ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทย์สุ่มตรวจ 2.7 หมื่นตัวอย่างใน 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศ เบื้องต้นพบประมาณ 1% มีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นโดยยังไม่ได้ฉีดวัคซีน และไม่มีรายงานการตรวจเชื้อ เท่ากับ “ติดเชื้อไม่รู้ตัว” พร้อมแถลงรายละเอียดอีกครั้ง 3 ธ.ค.นี้ ภาพรวมไทยน่าจะมีผู้ติดเชื้อราว 3% กว่า ด้านอธิบดีฯ ย้ำต้องเร่งฉีดวัคซีนโควิดต่อเนื่อง เน้นกลุ่มเวอร์จิ้น คือ คนไม่เคยฉีดและไม่มีรายงานติดเชื้อ

 

เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2564 ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในพิธีบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ เรื่อง การจัดตั้งศูนย์ตรวจวิเคราะห์สายพันธุ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในภาคใต้ Center for Emerging SARS-CoV-2 Lineage Investigation in Southern Thailand (CESLIST) ระหว่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) โดยมี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ ผศ.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้ลงนาม

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า การร่วมมือในครั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะมีการจัดตั้งศูนย์ตรวจวิเคราะห์สายพันธุ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ในบริเวณมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อตรวจวิเคราะห์ และรับตัวอย่างจากโรงพยาบาลในเขตภาคใต้ ด้วยชุดตรวจมาตรฐานเดียวกับศูนย์การแพทย์จีโนมิกส์และสนับสนุนนวัตกรรม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันพัฒนาขีดความสามารถในการวิเคราะห์วิจัยสายพันธุ์เชื้อโควิด 19 ในภาคใต้ สนับสนุนและส่งเสริมเทคโนโลยีในการวิเคราะห์ รวมถึงศึกษาวิจัยประสิทธิภาพของวัคซีน และระบบภูมิคุ้มกัน การวิจัย การตอบสนองของผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่สัมพันธ์กับสาเหตุทางพันธุกรรมร่วมกัน

00 ภาคใต้ยังไม่พบโควิดสายพันธุ์ใหม่

ผู้สื่อข่าวถามถึงการเฝ้าระวังสายพันธุ์กลายพันธุ์ใหม่ในภาคใต้เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่พบโควิดสายพันธุ์น่าห่วงกังวล(VOCs)ถึง 3 จาก 5 สายพันธุ์ ศ.ดร.สุรศักดิ์ สังขทัต ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ม.อ. กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์ในพื้นที่ภาคใต้ พบว่าส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์เดลตา หรือเดลตาสายพันธุ์ย่อย ที่มีการกลายพันธุ์เล็กๆน้อยๆ ไม่มีส่งผลต่อการการแพร่ได้เร็วขึ้นหรือรุนแรงขึ้น แต่ยังต้องเฝ้าระวังต่อไป

 

00ไทยเฝ้าระวังโควิดพบ “เดลตา” ยังมากสุด

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ในประเทศไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ เครือข่ายห้องปฏิบัติการได้ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 – 26 พฤศจิกายน 2564 จากการสุ่มตรวจผู้ติดเชื้อทั้งหมด 43,918 ราย เป็นสายพันธุ์เดลตา 28,705 ราย สายพันธุ์อัลฟา 14,523 ราย และสายพันธุ์เบตา 690 ราย โดยในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม – 26 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งเป็นช่วงการเปิดประเทศ ข้อมูลจากการสุ่มตรวจผู้ติดเชื้อ จำนวน 1,955 ราย พบว่า ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เดลตา

ในส่วนการเฝ้าระวังสายพันธุ์เชื้อโควิด 19 ในพื้นที่ภาคใต้ ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม 2564 – 26 พฤศจิกายน 2564 จากการสุ่มตรวจผู้ติดเชื้อ จำนวน 479 ราย พบว่า เป็นสายพันธุ์เดลตา 478 ราย สายพันธุ์อัลฟา 1 ราย ซึ่งการจัดทำ ความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยทำให้การวิเคราะห์วิจัยสายพันธุ์ในภาคใต้ มีความรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ ต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในพื้นที่

“ สำหรับประเด็นที่มีการพบโควิด 19 กลายพันธุ์ สายพันธุ์ใหม่ B.1.1.529 ที่องค์การอนามัยโลกให้ชื่อว่าโอไมครอน (Omicron) จากระบบการเฝ้าระวังสายพันธุ์ทางห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และเครือข่ายที่เราถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวและรายงานในระบบ GISAID ขณะนี้ยังไม่พบสายพันธุ์ดังกล่าวในประเทศไทย แต่ยังคงติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป” อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว

 

00 ไทยพบคนติดเชื้อภาพรวมราว 3% กว่า และมีประมาณ 1% ติดเชื้อไม่รู้ตัว

ผู้สื่อข่าวถามถึงผลการสุ่มตรวจภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19ของคนไทยในภาพรวม นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า จากการสุ่มตรวจตัวอย่าง 27,000 ตัวอย่าง กระจายใน 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศ โดยเลือกคนที่จะมาฉีดวัคซีนโควิด-19เข็มที่ 1 เพราะเป็นกลุ่มที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน และคนที่ไม่เคยมีการรายงานตรวจพบว่าติดโควิด-19มาก่อน แล้วนำมาเจาะเลือด ซึ่งจากที่ประเทศไทยมีรายงานยืนยันผู้ติดเชื้อประมาณ 2 ล้านคนจากประชากรราว 66 ล้านคน หรือคิดเป็นอัตราติดเชื้อ ราว 2 %กว่า ผลเบื้องต้นพบว่า มีอีกประมาณ 1 % ที่มีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นโดยที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน และไม่มีรายงานการตรวจติดเชื้อมาก่อน เท่ากับว่าเป็นคนที่เคยติดเชื้อแบบไม่รู้ตัว เนื่องจากการมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นได้ 2 แบบ คือ ติดเชื้อ หรือฉีดวัคซีน โดยข้อมูลรายเขตจะแถลงอีกครั้งในวันที่ 3 ธ.ค.2564 เท่ากับว่าประเทศไทยน่าจะมีผู้ติดเชื้ออยู่ที่ราว 3 %กว่า

“ข้อมูลนี้แสดงว่าประเทศไทยมีกลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น โดยที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนและยังไม่มีประวัติติดโควิด-19 ในสัดส่วนที่ไม่มาก สะท้อนว่าคนที่ติดเชื้อแต่ไม่ได้เข้าสู่ระบบการตรวจยืนยันนั้นมีไม่มาก รวมถึงกลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นโดยที่ไม่ได้รับวัคซีนก็มีไม่มากเช่นกัน ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มคนที่ยังเวอร์จิ้น คือ ไม่เคยฉีดวัคซีนและไม่มีประวัติรายงานติดเชื้อมาก่อน”นพ.ศุภกิจกล่าว

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง