ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยผลผลติดตามระวังโควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” ยังไม่พบในประเทศไทย พร้อมส่งเทคนิคการตรวจหาเชื้อให้ศูนย์วิทย์ทั่วประเทศช่วยดำเนินการ ระหว่างรอพัฒนาน้ำยาตรวจจับเฉพาะ คาดเสร็จอีก 2 สัปดาห์ พร้อมยืนยันการตรวจหาเชื้อด้วย RT-PCR ยังใช้ได้ แม้แต่ ATK ยังมีประสิทธิภาพ พร้อมหารือ อย. เพิ่มศักยภาพน้ำยาตรวจ ATK ตรวจจับเชื้อเพิ่มเติม!

เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการติดตามสายพันธุ์โอไมครอน (Omicron) ว่า จากการติดตามทั่วโลกยังพบโควิดสายพันธุ์เดลตาเป็นส่วนใหญ่ ส่วนตัวใหม่ อย่าง “โอไมครอน” ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มน่ากังวล VOC นั้น ยังมีการติดตามอยู่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็เช่นกัน โดยได้ร่วมกับเครือข่ายตรวจรหัสพันธุกรรมทั้งเบื้องต้น และทั้งตัว ซึ่งข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 ตั้งแต่เปิดประเทศนั้น มี 75 ตัวอย่าง ที่เดินทางมาจากประเทศต้นทาง คือ การ์ตา รัสเซีย ฝรั่งเศส จีน อเมริกา อังกฤษ และมอริเชียส (Mauritius) ซึ่งตรวจแล้ว 45 ตัวอย่าง และรออีก 30 ตัวอย่าง เบื้องต้น 45 ตัวอย่างไม่พบโอไมครอน ยังเป็นเดลตา และเดลตาย่อยอยู่

“สรุปขอขีดเส้นใต้ 2 เส้นว่า ไทยยังไม่พบโอไมครอน ณ ขณะนี้” นพ.ศุภกิจ กล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ส่วนคำถามว่าการตรวจ RT-PCR ยังตรวจได้หรือไม่ ต้องเรียนให้ทราบว่า การที่แล็บใดก็ตามที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทย์ ที่ตรวจแล้วเป็นลบ แล็บต้องตรวจยีนมากกว่า 1 ยีน คือ 2 หรือ 3 ยีนขึ้นไป และต้องไม่พบทั่งหมด ขณะเดียวกันการตรวจเป็นบวกก็เช่นกัน ต้องตรวจยีนมากกว่า 1 ตำแหน่ง และต้องพบทั้งหมดเช่นกัน แต่กรณีตรวจมากกว่า 1 ยีนที่ต่างกันหรือตรวจ 1 ยีนมากกว่า 1 ตำแหน่งแต่ไม่พบตามเกณฑ์ของชุดตรวจ คือ สรุปไม่ได้ ต้องมีการตรวจเพิ่มเติม ซึ่งการกำหนดการตรวจเช่นนี้ จะทำให้โอกาสหลุดรอดต่ำลง

นพ.ศุภกิจ ให้สัมภาษณ์หลังการแถลงถึงการตรวจหาสายพันธุ์โอไมครอน ว่า ปกติการตรวจหาเชื้อ RT-PCR ปกติ ว่าเป็นหรือไม่เป็น จะไม่ทราบว่าเป็นสายพันธุ์อะไร จะทราบว่า ผลบวกหรือลบเท่านั้น แต่เมื่อทราบว่า ผลบวก จะมีจำนวนหนึ่งถูกสุ่มมาตรวจ เช่น อยู่ชายแดน หรือมาจากประเทศเสี่ยงก็จะนำมาตรวจหมดหาสายพันธุ์ ซึ่งการหาสายพันธุ์ที่ต้องรอการตรวจพันธุกรรมทั้งตัว หรือ Whole genome sequencing ต้องใช้เวลานาน 5-7 วัน ดังนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงคิดเทคนิคเพื่อให้การตรวจรวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากน้ำยาในการตรวจหาเฉพาะสายพันธุ์โอไมครอน ยังไม่มี เรากำลังพัฒนาอยู่ คาดว่าอีกประมาณ 2 สัปดาห์จะได้ ระหว่างนี้จึงใช้หลักว่า หากเอาน้ำยา 2 ตัวของอัลฟา และเบตา หากตรวจพบตำแหน่งที่กลายพันธุ์ทั้ง 2 ตัว คือ ตัวเจอทั้งคู่แสดงว่า เป็นโอไมครอน

“โดยการตรวจ 1 ตัวอย่างจะมี 2 น้ำยาของอัลฟา กับเบตา โดยหากพบตำแหน่งกลายพันธุ์ของอัลฟา คือ HV69-70deletion และตำแหน่งกลายพันธุ์ของเบตา คือ K417N โดยหากพบทั้งคู่แสดงว่าเป็นโอไมครอน ซึ่งขณะนี้เราได้ประชุมคอนเฟอเร็นซ์ให้ทางศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ของกรมวิทยาศาสตร์ฯ ทั่วประเทศให้ดำเนินการตรงจุดนี้ เพื่อความรวดเร็ว ส่วนแล็ปอื่นๆ ก็สามารถส่งตรวจศูนย์วิทยาศาสตร์ฯที่ใกล้เคียงได้ อย่างชายแดนใต้ ส่งศูนย์ฯสงขลา ภาคเหนือส่งทางเชียงราย หรือเชียงใหม่ เป็นต้น แต่ไม่ได้ส่งทุกราย ต้องดูกลุ่มเสี่ยง ที่เดินทางเข้ามาในประเทศเสี่ยง หรือที่สงสัยว่าอาจอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เป็นต้น” นพ.ศุภกิจ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อสงสัยของบางกลุ่มว่า การตรวจด้วยชุด ATK ยังสามารถตรวจได้หรือไม่ โดยเฉพาะชุดตรวจเล่อปู๋ รวมทั้งขององค์การเภสัชกรรมชุดละ 40 บาท นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ยังใช้ได้อยู่ แต่ข้อมูลเบื้องต้นโปรตีนที่ใช้ตรวจยังไม่มีผลกระทบเรื่องการกลายพันธุ์ แต่ก็ต้องมีการติดตามพิจารณาด้วย เพราะเดิมก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการดีแคร์ หรือจดแจ้งว่า โปรตีนที่ใช้ตรวจไม่ได้มีผลต่อการกลายพันธุ์ ซึ่งตรงนี้จะมีการหารือกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ถึงเรื่องนี้ เพื่อให้ทางบริษัทดได้ดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตาม ชุดตรวจ ATK หากผ่านการรับรองจาก อย. สามารถตรวจได้ เพียงแต่เมื่อเราเป็นนักวิทยาศาสตร์ก็ต้องติดตามว่า ในวันหนึ่งอาจมีโปรตีนบางชนิดหายไป ก็อาจมีผลได้ ซึ่งก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด