ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรมนักวิชาการสาธารณสุข ขอ สธ.ให้ข้อเท็จจริงกรณีบุคลากรลงชื่อโอนย้ายไป อบจ. สามารถบรรจุข้าราชการโควิดหรือไม่ หรือหากบรรจุขรก.แล้วต้องกำหนดเกณฑ์กี่ปีให้ปฏิบัติงานในกระทรวงฯ ก่อนถ่ายโอนภารกิจไปท้องถิ่น 

ตามที่มีกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) สรุปตัวเลขขออนุมัติ ก.พ. ในการบรรจุข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานโควิด-19 จำนวน 3.7 หมื่นอัตรา แบ่งเป็นเสนอใหม่ 2.7 อัตตรา และอัตราว่างเดิม 9 พันอัตราครอบคลุม 71 สายงาน โดยอยู่ระหว่างดำเนินการนั้น

เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2564  นายริซกี สาร๊ะ  เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) ให้สัมภาษณ์ "Hfocus" ว่า  ขณะนี้เหมือนการบรรจุข้าราชการที่ปฏิบัติงานโควิด19 จะล่าช้า ซึ่งไม่แน่ใจว่า สืบเนื่องจากมีประเด็นการถ่ายโอนภารกิจของสถานีอนามัย และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ด้วยหรือไม่ เนื่องจากมีข้อกังวลว่า หากบุคลากรในรพ.สต. ที่ลงชื่อถ่ายโอน ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 จะมีผลต่อการบรรจุโควิดรอบนี้หรือไม่อย่างไร

"ที่สำคัญที่น่ากังวลคือ ถ้ากรณีมีการบรรจุบุคลากรในรพ.สต. เป็นข้าราชการรอบสองแล้ว ทางกระทรวงสาธารณสุขต้องมีการกำหนดเกณฑ์ด้วยหรือไม่ว่า หากใครบรรจุข้าราชการโควิดต้องขอสงวนการถ่ายโอนช่วงระยะเวลากี่ปี เช่น 1-3 ปี คล้ายๆ การบรรจุรอบที่ผ่านมาที่สงวนการโอนย้ายภายในกระทรวง แต่นอกกระทรวงฯ ไม่แน่ใจว่าทำได้หรือไม่ ซึ่งตรงนี้ต้องขอความชัดเจนจากทางผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข" นายริซกี กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการกำหนดเกณฑ์ว่า เมื่อบรรจุข้าราชการโควิดแล้วห้ามโอนย้ายข้ามกระทรวงจะเป็นการลิดรอนสิทธิ์หรือไม่ นายริซกี กล่าวว่า ไม่น่า เพราะการบรรจุครั้งนี้เป็นการขอให้กับบุคลากรที่ทำงานในกระทรวงสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานสู้โควิดร่วมกันมาตลอด เป็นการสร้างขวัญกำลังใจ แต่ตนไม่ทราบ ต้องถามทางผู้บริหารกระทรวงฯ  

"สิ่งสำคัญอยากฝากกระทรวง อย่าตระหนกกับการถ่ายโอนมากไป จนหลงลืมกลุ่มที่รอบรรจุโควิด  รวมถึงกลุ่มข้าราชการ เจ้าพนักงานจบปริญญาตรีที่รอปรับเป็นสายวิชาการกรณีพิเศษ  ซึ่งตอนนี้กองบริหารทรัพยากรบุคคล ระบุว่าส่งเรื่องไป ก.พ.แล้ว" นายริซกี กล่าว

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org