ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณบดีศิริราชฯ ขอสื่อให้ข้อมูล ผลข้างเคียง "วัคซีนโควิด-19"  รอบด้าน ไม่ได้บอกให้ปิดบัง แต่ต้องเป็นเรื่องจริง และข้อมูลครบถ้วน ลดแตกตื่นทำคนกลัว ไม่กล้าฉีดวัคซีนป้องกัน ย้ำ! นำเสนอตัวเลขผลข้างเคียง เสียชีวิต ต้องเทียบกับตัวเลขฉีดทั้งหมด และประโยชน์ที่ได้รับ แจงให้ครบ เพื่อประโยชน์สาธารณชน  

ตามที่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ให้ข้อมูลอัปเดตสถานการณ์การระบาดโควิด-19 เมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา ว่า ต้องจับตาและเฝ้าระวังในช่วงเดือนธันวาคมนี้ เพราะเป็นช่วงอากาศเย็น เสี่ยงแพร่ระบาดง่าย และมีเทศกาลเฉลิมฉลอง ซึ่งเสี่ยงที่คนจะรวมกลุ่มและติดเชื้อ และขอให้มาฉีดวัคซีนป้องกันโควิดกันให้มาก โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง "608" ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากวัคซีนจะลดการป่วยหนัก และเสียชีวิตได้ พร้อมทั้งให้ข้อมูลในยุโรปพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่อัตราการเสียชีวิตลดลง เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนมากขึ้น และเริ่มมีการฉีดวัคซีนเข็ม 3เช่นกับประเทศไทย

(อ่านข่าว : ศิริราชเผยยุโรปโควิดกลับมาระบาด! ไทยต้องเข้มระวังช่วง ธ.ค. เดือนเสี่ยงระลอกใหม่)

อย่างไรก็ตาม เกิดคำถามว่า ยุโรปมีการฉีดวัคซีนจำนวนมาก แต่เพราะเหตุใดยังพบการติดเชื้อ แพร่ระบาดมากขึ้น... 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องแยกให้ดี จริงๆ การฉีดวัคซีนจำนวนมากในประเทศใดประเทศหนึ่ง ภาพรวมคนติดเชื้อลดลง แต่การติดเชื้อยังมี เพราะเราต้องมีการป้องกันตัวเองด้วย ทั้งสวมหน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่าง อย่างในประเทศไทย มาตรการฉีดวัคซีนไปได้ดี แต่หากไม่อยากให้มีการฉีดเชื้อกลับขึ้นมาอย่างยุโรป ต้องยกการ์ดขึ้นมากที่สุด อย่างหลายประเทศฉีดวัคซีนมาก แต่พบการติดเชื้อ เพราะคนในประเทศคิดว่าปลอดภัยแล้ว และไม่สวมหน้ากากอนามัย ประกอบกับมีเรื่องวัฒนธรรม ความเชื่อ ความมีอิสระ แต่สำหรับประเทศไทยแตกต่างกัน เราต้องระมัดระวัง การฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเป็นเรื่องที่ดี และต้องขอย้ำว่า คนที่ฉีดครบโดส 2 เข็มในระยะเวลาที่ต้องฉีดเข็ม 3 คือ 4-6 เดือน ก็ควรไปฉีดเข็ม 3 แต่ขอว่า อย่าไปฉีดเยอะแยะเกินไป 4-5 เข็ม เกินความจำเป็น และต้องระวังด้วย แต่ที่สำคัญเมื่อฉีดวัคซีนแล้ว เวลาไปสถานที่คนเยอะๆขอให้ย้ำตัวเองต้องสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างเช่นเดิม 

"เมื่อเรามีการฉีดวัคซีนจำนวนมากแล้ว ถึงจุดๆหนึ่งก็จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่ต้องควบคุมกันให้ดี ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมีรายงานแทบทุกวัน ว่า ยังมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ปฏฺิบัติตาม และต้องระวัง เพราะอาจเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อขึ้นมาใหม่ได้" ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

เมื่อถามว่ากรณีคนที่ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว แต่ด้วยปัจจัยบางอย่างกลับไม่ยอมฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเข็มที่ 2 จะทำอย่างไร ยิ่งช่วงใกล้ปีใหม่จะป้องกันได้หรือไม่....

