาบน้ำสาธารณะ และเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ ยกระดับเป็น Wellness หรือการดูแลสุขภาพ ซึ่งหากทำได้ควรต่อยอดเป็น “เมืองน้ำพุร้อน” หรืออย่างน้อยเป็น “หมู่บ้านน้ำพุร้อน” จะสร้าง เศรษฐกิจดึงดูดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เป็นแม่เหล็กดึงนักท่องเที่ยว เพื่อสร้างเศรษฐกิจต่อเนื่อง

“เบื้องต้นอาจแบ่งเป็น 7 เส้นทาง เนื่องจากจะสนับสนุนทั้ง 27 จังหวัดอาจจะไม่ไหว โดยในภาคใต้ได้รับการเสนอให้ทำเส้นทางอันดามัน คือ น้ำพุร้อน ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง สตูล เพื่อเป็นเส้นทางเสริมการท่องเที่ยวอันดามันให้มีความหลากหลาย สร้างจุดดึงดูดใหม่ จากเดิมที่มีแค่ทะเล ล่าสุดมีเรื่องของ Wellness หากทำได้ประเทศไทยจะอยู่ในเวทีการท่องเที่ยวยุคใหม่หลังโควิด-19” ประธานสโมสรฯ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การทำเป็นออนเซ็นเมืองไทยนั้น หากพิจารณาถึงคู่แข่งแล้วยังไม่มาก จะมีคู่แข่งใหญ่ๆ คือ ญี่ปุ่น แต่หากพัฒนาให้ดี ในอนาคตก็จะเกิดวิสาหกิจที่เกี่ยวกับWellness เกิดขึ้นจำนวนมาก เช่น อาหาร น้ำพุร้อน สปา การท่องเที่ยวเสริมต่างๆ และที่พัก หมายถึง จะสามารถสร้างเม็ดเงินที่จะได้เต็มๆ กับพื้นที่ เป็นวิธีสร้างงาน สร้างรายได้ที่ดีที่สุด

“อ.คลองท่อมมีแหล่งน้ำพุร้อนในทุกตำบลโดยพื้นที่ 90 %อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การบริการส่วนตำบล(อบต.)และอุทยานแห่งชาติ ที่ผ่านมามีการศึกษาเป็นแผนแม่บทของเมืองสปาคลองท่อมแล้ว แต่จุดเริ่มต้นที่ยังขาด คือ การให้เงินก้อนหนึ่ง เพื่อให้แนวคิดที่วิจัยเรื่อง "สปาทาวน์คลองท่อม" ได้รับการออกแบบ เพื่อจะของบประมาณจากกระทรวง ทบวง กรมได้ เพราะถ้าให้ศึกษากันเองจะไม่ได้รูปแบบที่เป็นมาตรฐาน จึงเสนอให้กระทรวงสาธารณสุข หรือกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หรือ กระทรวงมหาดไทย ให้งบฯกับอำเภอที่มีน้ำพุร้อน นำร่อง 1 โครงการ เมื่อออกแบบเสร็จจะใช้เป็นคัมภีร์ของบฯประจำปี เพราะภารกิจสร้างเมืองเป็นเรื่องของทุกกระทรวงอยู่แล้ว ทำแบบนี้จะง่ายและใช้งบน้อยที่สุด” นายปรีชา กล่าว

นายปรีชา ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันมีการใช้ทะเลไปมากและแออัด ทางแก้หนึ่งคือกระจายนักท่องเที่ยว โดยก่อนโควิดระบาด ในเชิงจำนวนนักท่องเที่ยว น้ำพุร้อนพิสูจน์แล้วว่าแค่พัฒนาเป็นสปาน้ำพุร้อน หรือที่อาบน้ำสาธารณะจะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากภายนอกที่เป็นคนไทยเข้ามาได้ไม่ต่ำกว่า 10% ถ้ารองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ก็จะได้อีก 10%” ที่สำคัญ “น้ำพุร้อน”ที่นี่ได้มีการทดสอบคุณภาพและรับรองให้เป็นน้ำพุร้อนดื่มได้ จึงเหมาะที่จะเป็นเมืองน้ำพุร้อน

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องมีทีมทำงานแล้วสรุปเป็นภาพจังหวัด ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กับหน่วยงานต่างๆ ให้ความสำคัญกับเรื่อง “Wellness Tourism” เพราะเป็นทิศทางใหม่ ซึ่งจะมีการหารือต่อไป อย่างไรก็ตาม สธ.กำลังพิจารณาเรื่องมาตรฐานของสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ตามพ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพพ.ศ.2562 ถ้ากิจการทำมาตรฐานได้เพิ่มมากขึ้น นักท่องเที่ยวก็จะเลือกมาเที่ยวที่ประเทศไทย เช่น มาตรฐานน้ำ ความสะอาด ปลอดภัย สำหรับ “คลองท่อม” นั้น มีจุดเด่นมาก ทั้งน้ำพุร้อน น้ำตกร้อน น้ำพุร้อนเค็ม สบส.กำลังพยายามหารือกำหนดให้น้ำพุร้อนเป็นสถานประกอบการประเภทตามพรบ.นี้ เพื่อทำให้มีมาตรฐานมากขึ้น

“ ยังติดขัดในเรื่องการนิยามความแตกต่างจากสปาธรรมดา และอาจจะต้องมีการสนับสนุนเรื่องงบประมาณบางส่วนในการเริ่มโครงการ ต้องหารือกับคณะทำงาน ซึ่งเรื่องนี้อาจมีการบูรณาการกันหลายกระทรวง โดยมีท้องถิ่นเป็นแกนสำคัญ” อธิบดี สบส. กล่าว

เห็นได้ชัดว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อย่างก่อนหน้านี้ กรณีธุรกิจสปาได้มีการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 2 ปี และเพิ่มสถานประกอบการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ก็ลดเก็บค่าธรรมเนียมในพื้นที่ไป 2 ปีเช่นกัน

ดังนั้น การพัฒนาน้ำพุร้อน เป็นแหล่งท่องเที่ยวของกระบี่ สอดรับกับมติ ครม. ในการพัฒนา “โครงการพัฒนาสปาวารีบำบัด น้ำพุร้อนคลองท่อม จ.กระบี่” จึงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป..

อ่านข่าวอื่นๆ 

: “เลลันตาซีฟู้ด” ตัวอย่าง SME พื้นที่สีฟ้าพลิกวิกฤตโควิดสู่โอกาสสร้างรายได้คนท้องถิ่น

: เสียง อสม. ต่อนโยบาย (เพิ่ม) ค่าตอบแทนเดือนละ 1,500 บาทตลอดไป..

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง