ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข ประสานเครือข่ายเฝ้าระวังควบคุมโรคระดับเขต ติดตามนักท่องเที่ยวจาก 8 ประเทศเสี่ยงโอไมครอน ที่เข้าไทยก่อนหน้านี้ แม้วันแรกมาถึงผลตรวจเป็นลบ แต่ขอให้กำชับเฝ้าระวังต่อเนื่อง ย้ำ! ประชชนขอให้การ์ดสูงตลอดเวลา

เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2564 นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน แถลงสถานการณ์ในประเทศไทย ว่า วันนี้มีผู้ป่วยรักษาหาย 6,165 ราย ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4,753 ราย และเสียชีวิต 27 ราย แนวโน้มผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด 19 ข้อมูลถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 ฉีดแล้ว 92,360,417 โดส เข็มที่ 1 ครอบคลุม 66% ของประชากร ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน นอกจากทวีปแอฟริกา 8 ประเทศ ได้แก่ นามิเบีย ซิมบับเว บอตสวานา เลโซโท เอสวาตินี โมซัมบิก แอฟริกาใต้ มาลาวี มีรายงานพบในทวีปยุโรป ได้แก่ อิตาลี เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ เบลเยียม สาธารณรัฐเช็ก และเดนมาร์ก ทวีปเอเชียพบใน ฮ่องกง และอิสราเอล และทวีปออสเตรเลีย พบในประเทศออสเตรเลีย

“ส่วนประเทศไทยยังไม่พบสายพันธุ์ดังกล่าว ซึ่งจากรายงานของผู้เชี่ยวชาญในแอฟริกาใต้ พบว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มักมีอาการเล็กน้อย บางรายมีอาการน้อยกว่าผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา” นพ.เฉวตสรร กล่าว

นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีหลายประเทศปรับมาตรการเข้าประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ห้ามชาวต่างชาติจาก 8 ประเทศในแอฟริกาใต้ รวมทั้งหมู่เกาะเซเชลส์ เข้าประเทศ นอกจากนี้ ยังมีอังกฤษ สหภาพยุโรป สหภาพอเมริกา แคนาดา อิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ญี่ปุ่น อิหร่าน บราซิล สิงคโปร์ ซึ่งแต่ละประเทศมีมาตรการที่แตกต่างกันออกไป สำหรับประเทศไทยหลังเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามารวม 122,398 ราย แยกเป็นรูปแบบ Test and Go 96,970 ราย Sand box 20,331 ราย และระบบกักตัว 5,097 ราย พบผู้ติดเชื้อรวม 160 ราย คิดเป็น 0.13% โดยประเทศที่เดินทางเข้ามามากที่สุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สาธารณรัฐเช็ก เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น รัสเซีย ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น

นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ อัตราการติดเชื้อของผู้เดินทางเข้าประเทศไทยทางอากาศ จำแนกตามประเทศต้นทาง 10 อันดับตั้งแต่ 1-28 พ.ย.2564 ได้แก่ 1.อเมริกา ติดเชื้อ 20 ราย อัตราการติดเชื้อ 0.15% 2.เยอรมนี 13 ราย อัตราการติดเชื้อ 0.12 % 3.เนเธอร์แลนด์ 7 รายอัตราการติดเชื้อ 0.08 % 4.สหราชอาณาจักร 21 ราย อัตราการติดเชื้อ0.36% 5.ญี่ปุ่น 2 ราย อัตราการติดเชื้อ 0.04 % 6.รัสเซีย 18 ราย อัตราการติดเชื้อ 0.38 % 7.ฝรั่งเศส 7 ราย อัตราการติดเชื้อ 0.16 % 8.เกาหลีใต้ 2 ราย อัตราการติดเชื้อ 0.05 % 9.ยูเออี 11 ราย อัตราการติดเชื้อ 0.29 % 9.อิสราเอล 2 ราย อัตราการติดเชื้อ 0.10 % และอื่นๆ 57 ราย อัตราการติดเชื้อ 0.10 %

นพ.เฉวตสรร กล่าวด้วยว่า ประเทศที่มีรายงานพบสายพันธุ์โอไมครอนแล้ว คือ ทวีปแอฟริกา บอสวาน่า เอสวาตินี เลโซโท มาลาวี โมซัมบิก นามิเบีย แอฟริกาใต้ ซิมบับเว ทวีปยุโรป อิตาลี เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ บริเทน เบลเยี่ยม เช็ค เดนมาร์ก ทวีปเอเชีย ฮ่องกง อิสราเอล ทวีปออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลีย

“สิ่งที่กำลังสร้างความกังวลใจคือสายพันธุ์ใหม่โอไมครอน ซึ่งได้มีการส่งรายชื่อนักท่องเที่ยวจากประเทศต้นทาง 8 ประเทศในทวีปแอฟริกาใต้ที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยก่อนหน้านี้แล้ว ให้เครือข่ายเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรคระดับเขต ประสานดูว่ามีนักท่องเที่ยวอาจจะตรวจโรค ณ วันแรกที่มาถึงผลเป็นลบ เดินทางไปสู่พื้นที่ใดหรือไม่ที่จะต้องติดตามให้กักตัว หรือว่าถ้ามีการติดเชื้อเจอในผู้เดินทางเข้าประเทศ ย้ำส่งตรวจแยกสายพันธุ์รู้สถานการณ์ทันท่วงที อย่างไรก็ตาม ประชาชนต้องการ์ดสูงไว้ตลอด”นพ.เฉวตสรรกล่าว