ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส. เปิดเวทีโชว์ แชร์ เชื่อม ชวนภาคีเครือข่ายภาคเหนือลดอุบัติเหตุทางถนน ร่วมส่งเสริมความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะ ชู “พะเยาโมเดล” ต้นแบบรถโดยสารสาธารณะ-รถนักเรียนปลอดภัย

น.ส. รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวในเวทีโชว์ แชร์ เชื่อม ตอน “เดินทางใกล้ไก๋ ปลอดภัยด้วยตัวเก่า” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-3 ธันวาคม 2564 โดยนำเสนอการทำงานการจัดการความปลอดภัยทางถนนของ สสส. เพื่อพัฒนาภาคีเครือข่ายเพื่อการป้องกันอุบัติเหตุในพื้นที่ภาคเหนือ จัดโดยสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ (สภส.) สสส. ว่า ขอชื่นชมการดำเนินงานของภาคีเครือข่าย จ.พะเยา ที่สามารถลดการบาดเจ็บ การเสียชีวิต จากอุบัติเหตุทางถนนได้

โดย จ.พะเยา มีการดำเนินการใช้สัญญาเช่ารถเพื่อเลือกรถโดยสารสาธารณะในการเดินทาง รวมทั้งรถรับ – ส่งนักเรียน ให้เป็นไปตามมาตรฐานของสำนักงานขนส่งจังหวัดให้มีความปลอดภัย ถือเป็นต้นแบบที่ดำเนินการประสบผลสำเร็จ สามารถสร้างการเรียนรู้ผ่านเวทีโชว์ แชร์ เชื่อม เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ได้เป็นอย่างดี

โดย สสส. ให้ความสำคัญการลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่อง ที่สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดไว้ว่า จะต้องทำให้ลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือไม่เกิน 12 คนต่อแสนประชากร ภายในปี 2570 สำหรับในประเทศไทย การขับรถเร็ว และการดื่มแล้วขับ เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเกินครึ่งของจากอุบัติเหตุทางถนน ดังนั้น การป้องกันแก้ไขปัญหาจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องจัดการต้นเหตุสำคัญ คือ การลดพฤติกรรมเสี่ยงทั้งการขับรถเร็วและการดื่มแล้วขับ

น.ส.รุ่งอรุณ กล่าวต่อว่า สสส. ขับเคลื่อนลดอุบัติเหตุทางถนนด้วย “ยุทธศาสตร์ไตรพลัง” คือ พลังนโยบาย พลังวิชาการ พลังประชาสังคม ซึ่งด้านวิชาการ สสส. สนับสนุนให้มีศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ที่มีเครื่องมือสนับสนุนการทำแผนปฏิบัติการระดับจังหวัด กล่องชุดความรู้ที่สามารถเอาไปพัฒนาเป็นแผนแก้ปัญหาเรื่องการจัดการความปลอดภัยทางถนนในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ทันที และมีมูลนิธิไทยโรดส์ ที่ทำงานวิจัยศึกษาข้อมูลเจาะลึก และสนับสนุนให้มีคณะทำงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด หรือ พี่เลี้ยง สอจร. เป็นทีมวิชาการที่มาหนุนเสริมผ่านกลไกวิชาการชุดต่าง ๆ

ส่วนพลังของเครือข่าย ประชาสังคม มีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เป็นผู้เชื่อมประสานเพื่อให้สามารถริเริ่มการขับเคลื่อนงานรถโดยสารปลอดภัย รถรับ-ส่งนักเรียนปลอดภัย และระบบขนส่งมวลชนที่ปลอดภัยและเป็นธรรมในพื้นที่ และมีเครือข่ายองค์กรเพื่อผู้บริโภค 6 ภาค ที่ร่วมขยายงานให้ครอบคลุมทุกภาค ด้านพลังนโยบาย เชื่อมโยงการทำงานกับคณะกรรมการ ศปถ. แต่ละระดับ ที่มีเครือข่ายด้านวิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคมเข้าร่วมเป็นกรรมการ และ ศปถ.ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล มีเครือข่าย สอจร. ในพื้นที่เข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย

น.ส.รุ่งอรุณ กล่าวว่า ในปี 2562-2564 พบว่าหลายพื้นที่มีอัตราการตายจากอุบัติเหตุทางถนนลดลง ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตส่วนมากอยู่ในกลุ่มอายุ 15-29 ปี คิดเป็น 43 % เป็นวัยที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศ ส่วนกลุ่มอายุที่เสียชีวิตสูงสุดคือ 15-19 ปี จากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ ในขณะเดียวกัน การสวมหมวกนิรภัยสามารถลดการบาดเจ็บศีรษะได้ถึงร้อยละ 72% และลดการเสียชีวิตได้ถึง 40 % ดังนั้นการขับเคลื่อนเรื่องรถโดยสารสาธารณะสำหรับนักเรียนจึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อเพิ่มทางเลือกในการเดินทางและลดการใช้รถจักรยานยนต์ในกลุ่มเด็กและเยาวชน

“สาเหตุที่เราต้องจัดการเรื่องรถโรงเรียน เพราะจะช่วยลดอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลได้ จึงอยากฝากเป็นโจทย์ในพื้นที่ว่าทำอย่างไรให้เด็กและเยาวชนไม่ต้องขับขี่มอเตอร์ไซค์ก่อนอายุ 15 หรือจะส่งเสริมให้เขาสามารถสวมหมวกกันน็อก 100 %  โดย สสส. เชื่อว่าสิทธิผู้บริโภคควรได้รับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ผู้ประกอบการรถควรเน้นการดูแลรถให้มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น ผู้ปกครองอาจจะต้องจ่ายเพิ่มอีกเล็กน้อยเพื่อความปลอดภัยของลูกหลาน ขนส่น่าจะเข้ามาดูแลมาตรฐานรถเพิ่มมากขึ้น อยากฝากให้ภาคีช่วยคิดโจทย์เหล่านี้ร่วมกัน เพื่อความปลอดภัยของทุกคน” น.ส. รุ่งอรุณ กล่าว