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า  ขอฉีดให้ครบ เนื่องจากขณะนี้ไทยมีวัคซีนมากพอแล้ว ขอให้ช่วยกันอธิบายข้อมูลจริงๆ ว่าวัคซีนไม่ได้อันตราย เรามักกลัวในสิ่งที่ยังไม่เกิด แต่ที่เกิดจริงๆ คือ เมื่อติดโควิดแล้ว ไม่มีใครรู้หรอกจะรอดหรือไม่ อย่างตอนนี้ เด็กก็เสียชีวิตได้ ไม่ต้องเป็นกลุ่มเสี่ยง 

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่าอย่างคนไม่ยอมฉีดวัคซีน ต้องมีมาตรการเชิญชวนเพิ่มเติมหรือไม่..

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ในต่างจังหวัดพยายามรณรงค์มาก  จริงๆ คนจำนวนหนึ่งไม่ได้ไม่อยากฉีด แต่อาจไม่สะดวก จึงต้องเอาวัคซีนไปให้เขา สังคมไทยไม่ได้เหมือนตะวันตกที่จะออกมาต่อต้านมากมาย หากเราอธิบายเหตุผล เชื่อว่าเขารับได้ เพียงแต่ว่าหากเขาเดินทางมารับวัคซีนไม่ได้ เราต้องอำนวยความสะดวกตรงนี้ และที่สำคัญเราต้องสร้างองค์ความรู้ภาพรวม และต้องรณรงค์ทุกสื่อทุกช่องทาง อย่างต่างจังหวัด บางพื้นที่ก็จะดูโทรทัศน์ เราก็ต้องสื่อสารให้ครอบคลุม และต้องเอาตัวเลขข้อมูลจริงๆ ว่าฉีดไปเท่าไหร่ โอกาสเกิดแทรกซ้อนเท่าไหร่ ให้เขาเห็นข้อมูล 

เมื่อถามว่ากรณีการนำเสนอข้อมูลฉีดวัคซีนไขว้แล้วเสียชีวิต ทำให้คนกลัว จะมีวิธีอย่างไรในการสร้างความเข้าใจ.. 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า  คนเรามีประสบการณ์เรื่องต่างๆ ไม่เหมือนกัน บางคนไปท่องเที่ยวเจออุบัติเหตุ ก็บอกไม่ไปเที่ยวแล้ว แต่ไม่ใช่ทุกคน จึงต้องมาเทียบสัดส่วนว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ กับประโยชน์ที่ได้รับกี่เปอร์เซ็นต์ การฉีดวัคซีนต้องนี้ชัดเจน ว่า หากติดเชื้อแล้วตัวเลขในประเทศไทย พบอัตราเสียชีวิตประมาณ 1% แต่กรณีฉีดวัคซีนแล้วพบอาการรุนแรงจนเสียชีวิตต่ำกว่า 0.2 -0.3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหลายประเทศเมื่อทราบจะป้องกันกลุ่มนี้ ก็จะน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งในประเทศไทยมีประสบการณ์รับมือตรงนี้ ดังนั้น ขอให้มั่นใจเข้ารับการฉีดวัคซีนดีกว่าไปเสี่ยงติดเชื้อ

"ผมเข้าใจว่า หน้าที่ของสื่อ คือ การเอาความจริงไปถ่ายทอด แต่ขณะเดียวกันสามารถสร้างความเข้าใจว่า นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจำนวนเท่าไหร่ เช่น มีเสียชีวิต 1 ราย ฉีดไปแล้ว 80 ล้านโดส มีอาการเท่าไหร่ ต้องบอกตัวเลขทั้งหมด เพราะหากเราพูดตัวเลข 1 ราย จะยุ่งทุกครั้ง ดังนั้น ก่อนเผยแพร่ช่วยสื่อสารให้ครบถ้วน เพื่อไม่ให้ตื่นตระหนก ผมไม่ได้บอกให้ปิดบัง ข่าวของจริงก็ต้องให้จริง แต่ต้องให้ครบ เพื่อให้คนฟังคนดูได้รู้ว่า ส่วนใหญ่ปลอดภัย และหากเกิดอาการก็ยังรักษาได้" ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

อย่างกรณีก่อนหน้านี้มีคนฉีดวัคซีนแล้วเกิดอาการชา ตอนนั้นเป็นข่าวกันมาก แต่ตอนนี้ดีขึ้น ข่าวไม่กลับมา ตนเชื่อว่าคนกลุ่มนี้ได้ฉีดวัคซีนเข็ม 2 เข็ม 3 ไปแล้วด้วยซ้ำ

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org