ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทย์เผยรายละเอียดการตรวจแอนติบอดีต่อประชากรที่ยังไม่ได้รับวัคซีน พบภาพรวม 12 เขตสุขภาพ “ติดเชื้อไม่รู้ตัว” 1.4% ขณะที่ข้อมูลกรมควบคุมโรคพบติดเชื้อเข้าสู่ระบบ 2.6%ของ 13 เขตสุขภาพรวมกทม. เบื้องต้นคำนวณภาพรวมประชากร 13 เขตสุขภาพมีภูมิคุ้มกันราว 58.7% ของจำนวนประชากรพื้นที่ที่สำรวจ เร่งฉีดวัคซีนอุดช่องว่างพื้นที่ภูมิคุ้มกันน้อย

 

เมื่อเวลา  13.00 น. วันที่ 3 ธ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวความก้าวหน้าการตรวจแอนติบอดีต่อโควิด-19 ต่อประชากรที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ว่า การเกิดภูมิคุ้มกัน จะเกิดขึ้นจาก 2 กรณี คือ 1.ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด และ 2.การติดเชื้อแล้วหาย อย่างไรก็ตาม โครงการสำรวจหาภูมิคุ้มกันในคนไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตั้งโจทย์ในช่วงเดือน พ.ย. 2564 ที่มีการฉีดวัคซีนและติดเชื้อจำนวนหนึ่ง เพื่อหาคนที่ยังได้ไม่ฉีดวัคซีนและไม่มีประวัติตรวจพบเชื้อ แต่มีภูมิคุ้มกันขึ้น ซึ่งจะแปลว่า “ติดเชื้อไม่รู้ตัว” และไม่ได้รับการวินิจฉัย เพื่อมาดูว่าเราตรวจน้อยเกินไปหรือไม่ และให้รู้ว่าคนเหล่านี้หากไม่ภูมิคุ้มขึ้นเลย ก็มีโอกาสติดเชื้อไปจนถึงเสียชีวิตได้ ที่สำคัญข้อมูลตรงนี้จะนำไปสู่การเดินหน้าฉีดวัคซีนในบางพื้นที่เพิ่มเติม

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้ผ่านคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยแล้ว โดยสุ่มตัวอย่างไปกว่า 2 หมื่น จาก 12 เขตสุขภาพรวม 30 จังหวัด ยกเว้นเขตสุขภาพที่ 13 คือ กรุงเทพฯ เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนเกิน 100% ไปแล้ว ทำให้หาคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน และไม่เคยติดเชื้อค่อนข้างยาก อย่างไรก็ตาม การสำรวจครั้งนี้กลุ่มอายุ 18-60 ปี ชาย 48% หญิง 52% จำนวน 26,717 ตัวอย่าง โดยผู้ถูกเจาะเลือดหาแอนติบอดีจะถูกถาม 2 คำถาม คือ ยังไม่เคยฉีดวัคซีน และ ไม่เคยถูกวินิจฉัยว่าติดโควิด หมายถึงยังเวอจิ้น หลังจากได้รับความยินยอมก็จะเจาะเลือด ตรวจหาแอนติบอดีต่อโควิด

** ผลสำรวจเบื้องต้นพบว่า ภาพรวมทั้ง 12 เขตสุขภาพพบติดเชื้อไม่รู้ตัว 1.4% แต่หากติดเชื้อแล้วเข้าสู่ระบบพบทั้ง 13 เขตสุขภาพมี 2.6% อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเฉพาะติดเชื้อไม่รู้ตัว เมื่อเทียบกับติดเชื้อเข้าระบบเพราะมีการตรวจ RT-PCR ยังถือว่าไม่มาก อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาภาพรวมมีภูมิคุ้มกัน 13 เขตสุขภาพเบื้องต้นประมาณ 58.7% ของจำนวนประชากรพื้นที่ที่สำรวจ โดยหากแบ่งเป็นเขตสุขภาพได้ ดังนี้

เขตสุขภาพที่ 1 สุ่มตรวจจังหวัด “ลำปาง ลำพูน พะเยา” จำนวน 1,416 คน ติดเชื้อไม่รู้ตัว 0.4%

เขตสุขภาพที่ 2 สุ่มตรวจจังหวัด “เพชรบูรณ์ พิษณุโลก” จำนวน 1,431 คน ติดเชื้อไม่รู้ตัว 1.7%

เขตสุขภาพที่ 3 สุ่มตรวจจังหวัด “นครสวรรค์ อุทัยธานี” จำนวน 1,366 คน ติดเชื้อไม่รู้ตัว 0.4%

เขตสุขภาพที่ 4 สุ่มตรวจจังหวัด “ปทุมธานี สิงห์บุรี” จำนวน 1,382 คน ติดเชื้อไม่รู้ตัว 2.5%

เขตสุขภาพที่ 5 สุ่มตรวจจังหวัด “กาญจนบุรี สมุทรสงคราม” จำนวน 1,084 คน ติดเชื้อไม่รู้ตัว 2.7 %

เขตสุขภาพที่ 6 สุ่มตรวจจังหวัด “ชลบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา” จำนวน 2,517 คน ติดเชื้อไม่รู้ตัว 2.8 %

เขตสุขภาพที่ 7 สุ่มตรวจจังหวัด “ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม” จำนวน 3,726 คน ติดเชื้อไม่รู้ตัว 1.2 %

เขตสุขภาพที่ 8 สุ่มตรวจจังหวัด “อุดรธานี สกลนคร บึงกาฬ” จำนวน 3,137 คน ติดเชื้อไม่รู้ตัว 0.9 %

เขตสุขภาพที่ 9 สุ่มตรวจจังหวัด “ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์” จำนวน 4,084 คน ติดเชื้อไม่รู้ตัว 1.0 %

เขตสุขภาพที่ 10 สุ่มตรวจจังหวัด “ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ” จำนวน 3,702 คน ติดเชื้อไม่รู้ตัว 0.5%

เขตสุขภาพที่ 11 สุ่มตรวจจังหวัด “ชุมพร ระนอง นราธิวาส” จำนวน 1,744 คน ติดเชื้อไม่รู้ตัว 1.1 %

เขตสุขภาพที่ 12 สุ่มตรวจจังหวัด “นราธิวาส สตูล” จำนวน 1,128 คน ติดเชื้อไม่รู้ตัว 6.2 %

“ สังเกตว่าภาคอีสานจะค่อนข้างต่ำ ส่วนภาคใต้ในเขต 12 จะเยอะมาก อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาข้อมูลจากกรมควบคุมโรคระหว่าง 2-3 เดือนที่เก็บตัวอย่างพบว่า มีการติดเชื้อสะสม 1.8 ล้านราย จากฐานประชากร 72 ล้านคน อัตราความชุกของการติดเชื้อ 2.6% ดังนั้น หากเอาเปอร์เซ็นต์ติดเชื้อโดยธรรมชาติ การฉีดวัคซีน มารวมกับข้อมูลที่เราไปหามาได้ ก็จะพบสัดส่วนของภูมิคุ้มกันประชากร เมื่อนำมาเทียบกันก็จะพบคนที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันอะไรเลย ถือเป็นเวอร์จิ้น มีโอกาสติดเชื้อ ดังนั้น พื้นที่ใดมีจำนวนกลุ่มดังกล่าวเยอะ จะต้องเร่งการฉีดวัคซีนให้มากขึ้น” อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว

นพ.ศุภกิจ ให้สัมภาษณ์ว่า จากการสำรวจพบว่า มี 3-4 เขตสุขภาพที่สุ่มตรวจพบคนติดเชื้อไม่รู้ตัว มากกว่าคนติดเชื้อที่อยู่ในระบบ แต่ภาพรวมก็ถือว่าต่ำ ยกตัวอย่าง เขตสุขภาพที่ 10 พบติดเชื้อในระบบ 0.3% แต่เมื่อสุ่มตรวจพบติดเชื้อเพิ่มมาอีก 0.5% ซึ่งรวมแล้ว 0.8% แต่สำหรับเขตสุขภาพที่ 12 ตรวจพบเชื้อในระบบ 3.6% แต่เราตรวจเจออีกประมาณ 5-6% ที่ติดเชื้อไม่รู้ตัว สิ่งเหล่านี้จึงต้องส่งสัญญาณ

“กรณีติดเชื้อไม่รู้ตัว อาจไม่ใช่ไม่รู้ตัวจริงๆ แต่เป็นไปได้ที่มาจากการตรวจชื้อด้วย ATK แล้วผลเป็นบวก และเข้าระบบ Home Isolation ช่วงนั้นไม่มีการรายงาน ขณะที่โดยหลักกรณีคนตรวจ ATK เป็นบวกและเข้าอยู่ในศูนย์กักกันชุมชน หรือ Community Isolation หรือรพ. เมื่อตรวจ ATK แล้วก็จะตรวจ RT-PCR ซ้ำอีกครั้ง ซึ่งตรงนี้จะมีการรายงานเข้ามาในระบบ ดังนั้น กรณีติดเชื้อไม่รู้ตัว ส่วนหนึ่งอาจมาจากตรวจ ATK เป็นบวกแล้วรักษาตัวที่บ้านก็เป็นได้ เพราะไม่ได้ตรวจ RT-PCR ซ้ำ ซึ่งได้รับรายงานจากภาคใต้ว่า ส่วนหนึ่งมาจากจุดนี้ และก็มีส่วนหนึ่งที่ติดเชื้อแล้วไม่ทราบว่าติด” นพ.ศุภกิจ กล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า อย่างหลายประเทศพบติดเชื้อ 10% แต่เมื่อมีการตรวจแอนติบอดีขึ้นเป็น 80% ก็มี ประเทศพวกนี้ข้อสังเกตคือ อัตราป่วยตายจะสูง ส่วนไทยที่คนตั้งข้อสังเกตว่า ป่วยลดเหลือ 4-5 พันจริงหรือไม่ ก็ต้องดูคนเสียชีวิต หากเสียชีวิตเป็น 100 ก็ไม่จริง แต่นี่ลงมาด้วยกัน จึงเชื่อได้ว่า ข้อมูลขณะนี้สถานการณ์ประเทศ หากไม่มีอะไรซ้ำเติมก็ถือว่าค่อนข้างลง

ผู้สื่อข่าวถามว่าข้อมูลเขตสุขภาพที่พบการติดเชื้อไม่รู้ตัว แสดงว่าต้องเร่งฉีดวัคซีนหรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ใช่ ต้องเร่งฉีดให้ครอบคลุมมากที่สุด

เมื่อถามว่า การสำรวจครั้งนี้มีการแยกหรือไม่ว่า กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ กลุ่มโรคเรื้อรัง นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ยังไม่ได้มีการแยก แต่จะมีการพิจารณาต่อไป เนื่องจากข้อมูลนี้เป็นการสำรวจและวิเคราะห์เบื้องต้นก่อน ซึ่งจริงๆ เรามีการตรวจระดับภูมิคุ้มกันด้วย เพียงแต่อย่างที่กล่าวว่า ต้องวิเคราะห์รายละเอียดอีกครั้ง

เมื่อถามว่าการประชุมอีโอซีเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ปลัดสธ.กำชับเรื่องอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ท่านปลัด สธ. อยากให้มีการตรวจในจังหวัดที่มีการฉีดวัคซีนต่ำ ก็ต้องไปพิจารณา รวมทั้งอยากให้มีการตรวจภูมิคุ้มกันข้อมูลประชากรกว้างขึ้นและละเอียด เพื่อแก้ปัญหากรณีข้อมูลการฉีดวัคซีนของแต่ละพื้นที่จริงหรือไม่ อย่างกทม. ฉีดวัคซีนมาก 100 กว่าเปอร์เซ็นต์ แต่จริงๆอาจไม่ใช่ เพราะคนในจังหวัดใกล้เคียงมาฉีดในกทม.ก็มี ตรงนี้แก้ไขได้ด้วยการอาจต้องใช้ข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เนื่องจากสปสช.มีระบบให้คนย้ายสิทธิเลือกรพ.ได้โดยไม่จำเป็นต้องตามทะเบียนบ้าน แต่ให้สิทธิตามสถานที่อยู่ และอีกทางคือ พื้นที่นั้นๆ มีการสำรวจ โดยอาจอาศัย อสม. ช่วยสำรวจประชากรที่อยู่จริง เป็นต้น เพื่อหาตัวเลขการฉีดวัคซีนจริง

“รวมทั้งท่านปลัดสธ. ได้ฝากว่า เป็นไปได้หรือไม่ในการตรวจแอนติบอดีทุกคน ไม่ต้องถามว่า ใครฉีดวัคซีนหรือไม่ฉีด แต่ตรวจให้หมด ซึ่งตรงนี้ก็ต้องพิจารณา และเตรียมความพร้อม เนื่องจากข้อมูลจะเยอะมาก โดยกรมวิทยาศาสตร์ฯจะมีการวางแผนเรื่องนี้อย่างละเอียด เนื่องจากการตรวจภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีต้องตรวจเลือด ก็ต้องเตรียมพร้อมอย่างครบวงจร ทั้งการลงพื้นที่ไปตรวจ และการบริหารจัดการ” อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org